- Details
- Category: บทวิเคราะห์สังคม
- Published: Saturday, 19 September 2015 08:26
- Hits: 10850
เศรษฐพุฒิ ชี้ศก.ไทยไม่ฟื้น เหตุจากนโยบายไม่ชัดเจน ขาดความต่อเนื่อง
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทย กล่าวเสวนา “เศรษฐกิจไทยกับบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ" ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2558 ว่า เศรษฐกิจไทยในบริบทใหม่นั้นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP) เฉลี่ยลดลง จาก 2 ปัจจัยหลักที่สำคัญ คือ 1.โครงสร้างทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การพึ่งพาส่งออกได้น้อยลง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหันมาพึ่งพาอุปสงค์ภายในประเทศให้มากขึ้น แต่ทั้งนี้อุปสงค์ในประเทศยังไม่เติบโตมากนัก เพราะสัดส่วนของประชากรในเมืองที่เป็นตัวขับเคลื่อนการบริโภคได้นั้นมีน้อยกว่าประชากรส่วนใหญ่ที่อยู่ใน ดังนั้น โจทย์สำคัญ คือ ทำอย่างไรจะทำให้สัดส่วนสังคมเมืองของไทยเติบโตขึ้น และกระจายตัวไปสู่หัวเมืองต่างๆ ได้มากขึ้น เพื่อผลักดันด้านการเติบโตของเศรษฐกิจ จากปัจจุบันที่สังคมเมืองกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ต่างกับประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลี มาเลเซีย ที่สังคมเมืองโตสูงและโตไล่เลี่ยกัน
สำหรับ ปัจจัยที่ 2 คือ การเพิ่มประสิทธิภาพของภาคแรงงาน ซึ่งจำเป็นต้องมีการเพิ่มการลงทุน แต่การลงทุนในแง่เม็ดเงินคงไม่พอ จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนในด้านนวัตกรรมด้วย ทั้งนี้หากพิจารณาพื้นฐานประเทศไทยในปัจจุบันจากภาคเศรษฐกิจจริงจะพบว่า หลายอย่างเอื้อต่อการลงทุน ไม่ว่าดอกเบี้ยที่ต่ำ บริษัทขนาดใหญ่แข็งแรง แต่การลงทุนกลับไม่ฟื้น เพราะมีเรื่องความไม่แน่นอนด้านนโยบาย อุปสงค์ต่ำ
ดังนั้น จะต้องแก้ปัญหาในสิ่งสำคัญที่เรายังขาดอยู่ 4 เรื่อง คือ 1.การขาดการโฟกัส เพราะหากดูแผนของสภาพัฒน์ในปัจจุบัน จะพบว่าค่อนข้างกว้าง ซึ่งอาจไม่เคลียร์นักในด้านนโยบายต่างๆ 2.ขาดด้านการประสานงาน โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐ รัฐกับเอกชน วิชาการ ทั้งที่ 3 หน่วยงานนี้มีส่วนสำคัญในการพัฒนา 3.ขาดการติดตามผล ซึ่งควรมีหน่วยงานที่มารับผิดชอบชัดเจน เพราะปัจจุบันประเทศไทยขาดการติดตามผลในการทำแผนงานต่างๆ แต่ไม่มีผู้รับผิดชอบ และ 4.การขาดความต่อเนื่องในการทำนโยบาย เพราะเมื่อรัฐบาลเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนแปลงนโยบาย
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กล่าวถึงบริบทใหม่ของระบบการเงินว่าจะมีสิ่งใดที่เป็นโอกาส หรือช่วยเพิ่มการเติบโตให้ประเทศได้ว่า Regionalization ในตลาดทุน จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ลงทุน และผู้ประกอบการที่จะมีทางเลือกในการลงทุนเพื่อเพิ่มผลประกอบการมากขึ้น หรือเพิ่มรายได้จากการลงทุนมากขึ้น ซึ่งในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวนั้นผลตอบแทนจากการลงทุนคงเทียบไม่ได้กับประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตในอัตราสูง เชื่อว่าการมีความเชื่อมโยงของภาคการเงินขึ้นแล้วโดยเฉพาะตลาดทุนอาจจะมีทั้งโอกาสและมีความเสี่ยงตามมา อยู่ที่เราจะปรับตัวกับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน
“การเชื่อมโยงในตลาดทุน จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ คงไม่เฉพาะไทย แต่การทำเรื่องแบบนี้ไม่มีทางได้อย่างเดียว เมื่อเปิดก็จะต้องเป็นได้และเสีย การจะทำอย่างไรให้เข้ามามากขึ้น ต้องสร้างความสามารถในการแข่งขันของตัวเอง ซึ่งมีทั้งการวางสถานะตัวเองให้ชัดเจน บุคลากร โครงสร้างพื้นฐานแข่งขันได้หรือไม่ การบังคับใช้กฎหมาย และผู้กำกับดูแล ทุกสิ่งต้องมาแข่งกันเพื่อให้ตลาดทุนไทยสามารถแข่งขันได้" นายรพี กล่าว
