- Details
- Category: สัมภาษณ์พิเศษ
- Published: Saturday, 05 September 2015 21:12
- Hits: 10721
เปิดใจ’รพี สุจริตกุล’ กับภารกิจปั้นแผน 3 ปี แก้ปัญหาตลาดทุน
มติชนออนไลน์ : วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2558
กลับมาถิ่นเดิมอีกครั้ง หลัง’รพี สุจริตกุล’มารับตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 เพราะก่อนหน้านี้ ‘รพี’เคยรั้งตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน
จึงไม่แปลกใจที่คนในอุตสาหกรรมให้ความไว้วางใจ และเชื่อมั่นว่า รพี จะออกกฎเกณฑ์ที่ตอบโจทย์และแก้ปัญหาสิ่งที่ตลาดทุนมีได้ถูกจุด โดยเฉพาะการแก้ไขการทำงานของ ก.ล.ต.ที่ปัจจุบันอยู่ในลักษณะ’วัวหายล้อมคอก’’มติชน’จึงเปิดพื้นที่ให้เลขาฯใหม่แต่เก่าประสบการณ์ชี้แจงนโยบาย
สิ่งที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลง
ก.ล.ต.มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ว่าเขียนอย่างไรให้สอดรับกับต่างประเทศและให้ได้มาตรฐานจากหน่วยงานกำกับดูแลระหว่างประเทศ สร้างความมั่นใจกับผู้ลงทุนต่างประเทศดึงดูดเงินต่างชาติ ต้องทำให้เหมาะกับภาวะตลาดบ้านเรา ต้องเข้าใจระบบนิเวศของคนที่เรากำกับดูแลเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้ถูกจุด
"ผมมาจากภาคเอกชนจึงได้เห็นพฤติกรรมของอุตสาหกรรม นักลงทุน ตัวกลาง จึงพยายามทำแผน 3 ปี (2559-2561) ด้วยแนวคิดว่าจะออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมดูแลอย่างเดียวคงไม่ได้ผล แต่ต้องมีเครื่องมืออย่างอื่นมาเสริมด้วย โดยเฉพาะการสร้างความรู้ความเข้าใจให้อุตสาหกรรมนักลงทุนตั้งแต่พื้นฐาน"
จะปรับปรุงคนก.ล.ต.ด้วยหรือไม่
ในแผน 3 ปีมีการกำหนด Core Value หรือพฤติกรรมประจำใจคน ก.ล.ต. ที่ทุกคนต้องปฏิบัติ คือรู้จริง ร่วมมือ ซื่อตรงเพราะเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลงาน
การ ‘รู้จริง’ คือเข้าใจกระบวนการ ระบบนิเวศ องค์ประกอบของอุตสาหกรรม เข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ และต้องทันเวลาต้องรู้ว่าเรื่องไหนอยู่ในกระแส คนกำลังสนใจ เรื่องการแสดงออก ต้องเปิดใจรับฟัง เช่น เวลาพูดกับคนต้องมองตา ต้องยิ้ม จดบันทึก เพื่อสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม ปรับทั้งคน วิธีการทำงาน และเทคนิคด้านกฎหมาย และเร่งสร้างความเข้าใจกับคนในอุตสาหกรรมว่าเรากำลังทำอะไรอยู่
คิดอย่างไรที่มีการเล่นหุ้นปั่น-เล่นหุ้นรายวัน
เดย์เทรดไม่ใช่เรื่องผิด แต่คนที่เล่นแบบนี้ต้องเข้าใจว่าข้อมูลที่ได้มาเป็นข้อมูลที่จับต้องไม่ได้ เป็นเรื่องความรู้สึก เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องมั่นใจว่าเข้าได้ก็ต้องออกเร็วได้ ถ้าเข้าไปติดไม่มีใครช่วยได้
การจัดการกับคนสร้างข่าวจะเข้มข้นและเร็วขึ้นหรือไม่
การปั่นหุ้น มีเกณฑ์ลงโทษอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องใช้เวลาดำเนินการ เพราะผู้ที่ทำความผิดจะซ่อนเส้นทางการเงิน โอนเงินออกนอกประเทศ ใช้กระบวนการที่ ก.ล.ต.ตามไม่เจอ นอมินีก็ซับซ้อนมากขึ้น โยงใยไปทั่ว ดังนั้น กระบวนการในการติดตามตรวจสอบจึงใช้เวลานานขึ้น
