WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1คอรปชนคอโรคราย

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ : คอร์รัปชันเป็นโรคร้ายของประเทศ

  ไทยโพสต์  : หมายเหตุ : พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ เป็นประธานในการเปิดงานครบรอบ 60 ปี แห่งการสถาปนาคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2558

    ขอขอบคุณคณบดีที่กรุณาชวนมาในโอกาสครบรอบ 60 ปี ของคณะ ตามที่เราถือปฏิบัติกันมาการกล่าวเปิดจะเป็นแค่ข้อความสั้นๆ แสดงความยินดี ขออวยพรให้การจัดงานประสบผลสำเร็จ แต่ในวันนี้ ขออนุญาตคณบดีว่าขอพูดเรื่องที่จะเป็นประโยชน์ต่อคณะต่อชาติบ้านเมืองของเราบางเรื่อง

    ก่อนที่จะพูดเรื่องนั้น ตามที่คณบดีได้เล่าถึงนักศึกษาบางคน ที่เสียสละ และเสียชีวิตเพื่อชาติของเรา เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่น่ายกย่อง ชมเชยแก่ผู้ที่ทำประโยชน์ให้ชาติบ้านเมืองของเราเป็นอย่างมาก เรื่องที่ จะขอพูดเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับชาติบ้านเมืองของเรา

    โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ เมื่อ 60 ปีที่แล้ว คนไทยมีเพียง 17 ล้านคน แต่ถึงวันนี้ ได้เพิ่มมาถึง 67 ล้านคน  เพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า เพราะฉะนั้นขออนุญาตเรียนกับบรรดาข้าราชการทั้งหลายว่า พวกเราจะต้องปรับการพัฒนา การบริหารภาครัฐให้ดีที่สุด สอดคล้องที่สุดกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และปัญหาที่ประชากรเพิ่มขึ้นมาก

     แต่ก่อนนี้ประเทศของเราจะเรียกว่า เป็นประเทศผู้นำของ ภูมิภาค แต่ถอยหลังไปอย่างน้อย 10 ปี ประเทศของเราโชคไม่ดี มีปัญหาเยอะ เพราะฉะนั้นการพัฒนาจึงชะงักงัน แล้วเราก็ถอยหลัง จนกระทั่งไปอยู่ในหมายเลขที่ไม่น่าจะคงอยู่ เรื่องนี้ข้าราชการจำเป็นจะต้องช่วยกันดึงความเป็นผู้นำของเราในภูมิภาคกลับคืนมาให้ได้

    อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องการศึกษา โดยเฉพาะภาษาไทย ประเทศไทยจัดว่ามีปัญหาเรื่องภาษาไทย มีปัญหาทั้งพูดและเขียน นำภาษาอังกฤษมาใช้ในภาษาไทยแล้วก็แปลไม่ได้ว่าจะหมายความว่าอย่างไร ผู้ที่เกี่ยวข้องเรื่องภาษา เรื่องการศึกษา คิดว่าควรจะต้องไปดูว่าความเพี้ยนแปรของการใช้ภาษานี้ ควรจะปรับหรือควรจะมีคนกำหนดว่าอะไรควรใช้หรือไม่ควรใช้

     ขณะเดียวกัน เรื่องระบอบประชานิยม ว่าเป็นเรื่องที่มีปัญหา ที่ทำให้ประชาชนบางคนไม่คิดจะทำอะไรเอง คอยรับระบอบประชานิยมแล้วก็ทำร้ายประเทศของเรา ทำให้คนอ่อนแอ ปัญหาคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมในสังคมของเราเปลี่ยนไปอย่างไม่น่าเชื่อ

   "เด็กรุ่นใหม่บางคนบางส่วนและผู้ใหญ่อย่างน้อยหนึ่งคนพูดว่า การโกงไม่ใช่เรื่องเสียหาย ถ้เราได้ประโยชน์ เป็นเรื่องที่ไม่ควรพูดและเป็นการพูดซึ่งทำให้คนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า โกงก็ไม่เป็นไร" คนที่พูดแบบนั้น เป็นคนที่พูดเพื่อประโยชน์ของตนเองมากกว่า ประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งเราไม่ควรจะยอมรับ

