- Details
- Category: บทวิเคราะห์สังคม
- Published: Monday, 09 October 2017 18:21
- Hits: 11198
ทีดีอาร์ไอ เปิดสูตรความร่วมมือทางสังคมที่หวังผลได้ของไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ทีดีอาร์ไอ เสนอ SIP Model นวัตกรรมความร่วมมือทางสังคมที่หวังผลได้สำหรับประเทศไทย เปลี่ยนมุมมองการใช้เงินลงทุนเพื่อสังคม ทั้งงบรัฐ ซีเอสอาร์เอกชน และเงินบริจาคของคนไทย ที่อยู่ในภาวะแยกส่วน กระจัดกระจาย ไม่ต่อเนื่อง ไม่เห็นผล มาเป็นการร่วมคิด ร่วมทำมีองค์กรกลางบริหาร ตรวจสอบและวัดผลได้ แนะเร่งสร้างแรงจูงใจมุ่งเป้าผลลัพธ์ทางบวกต่อสังคม หากทำเสร็จจะช่วยลดค่าใช้จ่ายภาครัฐและผลกระทบการเข้าสู่สังคมสูงอายุของสังคมไทยได้ในระยะยาว ชูตัวอย่างบริการทางสังคม 4 ด้านหลักสอดคล้องนโยบาย ‘ประชารัฐง ทำได้ทันที คือ การพัฒนาการศึกษา การให้บริการส่งเสริมสุขภาพหรือป้องกันโรค การเพิ่มผลิตภาพ SMEs การฝึกอาชีพหรือส่งเสริมการจ้างงาน
ดร.บุญวรา สุมะโน เจนพึ่งพร นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยผลการศึกษารูปแบบของการสร้างความร่วมมือที่เน้นผลลัพธ์เพื่อสังคม (Social Impact Partnership Model : SIP Model) โดยระบุว่า ภาพรวมของการให้บริการทางสังคมของไทยในปัจจุบันนั้น ภาครัฐซึ่งมีบทบาทหลักและดำเนินงานหลายด้าน ส่งผลให้บริการที่ให้ไปส่วนมากเป็นไปในรูปแบบเหมาแข่งและตั้งรับ ขณะที่ภาคเอกชนมีเงินทุนซีเอสอาร์ในการทำโครงการเพื่อสังคมแต่บางครั้งยังขาดความต่อเนื่อง ส่วนภาคประชาสังคมซึ่งทำงานใกล้ชิดกับประชาชนและเข้าใจสภาพที่แท้จริงของปัญหา ก็มักขาดแคลนทุนดำเนินงาน การให้บริการทางสังคมของไทยจึงยังเป็นลักษณะ แยกส่วน บางโครงการไม่ต่อเนื่อง จึงไม่เห็นผล ทั้งที่เงินลงทุนเพื่อสังคมมีมากในแต่ละปี เฉพาะเงินบริจาคของคนไทยมีถึงปีละประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ขณะที่ภาคเอกชนมีงบประมาณทำ CSR ปีละไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท หากนำสองส่วนนี้มารวมกันเราจะมีเงินมหาศาลที่จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นรูปธรรม ประเทศไทยจึงมีความพร้อมที่จะลงทุนเพื่อสังคม แต่ยังขาดเครื่องมือในการลงทุนที่จะสร้างผลลัพธ์ทางสังคมที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน
ความร่วมมือที่เน้นผลลัพธ์เพื่อสังคม(Social Impact Partnership)คือ ความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการออกแบบ ดำเนินการ และให้ทุนสนับสนุนโครงการที่เน้นเชิงป้องกัน และให้ความช่วยเหลือแต่แรกเริ่ม เพื่อให้เกิดผลกระทบทางบวกต่อสังคมที่เป็นรูปธรรม SIP model หรือที่รู้จักกันในชื่อพันธบัตรเพื่อสังคม (Social impact bond) หรือ Pay for success เกิดขึ้นแล้วใน 19 ประเทศทั่วโลก และกำลังเป็นที่สนใจในประเทศกำลังพัฒนา เช่น โคลัมเบีย โดยมีแนวคิด คือ นักลงทุนลงทุนในโครงการระยะยาวที่มีเป้าหมายชัดเจน โดยมีองค์กรกลางที่ตั้งขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการเงินนี้ไปสู่ผู้ให้บริการทางสังคม รวมทั้งติดตามการดำเนินงานของผู้ให้บริการทางสังคม ซึ่งก็จะมีการประเมินผลเป็นระยะ หากโครงการประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย ผู้จ่ายเงินซึ่งส่วนใหญ่คือภาครัฐซึ่งมีภาระหน้าที่ในการดำเนินโครงการทางสังคมนั้นๆอยู่แล้ว จึงจะจ่ายคืนเงินต้นพร้อมผลตอบแทนให้กับนักลงทุนตามที่ตกลงกันไว้ ภาครัฐก็จะประหยัดงบประมาณได้ โดยจ่ายเงินให้กับโครงการที่ประสบผลสำเร็จเท่านั้น
