- Details
- Category: สัมภาษณ์พิเศษ
- Published: Monday, 10 November 2014 11:23
- Hits: 7197
อาทิตย์เอกเขนก : คุรุจิต นาครทรรพ ผู้บุกเบิกแหล่งก๊าซไทย-มาเลย์
ไทยโพสต์ : นาทีนี้ 'พลังงาน'กลายเป็นปัญหาที่เกิดความแตกแยกทางความคิดของผู้คนในสังคมมากที่สุด โดยปัญหาใหญ่มาจากพลังงานมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ทำให้ภาครัฐต้องเร่งจัดหาเพื่อให้ทันต่อความต้องการใช้ในอนาคต ขณะที่ผู้ใช้ก็ไม่ต้องการให้สร้างโรงไฟฟ้า เพราะกลัวจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และบ้างก็กลัวการเสียผลประโยชน์ กลัวจะมีการทุจริต เป็นต้น
ตัวแทนของภาครัฐซึ่งเป็นผู้ที่ออกมาชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริงด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง จนหลายต่อหลายคนยกย่องให้เป็นกูรูด้านพลังงานไปแล้ว นั่นคือ 'คุรุจิต นาครทรรพ'รองปลัดกระทรวงพลังงาน ที่ปัจจุบันเดินสายออกรายการสื่อต่างๆ ชี้แจงข้อมูลพลังงานอย่างหนัก สู้กับข่าวลือต่างๆ ด้านพลังงานในสังคมออนไลน์อย่างไม่ย่อท้อ
"ผมไม่อยากยอมรับการขนานนามนั้น เพราะประเทศไทยกว่า 68 ล้านคน เชื่อว่าทุกคนก็มีความรู้เป็นของตัวเอง บางทีความรู้ที่ผมมีก็สู้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ภาคสนามไม่ได้ เช่น ผู้ขุดเจาะสำรวจน้ำมัน เดินเครื่องบำรุงรักษาโรงกลั่น เพราะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาตลอด
ผมก็เหมือนกับผู้จัดการร้านอาหาร ไม่ใช่ว่าจะต้องทำกับข้าวเก่ง เผลอๆ ทำไม่เป็นด้วย แต่เพราะมีหน้าที่เป็นผู้บริหาร จะต้องเรียนรู้ทุกอย่าง และผมโชคดีเรียนมาทางด้านพลังงาน จึงจับประเด็นเรียนรู้เร็วในความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เรียกได้ว่าโตมาทางสำรวจและผลิตปิโตรเลียมก็ว่าได้ และการที่เป็นรองปลัด เป็นการบังคับให้ตัวเองต้องรู้มากขึ้น ทั้งเรื่องราคาน้ำมัน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แอดเดอร์ พลังงานทดแทน และที่ผ่านมาเคยเป็นบอร์ดอยู่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 4 ปี ก็ต้องเรียนรู้เรื่องค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) การผลิตไฟฟ้าของเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) รายเล็ก (วีเอสพีพี) เป็นต้น"
ถามว่ามีความภาคภูมิใจอะไรมากที่สุดในการทำงาน "คุรุจิต" บอกว่า ความภาคภูมิใจที่สุดคือการได้เป็นหนึ่งในทีมงานชุดแรกที่เข้าไปเจรจาการพัฒนาก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งผลิตก๊าซป้อนไทยที่สำคัญ หรือที่เรียกกันว่าแหล่งก๊าซเจดีเอนั่นเอง
โดยเมื่อปี 2533 ตอนนั้นยังเป็นวิศวกรปิโตรเลียมระดับ 7 และได้เป็นผู้จัดการฝ่ายสำรวจ ทำหน้าที่เสมือนเจ้าหน้าที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในปัจจุบัน แต่เข้าไปทำงานอยู่ในมาเลเซีย ตั้งแต่เริ่มการเจรจาต่อรองกันต่างๆ นานา การวางท่อก๊าซซึ่งยากลำบากมาก จนปัจจุบันไทยและมาเลเซียสามารถผลิตก๊าซจากแหล่งเจดีเอมาได้สำเร็จ 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แบ่งไปขายให้มาเลเซีย 480 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขายไทย 750 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือเท่ากับผลิตไฟฟ้าได้ถึง 4,500 เมกะวัตต์