กว่าจะจัดการนักลงทุนก็ได้รับความเสียหายแล้ว
ก็ต้องถามว่า ทำไมถึงไปซื้อหุ้นที่ไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งเราต้องทำสองทาง ถ้ากระทำความผิดก็ต้องดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย แต่ ก.ล.ต.มีข้อจำกัดมาก ไม่สามารถสั่งฟ้องได้เอง ต้องแจ้งความกับตำรวจเพื่อทำสำนวน เพื่อส่งให้อัยการ อัยการก็ต้องตรวจสอบสำนวนว่าหลักฐานครบเพียงพอหรือไม่ หากไม่พอก็ต้องไปสอบเพิ่ม และถึงจะไปสู่ศาล
"อย่างคดีบีบีซีตอนนี้ก็ยังไม่ได้ตัดสิน ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ตายไปแล้ว นี่เป็นกระบวนการยุติธรรมที่เราเจอ มันเป็นกระบวนการยุติธรรมของบ้านเรา เป็นเหตุให้แบงก์ไม่อยากยึดที่ ขนาดมีหลักฐานชัดเจน ก็ต้องใช้เวลากว่า 5 ปีจึงจะพิพากษาได้"
ทราบหรือไม่ว่า หุ้นตัวไหนสุ่มเสี่ยงสร้างราคา
ตลาดหลักทรัพย์จะเป็นคนดูว่าหุ้นใดมีการซื้อขายผิดปกติโดยที่ไม่มีข่าว เกิดการซื้อขายแบบกระจุกตัว มีคำสั่งซื้อหน้าตาแปลกๆ ซึ่งก็จะดูว่ามีคำสั่งซื้อมาจากบริษัทหลักทรัพย์ใด แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นคนสั่งซื้อ ก็ต้องใช้เวลารวบรวมข้อมูลจากโบรกเกอร์ แล้วส่งให้ ก.ล.ต.ตรวจสอบ หากพบมีความผิดจริง ก็ต้องใช้เวลาในการสอบสวน ซึ่ง ก.ล.ต.ต้องทำงานให้รวดเร็ว จัดการบริหารภายในให้เร็วขึ้น
อีกด้าน คือต้องมีมาตรการป้องกันให้เข้มข้นขึ้น ต้องมีมาตรการที่จะจับตาพวกมือบอน ซึ่ง ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ต้องเข้าไปดูให้เร็วขึ้น มาตรการเหล่านี้ทั้งสองฝ่ายกำลังหารือร่วมกัน
จะเพิ่มมาตรการคุมหุ้นร้อน?
สิ่งที่ต้องทำคือถึงตัวลูกค้าเร็วขึ้น บริษัทหลักทรัพย์ก็ต้องรู้จักลูกค้าจริงๆ ไม่อยากให้ซ้ำรอยกับหลายคดีที่เคยเกิดขึ้น จึงต้องเพิ่มความเข้มงวดกับโบรกเกอร์มากขึ้น ถ้าไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของลูกค้า ก.ล.ต.จะเอาโทษ ถ้ายินยอมให้คนอื่นเป็นคนสั่งซื้อสั่งขายแทนลูกค้า นอกจากจะมีโทษปรับแล้วก็จะเพิกถอนการให้ความเห็นชอบการแนะนำการลงทุน เจ้าหน้าที่มาร์เก็ตติ้งหมดอนาคต ถ้าบริษัทหลักทรัพย์ไม่มีกระบวนการตรวจสอบดูแลพวกนี้ ก็สามารถเล่นงานผู้บริหาร และเพิกถอนผู้บริหารได้ โดยต้องทำกฎหมายให้เข้มข้นขึ้น หากเจอก็ต้องจัดการบังคับใช้กฎหมายทันที
นอกจากนี้ ต้องติดตามทั้งไลน์และเฟซบุ๊ก ทุกวันนี้มีการปล่อยข่าวในไลน์ในเฟซบุ๊กในโซเชียล ต่างจาก 10-15 ปีที่แล้ว ที่ปล่อยข่าวผ่านมาร์เก็ตติ้ง ให้นักลงทุนไปลือกัน
ประสานงานกับ ปปง. หรือดีเอสไอก่อนหรือไม่
มีการจัดสัมมนาร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตลอดเวลา แต่ดีเอสไอเองก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ถูกกล่าวโทษ จะเชื่อ ก.ล.ต.อย่างเดียวไม่ได้ ต้องฟังความอีกข้างหนึ่งด้วยไม่เช่นนั้นจะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ก็ขอข้อมูลจากเรา แต่การที่จะตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินทันทีไม่ได้ต้องมีความผิดมาก่อนจึงจะตรวจสอบได้ ขณะที่ ก.ล.ต.มีกฎเกณฑ์ว่า การเปิดบัญชีที่มีมูลค่ามากต้องมีการตรวจสอบตัวตนที่แท้จริงก่อน
