- Details
- Category: บทวิเคราะห์สังคม
- Published: Saturday, 05 September 2015 20:33
- Hits: 10666
พม.ประกาศพื้นที่ตำบลเข้มแข็ง ไร้ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว
บ้านเมือง : พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานในพิธีเปิด และมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณตำบลเข้มแข็งไร้ความรุนแรงและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่นด้านสตรีและครอบครัว ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ
พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว กล่าวว่า รู้สึกชื่นชมและแสดงความยินดีกับพื้นที่ตำบล ที่ร่วมกันขับเคลื่อนให้ชุมชนปราศจากความรุนแรงตลอดระยะเวลา 1 ปีนับตั้งแต่เริ่มโครงการ "ตำบลเข้มแข็งไร้ความรุนแรง"
แสดงให้เห็นว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารในท้องถิ่นและคนในชุมชนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรงและให้ ความสำคัญต่อการดำเนินงานส่งเสริมศักยภาพของสตรีและครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว การมอบรางวัลในวันนี้จึงเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า ความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนที่ผ่านมาได้บรรลุผลสำเร็จทำให้ชุมชน..ไร้ซึ่งความรุนแรง อีกทั้งสตรีได้รับการพัฒนา และสถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็งนับว่าเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของชุมชน สิ่งที่ท้าทายต่อไปคือการรักษาไว้ซึ่งความสงบสุขของชุมชน และความพร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันหากเกิดปัญหาความรุนแรงขึ้น ซึ่งหากพวกเราทุกคนสามารถทำได้ก็จะส่งผลโดยตรงต่อความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ความเจริญมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ
นายสมชาย เจริญอำนวยสุข อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลและนโยบายนการปฏิบัติงานประจำปี 2558 ของ พม. ซึ่งเน้นให้ส่วนราชการในสังกัดบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันไปสู่เป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปีนั้น สค. ได้บูรณาการงานตามนโยบายดังกล่าวภายใต้โครงการ ตำบลเข้มแข็งไร้ความรุนแรง และกำหนดเป้าหมายของโครงการร่วมกันคือการลดความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งได้เปิดตัวโครงการไปแล้วเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพมหานคร โดยมีพื้นที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ จำนวน 1,008 แห่งทั่วประเทศ
นายสมชาย กล่าวต่อไปว่า นับจากนั้นเป็นต้นมาการขับเคลื่อนโครงการก็เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ปฏิบัติงาน การสร้างวิทยากรพื้นที่ การสนับสนุนงบประมาณ และองค์ความรู้ การส่งเสริมให้พื้นที่จัดกิจกรรมหรือโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง เพื่อสร้างกระบวนการ หรือกลไกในการป้องกันหรือช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว รวมทั้งสร้างสัมพันธภาพของครอบครัวอย่างสร้างสรรค์ภายใต้องค์ความรู้ในรูปของวัคซีนครอบครัว โดยมีสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เป็นกลไกใน การขับเคลื่อนในส่วนภูมิภาค จากผลการดำเนินงานใน 1 ปี สรุปผลลัพธ์ที่สำคัญของโครงการได้ดังนี้ 1) มีพื้นที่ที่ร่วมโครงการสามารถดำเนินงานผ่านเกณฑ์ตำบลเข้มแข็งไร้ความรุนแรง จำนวน 874 แห่ง (86.62% ของพื้นที่ที่ร่วมโครงการ) 2) มีวิทยากรหรือเครือข่ายระดับพื้นที่ทั่วประเทศ (ครู ก และครู ข) จำนวน 2,787 คน เพื่อขับเคลื่อนโครงการให้มีความต่อเนื่องในพื้นที่ 3) มีโครงการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นโครงการดีเด่น ดี และชมเชยระดับภาค 4 ภาค รวมทั้งสิ้น 12 โครงการ ซึ่งจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน หรือการดำเนินการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป 4) มีข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและความรุนแรงในครอบครัว จำนวน 773 พื้นที่ (76.61% ของพื้นที่ที่ร่วมโครงการ) ซึ่งข้อมูลนี้จะเป็นประโยชนต่อการวางแผนและการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในพื้นที่
นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวให้มีการขับเคลื่อนงานด้านสตรีและครอบครัวในพื้นที่จนสามารถผ่านเกณฑ์ การคัดเลือกเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่นด้านสตรีและครอบครัว จำนวน 134 พื้นที่ การมอบประกาศเกียรติคุณตำบลเข้มแข็งไร้ความรุนแรงและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่นด้านสตรีและครอบครัวในวันนี้ถือเป็นการประกาศความร่วมมือ และเป็นรางวัลสำหรับทุกส่วนที่ทำงานให้เกิดผลดีในพื้นที่อย่างแท้จริง นายสมชาย กล่าวท้าย
กิจกรรมในงานประกอบด้วย การเสวนา การจัดแสดงนิทรรศการโครงการที่ได้รับรางวัล พิธีมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณตำบลเข้มแข็งไร้ความรุนแรงและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่นด้านสตรีและครอบครัว ผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะทำงานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุม สื่อมวลชน จำนวน 1,200 คน