- Details
- Category: สัมภาษณ์พิเศษ
- Published: Sunday, 16 August 2015 19:31
- Hits: 9058
อาทิตย์เอกเขนก : อมร ทรัพย์ทวีกุล แนะเคล็ด..รับมือกับปัญหาด้วย 'สติ'
ไทยโพสต์ : ภัยธรรมชาติที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น ทั้งภัยแล้งน้ำท่วม แผ่นดินไหว เป็นต้น กำลังกลายเป็นกระแสให้ผู้คนหันมาเอาใจใส่กับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการผลิตพลังงานต่างๆ เริ่มหันมาจับธุรกิจด้านพลังงานทดแทนกันอย่างคึกคัก
บริษัทด้านพลังงานทดแทน คงต้องเอ่ยถึง บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA ซึ่งนับเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของไทยที่ดำเนินงานด้านพลังงานสะอาดมาร่วม 10 ปี ปัจจุบันมี นายอมร ทรัพย์ทวีกุล เป็นกรรมการและรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งเป็นผู้ร่วมบุกเบิกธุรกิจดังกล่าวขึ้นมาตั้งแต่ธุรกิจพลังงานทดแทนยังไม่บูมเหมือนในปัจจุบัน
คุณอมร เล่าว่า แต่เดิมเป็นเพียงพนักงานที่ปรึกษาด้านการเงินของสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง และได้รับข้อมูลจากคนรู้จัก ว่าเจ้าของโรงงานไบโอดีเซลเก่าที่อยู่กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี อยากจะขายกิจการ และขอให้ช่วยหาคนซื้อให้หน่อย
ต่อมาได้มีโอกาสรู้จักกับนายสมโภชน์ อาหุนัย ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ ซึ่งคุณสมโภชน์มาชวนให้เข้าถือหุ้นโรงงานไบโอดีเซลดังกล่าว
"ตอนนั้นยอมรับว่า รู้จักธุรกิจไบโอดีเซลน้อยมาก และแต่เดิมก็ยังไม่มีมาตรฐานด้านไบโอดีเซลเหมือนตอนนี้ คนที่จะใช้ก็มาซื้อไปผสมเอาเอง แต่ตอนนั้นผมแค่ลงเงินร่วมหุ้นเท่านั้น ไม่ต้องบริหารอะไรมากมาย เลยตัดสินใจลงทุนไว้ จนเมื่อเกิดวิกฤติการเงินที่เรียกว่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งกระทบต่องานที่ปรึกษาด้านการเงิน ไม่มีงานทำ ประกอบกับส่วนตัวได้วางเป้าหมายว่าอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง จึงได้ออกจากการเป็นลูกจ้างที่ปรึกษาการเงิน มาทำงานเต็มตัวกับธุรกิจไบโอดีเซลมากขึ้น ได้เป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเองแทน โดยมีคุณสมโภชน์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งค่อยๆ เรียนรู้งาน หาประสบการณ์จน 3 ปี จึงจะแตกฉานกับธุรกิจไบโอดีเซล"
คุณอมร เล่าอีกว่า ธุรกิจไบโอดีเซลตอนนั้น เริ่มมีการ แข่งขันสูง คนสร้างโรงงานเริ่มเยอะขึ้น แต่ความต้องการใช้ยังไม่มากนัก แต่เชื่อว่าระยะยาวความต้องการใช้จะต้องมีมากขึ้น และด้วยความที่เป็นบริษัทเล็กๆ ในตอนนั้น จึงต้องวิ่งหายอดขายและเริ่มคิดว่าจะต้องกระจายความเสี่ยงธุรกิจ
โดยมีคนนำแผนธุรกิจเกี่ยวกับซิลิคอนมาให้ดู ซึ่งเป็นวัสดุด้านแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งมองว่าเป็นธุรกิจที่มีความเป็นไปได้ แม้ตอนนั้นประเทศไทยจะยังไม่มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์เลยก็ตาม จึงตัดสินใจจะทำธุรกิจโซลาร์อีกธุรกิจหนึ่ง แต่เมื่อยังไม่มีประสบการณ์และความรู้มากพอ จึงต้องไปหาผู้รู้ที่ทำธุรกิจนี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะในประเทศสเปนและอิตาลี สมัยนั้นมีชื่อเสียงด้านนี้มาก จึงไปดูงานที่ต่างประเทศ ว่าเขาทำไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์กันอย่างไร ทำยากหรือไม่
เมื่อไปดูก็พบว่า เทคโนโลยีมาถึงจุดที่ทำไฟฟ้าได้จริง และมองว่าไม่เจ๊งแน่ ตอนนั้นต้นทุนอยู่ที่ 120 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ จึงมองธุรกิจโซลาร์เซลล์เหมือนเครื่องมือทางการเงิน ว่าสามารถทำกำไรได้ ตอนนั้นเลยรีบล็อกราคาขายไว้เลยในปี 2552 และอีก 5 ปีจากนั้น หรือปี 2556 ก็เริ่มผลิตไฟฟ้าขาย