    เรื่องที่จะพูดเป็นส่วนสุดท้ายในวันนี้ คือเรื่องที่เราเรียกกันว่า คอร์รัปชัน พูดว่าคอร์รัปชันนี้คนจะเข้าใจมากกว่าฉ้อราษฎร์บังหลวง จะใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยก็เหมือนกัน การฉ้อราษฎร์บังหลวง นี้เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศของเรา เป็นปัญหาที่นำความอับอายขายหน้ามาสู่ประเทศของเรา เพราะฉะนั้นคนไทยทุกคนที่ไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่คอร์รัปชันจะต้องช่วยกันปราบปรามเรื่องนี้

   เรามี ป.ป.ช. แต่ ป.ป.ช. ก็มีแรงไม่มากพอที่จะทำ เพื่อให้ ป.ป.ช.ทำงานได้เราต้องช่วย ป.ป.ช. นอกจากช่วย ป.ป.ช.แล้ว เราจะต้องสอนคนไทยให้เข้าใจว่า คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่ร้ายแรงที่สุด เป็นเรื่องขายหน้าที่สุดและจะปล่อยปละละเลยต่อปัญหานี้ไม่ได้ วิธีทำเพื่อช่วย ป.ป.ช.ในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

   "ต้องสอนให้คนเข้าใจว่า คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่เลวร้ายที่สุดเราจะต้องไม่ยอมให้ปัญหานี้มีอยุ่ในประเทศของเรา หรือมีก็ขอให้ น้อยที่สุด ต้องสอนให้คนรู้จักคุณธรรมจริยธรรม ให้รู้จักว่าคอร์รัปชัน นี้คือดรค ถ้าเปรียบก็เป็นโรคร้ายที่ยากมาก อาจจะรักษาไม่หายก็ได้"

    เคยไปพูดหลายแห่งว่า เราต้องเลิกเคารพนับถือ กราบไหว้ เลิกคบค้าสมาคมกับคนที่คอร์รัปชัน โดยคนบางสถาบัน บางกลุ่มได้แบ่งการคอร์รัปชันออกเป็นว่าเป็นการคอร์รัปชันเชิงอำนาจกับคอร์รัปชันเชิงผลประโยชน์ แต่คิดว่าจะขยายความอย่างไรก็ตาม

   คนที่คอร์รัปชันก็คือคนที่โกงชาติของเรา นั่นเอง คนที่คอร์รัปชันเป็นคนที่ทำให้เราขายหน้า เดินไปไหนเค้าก็ชี้หน้าว่าคนไทยเป็นคนที่คอร์รัปชันเก่ง เป็นการด่าเชิงชม บางคนที่ได้รับเลื่อนยศได้รับภาระสูงขึ้นไม่ใช่ เพราะว่าเก่ง แต่เพราะว่าใช้วิธีคอร์รัปชัน เอาประโยชน์ของ การคอร์รัปชันเป็นประโยชน์ของส่วนตัว

   คอร์รัปชันเป็นโรคร้ายของประเทศของเราเราต้องช่วยกันทำ อย่างที่เรียนแล้วว่าต้องเลิกนับถือคนพวกนี้ แม้ว่า เค้าจะรวยอย่างไร เลิกกรอบไหว้เคารพเลิกทุกอย่างให้เค้าเห็นว่าเป็นที่น่ารังเกียจของคนไทย ทุกคนที่ไม่คอร์รัปชันไม่โกงชาติบ้านเมือง สิ่งสำคัญที่ประสงค์ที่จะมาพูดในวันนี้คือ เราต้องช่วยกับปราบปรามการคอร์รัปชันในยุคของเรา ในชั่วชีวิตของเรา

