- Details
- Category: สัมภาษณ์พิเศษ
- Published: Saturday, 03 May 2014 18:24
- Hits: 11051
เปิดวิสัยทัศน์ 'เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย' พัฒนาท่าอากาศยานไทย ขึ้นเป็น 'แอร์พอร์ต ซิตี้'
แนวหน้า : เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้บริหาร บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้เดินทางไปดูงาน ณ ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกง หรือ สนามบิน Chep Lap Kok เพื่อจะนำมาเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการมาบริหารท่าอากาศยานไทย ที่จะเร่งขยายขีดความสามารถในการรองรับจำนวนผู้โดยสาร และปริมาณเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น และเน้นการบริการผู้โดยสาร และสายการบินที่สะดวก รวดเร็วมากขึ้น โดยจะนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาให้บริการ เช่น เช็คตั๋วอัตโนมัติ โหลดกระเป๋าอัตโนมัติ ระบบจัดเก็บค่าจอดรถอัตโนมัติ เป็นต้น
ยังรวมถึงการให้ความสำคัญในการบริหารจัดการพื้นที่ในท่าอากาศยานให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือเป็นเมืองสนามบิน หรือ แอร์พอร์ต ซิตี้(Airport city) ซึ่งเป็นการตอบสนองบริการแบบ Lifestyle Service แก่ผู้โดยสารที่จะมีเวลาช็อปปิ้งในพื้นที่ Retail Mall มากขึ้น
ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกง เป็นท่าอากาศยานหลักของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดใช้เมื่อปี 2541 แทนที่ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกงเดิม ซึ่งในปี 2556 ที่ผ่านมา สนามบินแห่งนี้มีผู้โดยสารถึง 60 ล้านคน กว่า 100 สายการบิน รองรับเที่ยวบินได้ 64 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และท่าอากาศยานแห่งนี้ได้รับรางวัลท่าอากาศยานยอดเยี่ยมระดับนานาชาติมาหลายครั้ง
เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวระหว่างดูงานสนามบิน Chep Lap Kok ว่า ทอท.จะนำสนามบิน Chep Lap Kok เพื่อจะนำมาเป็นต้นแบบในการพัฒนา ท่าอากาศยานของทอท.
โดยสนามบินดอนเมือง ในอนาคตนั้น ทอท.ได้มีแนวคิดในการพัฒนาให้สอดคล้องกับโครงการรถไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหลายๆโครงการจะมีการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างสนามบินดอนเมืองรถไฟฟ้าสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ-รังสิต)และ รถไฟฟ้าสายสีเขียว(ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) เพื่อเชื่อมเข้าสู่พื้นที่สนามบิน 2 จุด คือ อาคารคลังสินค้า 1, 2, 3, 4, ลานจอดรถ และอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ซึ่งในอนาคต ทอท.จะปรับปรุงอาคารคลังสินค้าเป็นพื้นที่ศูนย์การค้าแบบ Retail Mall คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท
ทอท.ยังสนับสนุนให้ สนามบินดอนเมือง เป็นโครงการนำร่องที่จะเป็น แอร์พอร์ต ซิตี้
"ท่าอากาศยานไทยก็กำลังเดินหน้าไปในทิศทางทางเดียวกันกับท่าอากาศยานทั่วโลก โดยจะมีการพัฒนาพื้นที่ โดย ท่าอากาศยานที่มีโอกาสเกิดแอร์พอร์ต ซิตี้ ได้เร็วที่สุดคือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และภูเก็ต ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาออกแบบเพื่อเตรียมขอเสนออนุมัติจากบอร์ด ทอท.เร็วๆ นี้
ทั้งนี้ แอร์พอร์ต ซิตี้ เป็นบิสซิเนสโมเดลที่อุตสาหกรรมท่าอากาศยานกำลังจะพัฒนาไปสู่แนวทางนี้เกือบทุกประเทศ หลายประเทศก็เริ่มมีการพัฒนาเป็นแอร์พอร์ต ซิตี้
ส่วนสนามบินภูเก็ต จะปรับปรุงพื้นที่บริเวณลานจอดรถเก่า มีแผนปรับปรุงให้เป็นแอร์พอร์ต ซิตี้เช่นกัน โดยแผนพัฒนาสนามบินภูเก็ตใช้วงเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 5,000 -7,000 ล้านบาท ทั้งนี้จะต้องรอสรุปผลการศีกษาก่อน ซึ่งวงเงินลงทุนอาจจะมากกว่านี้ก็ได้ ส่วนรูปแบบ เป็นไปได้สูงที่อาจจะต้องเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 โดยจะต้องเลือกรูปแบบที่ดีที่สุด
ในส่วน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะใช้งบในการปรับปรุง และพัฒนาประมาณ 6,000 ล้านบาท คาดว่าจะสรุปรายละเอียดได้แล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2557 นี้ และเริ่มดำเนินการได้ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ทั้งนี้ การปรับปรุงจะแบ่งเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรก จะเป็นการปรับปรุงพื้นที่เดิมที่เคยเป็นร้านค้าเพื่อนำมาให้บริการผู้โดยสารมากขึ้น เนื่องจากในเดือนดังกล่าวจะมีร้านค้าบางรายหมดสัญญาเช่าพื้นที่ จากนั้นจะเป็นการขยายพื้นที่บางส่วนที่สามารถดำเนินการได้ เช่น ด้านข้าง และการเตรียมพร้อมสำหรับการให้บริการพื้นที่ใหม่ ภายหลังการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 แล้วเสร็จ
นั่นคือรูปแบบการพัฒนาท่าอากาศยานสังกัด ทอท. ที่ผู้โดยสารทั้งใน และต่างประเทศจะได้สัมผัสกันในอนาคต
กนกวรรณ การพูล รายงาน