"ผมมองธุรกิจโซลาร์เซลล์ คือการต่อจิ๊กซอว์ ถ้าโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าได้ 1 หลัง จะทำต่ออีกสัก 1,000 หลังก็ย่อมได้"คุณอมรกล่าว
คุณอมร ยังบอกด้วยว่า อุปสรรคสำคัญของธุรกิจโซลาร์เซลล์ คือ การหาที่ดิน เพราะการหาพื้นที่ 2,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ว่างนั้น ตอนคิดไว้กับตอนลงไปหาพื้นที่จริงยาก ใช้เวลาตั้ง 3-4 ปี แต่การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ทุกอย่างมีตรรกะเหมือนกันหมด คือ การทำอะไรที่คนอื่นยังไม่ทำ หรือยังไม่เชื่อว่าจะทำได้ โดยเราทำได้ก่อน จะเป็นต่อในธุรกิจนั้นๆ ซึ่งตอนนั้นแม้ไทยจะยังไม่มีโซลาร์เซลล์เลยก็ตาม แต่ตัวเองมีจุดยืนที่ว่า ไม่กลัว แม้คนอื่นจะบอกให้เรารู้สึกกลัว แต่เราจะกลัวก็ต่อเมื่อลงมือไปศึกษาเองแล้วแต่ไม่สำเร็จ ดังนั้น จะไม่กลัวจากเหตุผลที่ว่า เพราะไม่รู้จักมันเด็ดขาด
"เราต้องอย่ากลัวปัญหา อยู่กับมันให้เป็น ทุกวันนี้ผมทำงานก็ยังมีปัญหามาให้ตลอด อย่าไปหวังว่าจะแก้ปัญหาได้จบ เพราะจะมีปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเสมอ การเห็นปัญหาไม่ใช่ยาพิษ ถ้าเจอปัญหาแล้วหนี ไม่อยากรับโทรศัพท์ ไม่อยากทำงาน ไม่ใช่สิ่งที่ดี ผมโอเคกับการเจอปัญหานะ ซึ่งเมื่อก่อนไม่ใช่คนต้อนรับปัญหาขนาดนี้ แต่จากประสบการณ์ของปัญหาที่เดิมมาทีละปัญหา แต่ต่อมาเหมือนปัญหาจะนัดกันมาพร้อมๆ กันเป็นชุด และเราได้ประสบการณ์จากตรงนั้น ทำให้รับปัญหาได้มากขึ้น ซึ่งผมบอกเลย คาแรคเตอร์ของผู้บริหาร จะชอบเจอกับปัญหา" พี่อมรกล่าวคุณอมร แนะนำการแก้ปัญหาสำหรับ ผู้บริหาร คือ 1.สติต้องมีก่อน 2.อย่ายื้อ ปัญหาเอาไว้ เพราะตัวเองเคยทำมาแล้ว และพบว่ายิ่งยื้อ ปัญหาจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น กว่าจะแก้ได้ยาก ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาให้รีบเคลียร์ให้ออกก่อนเลย
"ในการทำงาน สิ่งที่ยากที่สุดคือ การบริหารลูกน้อง ซึ่งแต่ละคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน จะทำอย่างไรให้ความแตกต่างที่มีนั้น อยู่ร่วมกันได้ ให้เกิดการมองไปที่เป้าหมายเดียวกัน ดังนั้น ผู้บริหารจะต้องใส่ความเป็นเจ้าของตัวตนของเราให้ลูกน้องเห็น โดยเฉพาะในเรื่องการไม่ลำเอียง ซึ่งบริษัทจะปล่อยให้ลูกน้องเกิดความคิดเรื่องความลำเอียงในบริษัทไม่ได้ ไม่เช่นนั้นลูกน้องจะรู้สึกว่า ทำงานมากก็ได้เท่านั้น ไม่ทำก็ได้เท่านั้น ถ้าเป็นเช่นนี้ เท่ากับบริษัทรอวันเจ๊ง เตรียมตัวปิดกิจการได้เลย"
ด้านครอบครัว คุณอมรได้นำความเข้าใจชีวิตการทำงาน มาปรับใช้กับครอบครัว และเป็นแนวทางในการเลี้ยงดูลูกๆ ด้วย โดยปัจจุบันมีลูกชาย 1 ขวบ 1 คน และลูกผู้หญิง 6 เดือนอีก 1 คน ซึ่งคุณอมร บอกว่า การเลี้ยงลูกที่ดีต้องไม่ตีกรอบให้เขา สอนให้รู้ว่าการเรียนไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต
"ผมจะสอนให้เขามีภูมิคุ้มกันด้านจิตใจที่ดี คือต้องเข้าใจว่าชีวิตล้มเหลวได้ และต้องลุกขึ้นเดินใหม่ได้เช่นกัน เพราะไม่อยากให้เหมือนบางคนที่เรียนได้ระดับสูงสุดของประเทศ เป็นถึงวิศวะจุฬาฯ แต่พอเข้าทำงาน กลับรับแรงกดดันไม่ได้ ทำให้ปฏิเสธชีวิตการทำงาน และหันไปเรียนอย่างไม่มีวันจบสิ้นซะที"
คุณอมร ทิ้งท้ายด้วยว่า "ผมจะชี้ให้ลูกเห็นว่า ชีวิตเป็นอย่างนี้ อย่าหวังว่าจะราบรื่นเสมอไป ต้องปล่อยให้เขาเจอกับปัญหาและอยู่กับปัญหาให้ถึงที่สุด ส่วนคนเป็นพ่อแม่ แค่ช่วยประคองให้กำลังใจ แล้วเขาจะเก่งขึ้นมาได้เอง".