     ในการบริหารประเทศ รัฐบาลเป็นผู้นำเป็นผู้กำหนด ทิศทางการบริหารประเทศ โดยมีภาครัฐคอยเอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐจึงเป็นฝ่ายนำใคร่ขอร้องในที่นี้ว่า ไม่ว่าท่านจะอยู่ในตำแหน่งใดหน่วยใด ขอโปรดทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเอง แต่มุ่งเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง

     ทำตนให้ประขาชนรู้สึกว่า จะหวังพึ่งพวกเราที่เป็นข้าราชการได้ ที่จะช่วยให้หายจากความยากจนไปบ้างพอสมควร วิธีทำที่เคยใช้มาคือเริ่มที่ตัวเราเองก่อน  ประพฤติตนเป็นคนดี เห็นประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่า ส่วนตัว เป็นตัวอย่างที่ดี การทำตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีนี้เป็นวิธีทำงานที่ยังประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมมากที่สุดและไม่มีต้นทุน

    ขอให้กำลังใจแก่คณบดี และคณาจารย์ทั้งหลายของคณะรัฐประศาสนศาสตร์ และใคร่ขอความเมตาจากท่านทั้งหลายว่า โปรดเน้นเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมควบคู่ไปกับการสอนทางวิทยาการ โดยเน้นเรืองการฉ้อราษำร์บังหลวง มั่นใจว่าการสัมมนา ทางวิชาการในครั้งนี้จะแก้ปัญหาต่างๆ ได้มากพอสมควร และเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินอันเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน

ทุนเสรีนิยมมีกิเลสตัณหานำทาง

     หมายเหตุ : ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาประเทศ ในงานครบรอบ 60 ปี แห่งการสถาปนาคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2558

    การตั้งหัวข้อเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาประเทศนั้น ถือว่าเป็นเรื่องถูกต้อง เพราะทั้งสองสิ่งเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันอย่างปฏิเสธไม่ได้ และตนก็ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น การพัฒนาประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 เป็นต้นมา มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 เราได้มีแผนพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบ โดยใช้แผนพัฒนาเป็นเครื่องนำทาง ดำเนินการเหมือนกับนานาประเทศที่มุ่งเอาความร่ำรวยเป็นเป้าหมาย เน้นการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ

     จนกระทั่งถึงจุดเปลี่ยนคือในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 แต่ทุกวันนี้ก็เช่นกัน หากเปิดหนังสือพิมพ์ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงความปริวิตกจากหน่วยงานต่างๆ ว่าในปีหน้าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งยังเป็นการฝังแนวคิดมาจนถึงบัดนี้ ตั้งแต่แผนฉบับที่ 1-7 เราได้ยึดแนวทางนี้มาโดยตลอด

    อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก ฯพณฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษนั้น ทำให้ผมได้บทเรียนจากท่านมาอย่างมากมาย ได้มีโอกาสในช่วงปี พ.ศ. 2515-2517 ในขณะที่ ฯพณฯ พล.อ.เปรม ดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ได้มีโอกาสทำหน้าที่เป็นเลขานุการในงานพัฒนาด้านความมั่นคง ในขณะนั้นได้สัมผัสถึงต้นตอถึงสิ่งที่เราเรียกว่าการก่อการร้าย ในเรื่องของการชักจูงให้หลงผิดในลัทธิ ศรัทธาในความหวังใหม่ๆ

   อย่างไรก็ตาม พื้นฐานของปัญหานั้นคือความยากจน ซึ่งความยากจนนั้นนอกจากจะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นปัญหาในเชิงสังคมด้วย และผมได้เรียนรู้ว่าความยากจนยังเป็นรากเหง้าของปัญหาความมั่นคงของประเทศด้วย ผมเห็นว่ากรอบคิดดังกล่าวยังไม่เคยเปลี่ยนจนถึงทุกวันนี้ เรื่องประชาธิปไตยหรือสิ่งต่างๆ เป็นเรื่องแค่เพียงเปลือกนอก ปัญหาที่ล้ำลึกนั้นก็คือ ความยากจน

    จะเห็นได้ว่าตลอดเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์มานั้น พระองค์ทรงมุ่งเน้นที่จะขจัดความยากจน ตามที่ทรงเคยให้