กรณีโอนหุ้นร้อนจะเข้มงวดขึ้นหรือไม่
ต้องตรวจมากขึ้น ลงโทษทันที วิธีการโอนหุ้นบริษัทมีเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติอยู่แล้ว เช่น หากโอนหุ้นให้บุคคลอื่นต้องมีเอกสารหลักฐานที่ชัดเจน ต้องตรวจสอบยืนยันตัวตนที่แท้จริง และถ้ามีบัญชีที่รับโอนก็ต้องรู้จักตัวตนที่แท้จริงของเขา
"เกณฑ์มีอยู่แล้วแต่บริษัทไม่ดำเนินตามเกณฑ์ที่มี เนื่องจากเป็นลูกค้ารายใหญ่ ถ้าคุณเกรงใจเราจะเล่นงานคุณ เราคงไม่กำชับให้โบรกเข้มงวดมากขึ้น แต่ในเร็วๆ นี้ จะลงโทษให้ดูเป็นตัวอย่าง ตอนนี้ยังพูดอะไรไม่ได้"
ทำไมออกหนังสือเตือนให้ผู้ถือหุ้นร่วมประชุมผู้ถือหุ้น
เรื่องเตือนเป็นการดำเนินต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่จะบรรจุในแผนสามปี เพื่อให้ผู้ถือหุ้นเข้าใจสิทธิหน้าที่ของตัวเอง การที่ผู้บริหารจะแตกสาขาไปทำธุรกิจอื่นต้องใช้กึ๋นในการพิจารณา อย่างบริษัทสิ่งพิมพ์จะไปทำธุรกิจพลังงานทดแทน ถามว่าผู้บริหารมีความรู้เรื่องนั้นดีหรือไม่ ก.ล.ต.ทำได้แค่เตือนเพราะไม่ใช่เจ้าของหุ้น นักลงทุนต่างหากที่เป็นเจ้าของ
จะออกกฎหมายใหม่อีกหรือไม่
มีกฎหมายที่ให้ ก.ล.ต.ฟ้องเอาผิดทางแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้ทันที ทำให้ทำงานได้เร็วขึ้น ต่างจากคดีอาญาที่ ก.ล.ต.ต้องส่งหลักฐานให้ตำรวจ อัยการ ศาล และต้องมีหลักฐานที่พิสูจน์จนกว่าจะปราศจากข้อสงสัย ขณะนี้เรื่องยังอยู่ในขั้นตอนของสภานิติบัญญัติ
ใน 3 เดือนข้างหน้าจะได้เห็นอะไร
จะเสนอแผน 3 ปีต่อคณะกรรมการหรือบอร์ด ก.ล.ต. หากบอร์ดเห็นชอบ ก็จะทำรายละเอียดและมาตรการที่อิงกับแผน เพื่อให้บอร์ดอนุมัติอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน ทั้งหมดจะได้เห็นก่อนสิ้นปี 2558
นอกจากนี้ ในสิ้นเดือนสิงหาคมจะจัดงานสัมมนาใหญ่เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับเกณฑ์การออกกองทุนต่างประเทศที่จะประกาศใช้เกณฑ์ใหม่ในเดือนกันยายน ซึ่งจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาคือ กองทุนแซ่บๆ ที่ลงทุนหุ้นต่างประเทศได้ 100% ลงทุนในหุ้นไม่กี่ตัว ไม่ต้องป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน ลงทุนในตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับ เพื่อให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนสูงสุด ควบคู่ไปกับการเข้มงวดเรื่องการให้ความรู้ เพิ่มข้อมูลในหนังสือชี้ชวน และผู้ขายต้องทำความเข้าใจกับผู้ลงทุน
อยากเห็นอะไรจากครม.ชุดใหม่
ผมว่าเขาคุ้นเคยเข้าใจตลาดทุนอย่างทะลุปรุโปร่ง ไม่ใช่มือใหม่ แต่ยังไม่ได้พูดว่าจะทำอะไรกับตลาดทุนบ้าง ส่วนสิทธิทางภาษีของกองทุนหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) คงต้องเข้าไปชี้แจงให้ข้อมูลเพิ่มเติม
จะฝากอะไรให้นักลงทุน
ระวังตัวเองต้องเข้าใจว่าตลาดทุนมีการเปลี่ยนแปลงตลอด มีความเสี่ยง สภาพเศรษฐกิจไม่ดี จะให้หุ้นวิ่งก็ต้องถามว่าทำไมราคาวิ่งได้ ทำไมรูปแบบธุรกิจนี้ถึงจะโตสวนกระแสโลกได้ ต้องวิเคราะห์ให้ดี
นี่คือวิสัยทัศน์ และกรอบนโยบาย ที่ เลขาฯก.ล.ต.คนใหม่ ส่วนจะเป็นรูปธรรมแค่ไหน ต้องติดตาม...