"การผลิตก๊าซดังกล่าวมีผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศไทย คนไทยได้มีโอกาสใช้ก๊าซ ใช้ไฟฟ้าเกือบทุกครัวเรือน ซึ่งถ้าในอดีตไม่สามารถเจรจากับมาเลเซียเพื่อใช้ก๊าซดังกล่าวได้ ปัจจุบันค่าไฟฟ้าของไทยคงจะแพงกว่านี้มาก ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจว่าเราได้พยายามทำเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น และค่อยๆ เห็นความก้าวหน้าของงาน จนมาถึงการผลิตก๊าซออกมาป้อนประเทศไทยได้จริง เช่นเดียวกับการผลักดันต่อก๊าซเมียนมาร์มาให้คนไทยได้ใช้ในปัจจุบัน ก็รู้สึกเป็นความภูมิใจที่ได้ทำอะไรเพื่อประเทศชาติและคนไทย ที่เห็นผลอยู่ในปัจจุบันนี้"
'คุรุจิต'เล่าว่า ได้มีโอกาสเรียนนักบริหารระดับสูงของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) หรือ นบส.รุ่นที่ 46 ในการเรียนครั้งนั้น อาจารย์ตั้งคำถามและให้ไปหาคำตอบว่าคนเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร? ก็ไประดมสมองกันที่ อ.สามพราน 1 อาทิตย์ และมานึกของตัวเองว่าเรามีเป้าหมายอะไรในชีวิต ชีวิตก็สั้นนัก ถ้าเป็นทางธรณีวิทยา น้ำมันจะเกิดได้ก็ใช้เวลากว่า 100 ปี แต่คนเรามีอายุแค่ 80-100 ปีเท่านั้น ก็คิดว่า ถ้าอยู่ได้จนถึง 80 ปีก็ถือว่าเราเป็นผู้โชคดีมากแล้ว
ดังนั้น จึงได้คำตอบ ถ้าอยู่จนครบ 80 ปีด้วยปัจจัยเหล่านี้ จะทำให้มีความสุขได้ คือ 1.แค่เราไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ตายอย่างไม่ทรมาน ก็ถือว่าดีมากแล้ว 2.อย่ามีหนี้สิน อย่าสร้างหนี้ให้ลูกหลาน 3.อย่าทำบาป อย่าสร้างความเดือดร้อนให้ใคร 4.มีครอบครัวที่ดี ลูกไม่นำความเดือดร้อนมาให้พ่อแม่ ตั้งใจเรียนดี ทำงานช่วยตัวเองได้ ก็จะทำให้ชีวิตครอบครัวมีความสุขหากทุกครัวเรือนเป็นแบบนี้ได้ ประเทศไทยก็จะสงบสุข ไม่ต้องปฏิรูปอะไรให้วุ่นวาย
"ในชีวิตการทำงานของผม ไม่คิดว่าจะต้องมาทะเลาะกับใคร ทำราชการก็เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ เมื่อมีคนไม่พอใจด้านพลังงาน เราก็ต้องเป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน เพราะเราเป็นโฆษก เป็นผู้บริหารในกระทรวงพลังงาน มีครั้งหนึ่งเคยถูกเรียกไปทำเนียบฯ เพื่อไปรับหนังสือร้องเรียนของผู้ประท้วงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซแปดริ้ว ซึ่งผมก็ไปทำหน้าที่รับหนังสือด้วยตัวเอง
ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเราต้องควบคุมอารมณ์ตัวเอง และเราก็ต้องเห็นใจผู้ประท้วงด้วย แต่ต้องไม่เสียหลักการ ต้องคุยกันด้วยหลักการ เหตุผล เพราะเราไม่ใช่ศัตรูกัน ดังนั้นต้องหาจังหวะอธิบาย และเราก็ต้องสำรวจตัวเองด้วยว่า สิ่งที่เราทำนั้นถูกต้องหรือไม่ เป็นบาปหรือไม่ ถ้าเป็นประโยชน์ก็ต้องเชื่อมั่นทำในสิ่งที่ถูกต้อง"
รองฯ คุรุจิต กล่าวทิ้งท้ายถึงการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ว่า ถ้ามัวเถียงกันเรื่องการเก็บภาษีให้รัฐ และการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐมากหรือน้อย เราอาจลืมไปว่าขณะนี้ไทยกำลังต้องการก๊าซและน้ำมันเพิ่มขึ้น และอยากให้มองว่า ไม่มีใครไม่หวังดีต่อประเทศ จึงอยากให้มองหน้าตักของตัวเองว่าเรามีแค่ไหน ถ้าจะเอาผลประโยชน์เยอะๆ ในที่สุดคนก็จะไม่มาขอสัมปทาน โอกาสการขุดเจาะปิโตรเลียมและการลงทุนในไทยก็จะหลุดลอยไปได้ ซึ่งจะมีผลต่อความมั่นคงด้านพลังงานประเทศในที่สุด.