- Details
- Category: สัมภาษณ์พิเศษ
- Published: Saturday, 03 May 2014 18:31
- Hits: 13086
อาทิตย์เอกขเนก: 'ไพรินทร์' กับภารกิจสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน
ไทยโพสต์ : โลกของเราในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าแห่งหน ตำบลไหน ล้วนแล้วต้องพึ่งพาการใช้ ‘พลังงาน’เพื่อช่วยให้การดำเนินชีวิตง่ายและสะดวกมากขึ้น สำหรับประเทศไทยเอง หน้าที่นี้คงหนีไม่พ้น’ปตท.’ที่ปัจจุบันไม่ใช่เพียงการให้บริการด้านน้ำมันเชื้อเพลิงเท่านั้น แต่ได้มองยาวไปถึงการจัดหาพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกใหม่ๆ เพื่อมารองรับความต้องการใช้ของคนในประเทศ และรองรับแนวโน้มพลังงานหลักของโลกในอนาคตที่กำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง
'ไพรินทร์ ชูโชติถาวร'ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุว่า "เราต้องยอมรับว่าพลังงานมี แต่ใช้แล้วก็หมดไป และวันนี้ก็เริ่มมีสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นแล้วว่าพลังงานบนโลกนี้เริ่มลดน้อยถอยลง ซึ่งนั่นไม่ต่างอะไรกับก๊าซธรรมชาติที่คนกำลังให้ความสนใจว่าเป็นพลังงานทางเลือกที่ดีที่สุดในขณะนี้ เพราะวันหนึ่งก๊าซก็ต้องใช้แล้วหมดไปเหมือนกัน ฉะนั้นการใช้พลังงานในวันนี้ จึงอยากให้ใช้แบบรู้คุณค่าที่สุดด้วยเช่นกัน"
โดยในส่วนของประเทศไทยเอง ตอนนี้คนเริ่มหันมาให้ความสนใจกับ’พลังงานใหม่ๆ’มากขึ้น และที่ดูจะโดดเด่นและมาแรงคงหนี้ไม่พ้น’ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี’นั่นเอง ซึ่งแนวโน้มความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติชนิดใหม่ในไทยนั้น ตามการคาดการณ์ของกระทรวงพลังงานระบุว่า ในระยะยาวนับจากปี 2554-2573 ความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 8.8% ต่อปี และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ต้องมีนโยบายรณรงค์ให้ประชาชนใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างดีที่สุด
ในส่วนนี้เอง'ไพรินทร์' ยอมรับว่า ปตท.มีบทบาทหน้าที่ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ นั่นหมายถึง การจัดหาและผลิตพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ ทั้งในภาคเศรษฐกิจ ครัวเรือน และขนส่ง ปตท.จึงได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งในด้านการจัดหาแหล่งพลังงาน จากการจัดทำสัญญาซื้อก๊าซแอลเอ็นจีระยะยาว 20 ปี ควบคู่ไปกับการสร้างสถานีรับก๊าซแอลเอ็นจีแห่งที่ 2 ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไม่กี่ปีจากนี้ เพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีที่จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น โดยทั้งหมดนี้เพราะการจัดหา หรือจัดซื้อ หรือการพัฒนาโครงการด้านพลังงานจะต้องมีระยะเวลาเตรียมการล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี
"ตอนนี้หลายๆ ประเทศเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ก๊าซแอลเอ็นจีมากขึ้น โดยเฉพาะในหลายๆ ประเทศในซีกโลกตะวันออก อย่างจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ทุกประเทศใช้ก๊าซแอลเอ็นจีเป็นพลังงานหลักทั้งสิ้น และเชื่อว่าในอนาคตต่อไปทุกประเทศก็จะเป็นอย่างนั้น เพราะอย่าลืมว่าก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำที่สุดในหมู่ฟอสซิล ในการผลิตไฟ 1 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง ก๊าซธรรมชาติจะปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกครึ่งหนึ่งของถ่านหิน ฉะนั้นถ้าเราไม่เอานิวเคลียร์ ก๊าซธรรมชาติยังถือเป็นตัวเลือกที่ดีและเหมาะสมที่สุด" ไพรินทร์ระบุ ไพรินทร์กล่าวด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า "ตอนนี้โลกเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคของก๊าซธรรมชาติแล้ว" ซึ่งในไทยเองก็ไม่ต่างกัน และจากความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่นับวันจะยิ่งสูงขึ้น ซึ่งสวนทางกับปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยนี้เอง ทำให้คาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะหมดลง ไม่สามารถนำขึ้นมาใช้ได้อีก ทำให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเกือบเท่าตัวในอนาคต
‘ไพรินทร์’เล่าย้อนความเป็นมาเกี่ยวกับวิวัฒนาการของก๊าซแอลเอ็นจีอย่างช่ำชองว่างตอนนี้คนกำลังให้ความสำคัญกับแอลเอ็นจีมากขึ้น เท่าที่จำได้ การขายแอลเอ็นจีเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษเมื่อ 50 ปีที่แล้ว แต่ว่าแอลเอ็นจีมาเจริญรุ่งเรืองจริงๆ เป็นเพราะญี่ปุ่น
นั่นเพราะญี่ปุ่นไม่มีพลังงานของตัวเอง จึงต้องนำเข้าโดยการซื้อเข้าไปจำนวนเยอะๆ ในช่วงแรกๆ ก็เน้นการนำเข้าพลังงานจำพวกน้ำมันก่อน ต่อมาจึงหันมานำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีเพื่อให้บาลานซ์ความต้องการใช้กันไป ถ้าจำไม่ผิดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ ญี่ปุ่นนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้น เฉลี่ยปีละเกือบ 90 ล้านตัน ซึ่งถือว่ามากกว่าไทยที่ในปี 2556 นำเข้าอยู่ราว 1.4 ล้านตันเท่านั้น ต่อจากญี่ปุ่นก็น่าจะเป็นเกาหลีใต้ที่หันมาให้ความสำคัญกับก๊าซแอลเอ็นจีมากขึ้น และกลายเป็นรายใหญ่ในเรื่องนี้ หรือจะพูดง่ายๆ คือ ก๊าซแอลเอ็นจีในโลกนี้ทั้งหมด 2 ใน 3 ขายอยู่ในบริเวณ 2 ประเทศนี้เป็นหลัก"
ดังนั้น คำถามที่หลายๆ คนสงสัยคือ "หากประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงาน" คำตอบคือ หากรัฐบาลภาครัฐสามารถสร้างความเข้าใจและกระตุ้นประชาชนให้เกิดการรับรู้ข้อเท็จจริงถึงประโยชน์ของการนำเข้าแอลเอ็นจี และส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนยอมรับและลงมือทำ "การเป็นประเทศผู้นำเข้าแอลเอ็นจีอาจไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวอย่างที่คิด"
‘ไพรินทร์’ให้มุมมองกับเรื่องนี้ว่า หากประเทศไทยวันนี้ มีความร่วมมือกันทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง ในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุด ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบสนองกับความต้องการใช้พลังงาน ในอนาคตการที่ประเทศไทยจะมีโครงสร้างพื้นฐานพลังงานอยู่แล้ว และภูมิประเทศที่ได้เปรียบจากการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในวันข้างหน้าประเทศไทยอาจจะพัฒนาเมืองพลังงานต้นแบบแข่งกับหลายๆ เมืองในโลกใบนี้ได้เช่นกัน
ทิ้งท้าย’ไพรินทร์’ยังให้ข้อคิดเกี่ยวกับการใช้พลังงานทุกรูปแบบ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติของคนไทยอย่างน่าคิดอย่างยิ่งว่า "เรามีพลังงาน มีก๊าซธรรมชาติใช้กันอย่างมากมาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามีมากแล้วจะได้ใช้ตลอดไป นั่นเพราะข้อเท็จจริง คือ 1 ใน 4 ของพลังงานทั้งหมดที่เราใช้นั้น นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นในอนาคตหากประเทศเพื่อนบ้านหยุดขายสิ่งเหล่านี้ให้เรา เพราะว่าความต้องการใช้ในประเทศเขาก็เพิ่มขึ้น นั่นคือสิ่งที่สอนเราว่าต้องหาทางรองรับปัญหานั้น ฉะนั้นการหาพลังงานทางเลือกอื่นๆ จึงเป็นสิ่งที่เรามองเห็นเป็นอย่างแรก และ "ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี ก็เป็นทางเลือกที่น่าเชื่อถือได้มากที่สุดในขณะนี้ แต่ไม่ว่าจะเป็นพลังงานชนิดไหน หรือรูปแบบใด เราก็ต้องรู้จักใช้อย่างประหยัดและรู้คุณค่ามากที่สุดเช่นเดียวกัน.