- Details
- Category: สัมภาษณ์พิเศษ
- Published: Sunday, 16 August 2015 19:33
- Hits: 9309
อาทิตย์เอกเขนก : ชาติชาย พยุหนาวีชัยปรับ 'ออมสิน' ขยับสู่การเป็นหนึ่ง
ไทยโพสต์ : 'ธนาคารแห่งการออม'หากพูดถึงสโลแกนนี้คงหนีไม่พ้น 'ธนาคารออมสิน' ที่อยู่คู่การออมของคนไทยมานานกว่า 102 ปีแล้ว และเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2558 ‘ออมสิน’ ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อได้มือดีที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการเงินเข้ามาบริหารงาน พูดแบบนี้คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ‘ชาติชาย พยุหนาวีชัย’ ที่โดดข้ามห้วยจากภาคเอกชนมาชิมลางกับงาน ‘รัฐวิสาหกิจ’
‘ชาติชาย’ ถือเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการเงินมานาน ก่อนจะตัดสินใจมาร่วมงานกับ "ออมสิน" นับไปนับมาก็เป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้วกับตำแหน่ง ‘ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน’ คนใหม่
ภารกิจหลักในครั้งนี้คือ ก้าวเข้าสู่การเป็น 'ธนาคารของประชาชน' โดยส่งเสริมการออม พัฒนาและส่งเสริมความแข็งแกร่งของประชาชน เศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่ระดับฐานราก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศไทย พร้อมกับ ‘ยกระดับบริการทางการเงินและคุณภาพการให้บริการสู่มาตรฐานสากล’ เพื่อการเป็น ‘ผู้นำธนาคารประชาชนแห่งภูมิภาคเอเชีย’ นั่นคือสิ่งที่กลั่นออกมาจากใจของ ‘ชาติชาย’
ภายหลังการเข้ามารับตำแหน่ง 'ชาติชาย' ได้กำหนดแนวทางดำเนินงานที่สำคัญไว้ 7 ด้าน ภายใต้แนวคิดมุ่งสู่การเป็น "ธนาคารออมสินยุคใหม่ GSB New Era" และในช่วงที่ผ่านมาก็ได้มีการหารือกับทีมผู้บริหาร และมีการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ รวมถึงภารกิจของออมสิน เพื่อให้ตอบโจทย์การทำงานมากขึ้น
‘ชาติชาย’ เล่าว่า เราได้ปรับวิสัยทัศน์ขององค์กรใหม่ จากการเป็นผู้นำในการส่งเสริมการออมเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและส่งเสริมความสุข เป็น "การเป็นผู้นำส่งเสริมการออมเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและส่งเสริมความสุข และอนาคตที่มั่นคงให้กับประชาชน" รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงพันธกิจใหม่ จากเดิมคือความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็น ‘ธนาคารเพื่อสังคม’ เพื่อให้เห็นชัดเจนว่า ธนาคารออมสินไม่ได้มีหน้าที่เพียงสนับสนุนการออมของประชาชนเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงอนาคตที่มั่นของประชาชนและสังคมอีกด้วย
"ในอดีตเราเป็นธนาคารที่เกิดจากพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่มีพระราชประสงค์ให้ธนาคารออมสินเป็นธนาคารเพื่อการออม สร้างวินัยการออมให้ประชาชนจะได้มีความสุขในอนาคต ซึ่งนั่นเป็นพันธกิจที่เราชาวออมสินปฏิบัติมาอย่างยาวนานกว่า 102 ปี แต่ต่อจากนี้เราจะทำให้คำว่า 'การออม' ไม่ได้หมายถึงการออมเงินเพียงอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา แต่เราจะทำให้เห็นภาพของ 'การออม' เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย’ ชาติชายระบุ’การออมเศรษฐกิจ’ เราเดินหน้าเรื่องนี้ผ่านโครงการธนาคารโรงเรียน มีการสร้างวินัยทางการออมควบคู่ไปกับการส่งเสริมการออม การสอนให้รากหญ้าและประชาชนที่อยู่ในชนบทได้เรียนรู้วินัยทางการเงินมากขึ้น ซึ่งในปี 2558 เราตั้งเป้าฝึกและอบรมประชาชนฐานรากให้รู้จักวิธีการออมอย่างถูกต้องอย่างน้อย 1 หมื่นคน รวมไปถึงการสร้าง ‘ธนาคารภูมิปัญญา’ให้ชาวบ้าน ผ่านการจัดกิจกรรมออมสินจากร้อยสู่ล้าน
ล่าสุดกับกิจกรรม 'สุดยอดแนวคิดธุรกิจวิถีไทย' โดยการดึงภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และนำเสนอของนักเรียน นักศึกษา ก่อนจะนำกลับไปให้ชาวบ้านใช้ได้ในการดำเนินธุรกิจต่อไป ซึ่งปีนี้ต้องยอมรับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก
สำหรับ แนวทางการดำเนินงาน 7 ด้าน ภายใต้แนวคิดมุ่งสู่การเป็น ‘ธนาคารออมสินยุคใหม่ GSB New Era’ ของ "ชาติชาย" นั้น มีทั้งเรื่อง ‘Customer Centric" ที่มุ่งเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ด้วยการปับโครงสร้างองค์กรและกระบวนการทำงานเป็น 10 กลุ่ม 28 สายงาน มีกลไก 3 Segments 14 Sub Segments ที่จะดูแลลูกค้าของธนาคารได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย และเรื่อง งBranding & Marketing’ ที่มีการปรับเปลี่ยนโลโก้ธนาคารให้ทันสมัยขึ้น เพื่อดึงกลุ่มลูกค้า Gen
Y ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารมีอยู่จำนวนน้อยเข้ามา ผ่านวิธีการสร้างการรับรู้และจดจำ โดยการพัฒนาแผนการตลาดแบบผสมผสาน
‘"Product & Sales & Service’ โดยการพัฒนา Product & Soluiton ที่ตอบสนองความต้องการ พฤติกรรมและการใช้ชีวิตที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้ามากขึ้น กับ Product Innovation ‘MYMO’ ที่ปีนี้ตั้งเป้ามีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 5 แสนราย จากเดิมคาดไว้ที่ 1 แสนรายเท่านั้น รวมทั้งมีการปรับปรุงกระบวนการด้านเซอร์วิสต่างๆ ให้มีความกระชับมากขึ้น และ ‘การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจฐานราก’ที่เน้นส่งเสริมประชาชนให้เข้าถึงแหล่งทุนผ่านโครงการธนาคารประชาชน และส่งเสริมกิจกรรมด้านกีฬา ดนตรี
ส่วนด้าน’พัฒนาบุคลากร’นั้น ผู้อำนวยการธนาคารออมสินระบุว่า ได้วางแนวทางให้มีการพัฒนาและเพิ่มทักษะความรู้ ความคิดสร้างสรรค์และมุมมองใหม่ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้พนักงานมากกว่า 1.5 หมื่นคน ภายใต้งบประมาณถึง 400 ล้านบาท ผ่านโครงการ ‘GSB Customer Centric Transformation’ ถึง 200 คนแล้ว จากเป้าหมาย 3 พันคน ควบคู่ไปกับ ‘การพัฒนาไอที’ เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าในยุคโซเชียลมีเดียและดิจิตอลมากขึ้น พร้อมให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายจากบริการของธนาคาร
"จากนี้ เราจะเริ่มเห็นวิวัฒนาการของบัตรจากธนาคารออมสินในทุกๆ ประเทศ โดยในช่วงกลางเดือน ก.ค.นี้ จะมีการออกบัตรเดบิตไลน์สติกเกอร์ และจะมีการทยอยออกบัตรในรูปแบบต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องทั้งปี ส่วนต้นปีหน้าเราจะได้เห็นบัตรเครดิตของธนาคารออมสินใบแรกอย่างแน่นอน’ชาติชายกล่าวขณะที่ ‘การกำกับดูแลและการบริหารความเสี่ยง’ ก็ยังเป็นเรื่องที่เราจะลืมเสียไม่ได้ และที่ผ่านมาก็ได้มีการทบทวนปรับปรุงนโยบายการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ นโยบายด้านการบริหารความเสี่ยง ปรับปรุงอำนาจในการอนุมัติสินเชื่อให้มีศักยภาพมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยง
โดยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เราได้พยายามปูพื้นฐานทั้ง 7 ด้านให้กับธนาคารออมสิน เพื่อให้มีบทบาทในการทำงานที่ "ครบเครื่อง" และ ‘รอบด้าน’ ดังนั้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 ก็เป็นโอกาสดีที่เราจะเริ่มลุยงานในทุกๆ ด้านไปพร้อมๆ กัน
‘ธนาคารออมสิน’ ได้ถูกปรับโครงสร้างองค์กรให้มี 3 กลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่มบุคคล, กลุ่มฐานราก และกลุ่มธุรกิจ-ภาครัฐ และเมื่อเราเตรียมการทุกอย่างพร้อมแล้ว ‘ออมสิน’ ก็พร้อมที่จะเดินหน้าสู่การเป็น ‘ธนาคารออมสินยุคใหม่ GSB New Era'ที่มีจุดแข็งที่จะเน้นไปที่ตัวองค์กรและประชาชนได้ไม่ยาก ด้วยมิติของ Customer Centric ที่จะทำให้ลูกค้าตรึงใจไม่มีวันเปลี่ยนใจไปจากออมสิน และหลังจากนี้เราจะมุ่งสร้าง GSB Brand Positioning จากภารกิจความเป็นธนาคารเพื่อการออม ธนาคารเพื่อสร้างความสุข ธนาคารเพื่อสร้างอนาคต ภายใต้แนวคิด 'ธนาคารเพื่อการออมและบริการครบวงจรที่สร้างความสุขและอนาคตที่มั่นคงให้กับประชาชน’