ตัวอย่าง การนำ SIP Model มาใช้ เช่น อังกฤษ มีปัญหาผู้ต้องโทษจำคุกระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี มีอัตราการกลับเข้าสู่เรือนจำสูงถึง 60% จึงมีการนำรูปแบบ SIP มาใช้แก้ปัญหาอัตราการกลับเข้าคุกซ้ำของนักโทษระยะสั้น ที่เรือนจำ Peterborough โดยมีนักลงทุน 17 รายซึ่งส่วนใหญ่เป็นองค์กรเพื่อการกุศลร่วมกันระดมทุนได้ 5 ล้านปอนด์ แล้วมี Social Finance เป็นองค์กรกลางที่จัดสรรเงินทุนให้กับผู้ให้บริการทางสังคม 7 องค์กร ซึ่งรวมตัวกันเรียกว่า One Service จัดบริการช่วยเหลือด้านที่พัก การเงิน ฝึกทักษะและจัดหางาน บริการสุขภาพกายและจิต และ ให้คำปรึกษาครอบครัวผู้พ้นโทษ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้พ้นโทษระยะสั้น 2,000 คน ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ผลประเมินพบว่า อัตราการกลับเข้าคุกลดลงถึง 9% เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ที่ไม่ได้รับบริการ ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของโครงการที่กำหนดไว้ 7.5% กระทรวงยุติธรรมฯจึงจ่ายคืนเงินต้นและผลตอบแทน 3% ให้กับนักลงทุนตามที่ตกลงกันไว้
สำหรับ ประเทศไทย การศึกษาครั้งนี้เลือกศึกษาบริการทางสังคม4 ด้านที่มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม และครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายหลากหลาย คือ การพัฒนาการศึกษา การให้บริการส่งเสริมสุขภาพหรือป้องกันโรค การเพิ่มผลิตภาพ SMEs และการฝึกอาชีพหรือส่งเสริมการจ้างงาน โดยบริการทั้ง 4 ด้านมีผู้เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานรัฐและองค์กรภาคสังคมที่มีการดำเนินงานจำนวนมาก ภาคเอกชนหรือนักลงทุนสนใจช่วยเหลือ เช่น การให้ทุนการศึกษา การบริจาคเงินหรือสิ่งของให้ รพ. การพัฒนา SMEs และการฝึกอาชีพและการจ้างงานเป็นผลประโยชน์โดยตรงของภาคเอกชน
SIP Model มีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ 1. ด้านการเงิน จะใช้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมาย นักลงทุนมีหลายรูปแบบ เป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาหรือรูปแบบอื่น ๆ การจ่ายผลตอบแทนขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ที่กลุ่มเป้าหมาย มักมีการกำหนดเพดานการจ่ายผลตอบแทนไว้ เพื่อให้ผู้ประเมินหรือภาครัฐสามารถประเมินเพื่อเตรียมงบประมาณที่ต้องใช้ได้ 2. ด้านการบริหารจัดการ ส่วนมากจะเป็นองค์กรกลางหรือทำข้อตกลงกับผู้ลงทุนโดยตรงก็ได้ ส่วนใหญ่จะมีระยะเวลามากกว่า 1 ปีเนื่องจากต้องใช้เวลาในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหา 3.การประเมินผลที่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้ SIP model แตกต่างจากเงินบริจาคทั่วไป การริเริ่ม SIP model ในประเทศไทย ต้องเริ่มจากการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ จัดตั้งโครงการ ดำเนินการ การประเมิน และการจ่ายผลตอบแทน
แม้ปัจจุบันยังมีกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการ อาทิ การออกพันธบัตรโดยรัฐ อาจไม่สามารถทำได้ ณ ขณะนี้เพราะไม่เข้าเงื่อนไขการเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงิน ขณะที่การจัดตั้งกองทุน ทำได้แต่ต้องออกกฎหมายที่ชัดเจนและมีการกำกับดูแล ส่วนการใช้เงินCSR ของภาคเอกชน เพื่อลงทุนในโครงการความร่วมมือที่เน้นผลลัพธ์เพื่อสังคม ซึ่งปัจจุบันเป็นการนำมาลดหย่อนภาษีที่ผูกกับเงินให้เปล่า ดังนั้นถ้าหากนำมาเป็นเงินตั้งต้นในการทำ SIP Model ก็จะไม่ใช่เงินให้เปล่าและไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ จึงอาจไม่จูงใจเอกชนเท่าไหร่ นอกจากนี้ยังไม่มีกฎหมายที่อนุญาตให้รัฐจ่ายเงินให้เอกชนในฐานะนักลงทุนซึ่งจะเป็นปัญหาตอนจ่ายเงินคืนเมื่อโครงการประสบผลสำเร็จ ส่วนการใช้งบประมาณผูกพันข้ามปี ปัจจุบันทำได้ตามระเบียบการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ.2534 แต่ไม่ควรเกิน 5 ปี
อย่างไรก็ตาม หากเห็นประโยชน์และต้องการดำเนินโครงการSIP Model จริง ๆ กฎระเบียบเหล่านี้ก็สามารถแก้ไขได้ และหากจะผลักดันให้เกิดโครงการ SIP Model สิ่งที่ทำได้เลยทันที คือ รัฐบาลควรเป็นกลไกขับเคลื่อนหลัก จัดตั้งเวทีที่เปิดกว้างสำหรับผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม วิชาการ ให้เข้ามาแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์ หน่วยงานของรัฐควรเริ่มจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสังคมที่ตนเองรับผิดชอบ รวมถึงการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคม(SROI) ของโครงการที่ผ่านมา ภาครัฐควรจัดให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการนำร่องในเชิงลึก ที่มีรายละเอียดที่พร้อมสำหรับการดำเนินโครงการต่อไป โดยโครงการนำร่องควรเป็นโครงการขนาดเล็กที่มีกลุ่มเป้าหมายจำนวนไม่มาก และสุดท้าย เร่งประชาสัมพันธ์แนวคิดโครงการความร่วมมือที่เน้นผลลัพธ์เพื่อสังคม แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เน้นการเปลี่ยนแนวคิดจากการบริจาคที่ไม่หวังผล เป็นการลงทุนเพื่อสังคมที่วัดผลได้
ในระยะยาว รัฐบาลควรมีการศึกษาเพื่อแก้ไขและเพิ่มเติมกฎระเบียบที่จะเอื้อให้เกิดโครงการความร่วมมือที่เน้นผลลัพธ์เพื่อสังคม เกิดการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน มีการจัดตั้งองค์กรกลางที่จะเข้ามามีบทบาทเป็นกลไกขับเคลื่อนในระยะยาวเช่น Social Finance ซึ่งทำในหลายประเทศ โดยเป็นองค์กรที่มีตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
ดร.บุญวรา กล่าวด้วยว่า โดยสรุป SIP Model สามารถทำได้ในประเทศไทย โดยอาจทำเป็นโครงการเล็ก ๆ ในระดับพื้นที่ และเมื่อเชื่อมโยงโครงการเล็ก ๆ ในระดับพื้นที่เข้าด้วยกันก็จะเห็นผลลัพธ์ในระดับประเทศไทยได้.
เผยแพร่โดย ทีมสื่อสารสาธารณะ-ทีดีอาร์ไอ 083-0648163 (ศศิธร)