ตลาดหลักทรัพย์จะต้องมีสถานะที่ชัดเจนเพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะประโยชน์ของแต่ละประเทศจากการเชื่อมโยงในตลาดทุนนั้นมีไม่เท่ากัน โดยประเทศที่มีระดับการพัฒนามากกว่า และเปิดกว้างกว่าก็จะกลายเป็น Hub ได้ นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ต้องสร้างจุดเด่นและมี International Profile เพื่อเพิ่มมูลค่า เพราะการมีแต่ domestic product จะขาดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว ขณะเดียวกันเห็นว่ากลยุทธ์ที่จะนำมาใช้ คือการเข้าไปเกาะกลุ่มกับ ASEAN 5 เพื่อเป็นเครือข่ายให้มีวิสัยทัศน์ที่มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น
ทั้งนี้ เห็นว่า Strategic Position ของตลาดทุนไทยในระดับภูมิภาคนั้น จะต้อง 1.เป็นจุดที่เชื่อมโยงระหว่างกิจการใน GMS ที่ต้องการทุนกับนักลงทุนทั่วโลกที่ต้องการลงทุนในภูมิภาคนี้ 2.กิจการไทยต้องเข้าถึงแหล่งทุนที่หลากหลายขึ้น เพิ่มโอกาสการลงทุนให้นักลงทุนไทย และประเทศเพื่อนบ้านสามารถใช้ตลาดทุนไทยเป็น springboard ในการเติบโตได้ 3.มีช่องทางระดมทุนในรูปแบบต่างๆ รองรับ เช่น หุ้นทุน, หุ้นกู้, Infrastructure trust, REIT เป็นต้น และ 4.Success case คือ Baht Bond ที่ได้รับความสนใจจาก issuers ทั้งภาครัฐและเอกชนจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ดี มองว่ายังมีความท้าทายจาก Regionalization ของตลาดทุนไทย คือ การพัฒนาและรักษากฎเกณฑ์/กติกาที่ได้มาตรฐานสากล, การประสานงานอย่างใกล้ชิดกับ foreign regulators, กฎเกณฑ์ด้าน investor protection ที่เชื่อมโยงกับ cross border activities, ความรู้ความเข้าใจของผู้ขายและผู้ลงทุนต่อสินค้าที่มีความเสี่ยงมากขึ้น และสุดท้ายผู้ประกอบธุรกิจยังไม่ค่อยรุกออกไปแสวงหาโอกาสในพื้นที่ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นประเทศใหม่ ตลาดใหม่ ลูกค้าใหม่ รวมทั้งธุรกิจใหม่
ส่วนนายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยกับบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจจะต้องมีการปฎิรูปภาษีทั้งระบบ รวมถึงปฎิรูปกระบวนการจัดทำกฎหมายของไทย ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาใช้กระบวนการจัดทำกฎหมายไทยซึ่งใช้เวลากว่า 20-22 เดือน กว่าที่จะมีการแก้ไขกฎหมายได้
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เสนอการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องแก้ไขกฎหมายก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ ไม่เช่นนั้นถ้ามีการเลือกตั้งใหม่จะไม่สามารถที่จะแก้ไขกฎหมายได้เพราะไปขัดประโยชน์กับผู้มีอิทธิพล
ทั้งนี้ กฎหมายที่สำคัญต่อเศรษฐกิจ เช่น กฎหมายธุรกิจต่างด้าว, กฎหมายที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ และกฎหมายที่สนับสนุนให้คนไทยไปต่างประเทศ รวมถึงการปฎิรูปภาษี และการปฎิรูปกระบวนการการขออนุญาตการเข้ามาประกอบธุรกิจการค้าการลงทุนได้อย่างสะดวกมากขึ้น จากเดิมจะต้องใช้เวลายุ่งยากกว่า 3 เดือน ในขณะที่สิงคโปร์ที่ใช้เวลาเพียง 3 วัน
นายกิติพงศ์ กล่าวว่า การปฏิรูปภาษีจะต้องทำให้ภาษีลดลงและสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ในขณะเดียวกันก็เพิ่มฐานภาษีให้มากขึ้นจากปัจจุบันมีผู้เสียภาษี 10.5 ล้านคน จากจำนวนประชากรที่มีราย 35 ล้านคน และต้องสร้างแรงจูงใจและสร้างจิตสำนึกให้คนเข้ามาในระบบเสียภาษีมากขึ้นนอกจากนี้ ควรมีการจัดทำข้อมูลให้ทุกคนขึ้นทะเบียนผู้เสียภาษี และมีการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งระบบให้ประโยชน์ผู้เสียภาษีด้วย ซึ่งการปฏิรูปภาษีสามารถที่จะยึดโมเดลภาษีของสิงค์โปรมาใช้ได้ เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจการค้าการลงทุนเป็นแบบไร้พรมแดนแล้ว
อินโฟเควสท์