   สัมภาษณ์ช่องบีบีซีจากคำถามที่ว่า ทรงต่อสู้กับคอมมิวนิสต์อยู่หรือ พระองค์ท่านทางรับสั่งตอบว่า เราไม่ได้ต่อสู้กับคอมมิวนิวนิสต์แต่เราต่อสู้กับความหิวโหย ความยากจนเป็นเรื่องสำคัญเป็นเรื่องหัวใจแม้กระทั่งบัดนี้ ตราบใดที่ยังยากจนอยู่ เรื่องทุจรติคอร์รัปชัน เรื่องหวังประโยชน์ เรื่องประชานิยม ก็ยังคงอยู่อย่างนี้ เพราะยังคงต้องการแสวงหาสิ่งต่างๆ ผมยังจำได้ว่าเมื่อ ฯพณฯ พล.อ.เปรมมาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้จัดการกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ โดยตั้งคณะกรรมการเพื่อขจัดความยากจนเป็นพิเศษ และอย่างไรก็ตาม เราก็ต้องยอมรับว่าความยากจน ปัญหาการกระจายรายได้ยังคงเป็นปัญหามาจนกระทั่งทุกวันนี้ และปัญหาที่ตามมานอกเหนือจากการทุจริตคอร์รัปชัน คือปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติการบุกรุกป่า ที่ดิน ทำลายแหล่งน้ำ เอื้อผลประโยชน์ส่วนตัว มีให้เห็นอยู่ทั่วไป

    ปัญหาความล้าหลังของภาคเกษตรกรรมที่ตั้งขึ้นกับดิน ฟ้าอากาศ ซึ่งยังโยงไปถึงปัญหาทางด้านการเมืองด้วย ความเหลื่มล้ำในสังคมก็เกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ๆ จากปัญหาต่างๆ เหล่านี้จะเห็นได้ว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมุ่งเน้นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรให้มีความยั่งยืน หากได้นำสิ่งที่พระองค์ทรงสอนเอาไว้นำไปใช้ ปัญหาต่างๆ คงทุเลาลงไปได้มาก ขอให้ได้ลงมือปฏิบัติ คืนบุญคุณให้แก่แผ่นดิน

   ในช่วง พ.ศ. 2537 ผมได้ถูกเรียกตัวกลับไปเป็นเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) จำได้ดีเลยว่า อัตราความเจริญเติบโตที่ทั่วโลกได้ยึดถือ ประเทศไทยสามารถทำได้ถึง 11 กว่า ซึ่ง อยู่ในช่วงครึ่งแผนของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 และกำลังเตรียมทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ต่อไป

    อัตราความเจริญเติบโตสูงสุดเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2539 ที่ 11.7 แต่ก็เป็นเรื่องที่แปลกว่า ทำไมเมื่อรวยแล้วถึงพินาศ เป็นปัญหาที่คนทั่วโลกควรจะหาคำตอบ แต่ในขณะนี้เมื่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้นหน่อย ก็เบรกกันตัวโก่ง ทั้งจีน ทั้งเวียดนาม ก็เป็นไปตามนี้

    เมื่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปสู่จุดสูงสุด สุดท้ายแล้วก็จะแตก หรือที่เราเรียกกันว่า เศรษฐกิจฟองสบู่ เพราะตัวมันเหมือนฟองสบู่ ที่แท้ข้างในไม่มีอะไรเลย อัตราความเจริญของไทยในช่วงที่สูงนั้นไม่มีฐานอะไรรองรับเลย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานสอนว่า เปรียบง่ายๆ ว่าเหมือนการสร้างบ้านที่ไม่มีเสาเข็มรองรับ เราเพลินกันต่อชั้นขึ้นไป ต่อบ้านไปเรื่อย ขยายบ้านไปเรื่อย แต่ไม่ได้วางฐานรองรับไว้เลย

      ฐานที่ว่านี้คือ ฐานเงินเป็นเบื้องต้น ฐานทางด้านมนุษย์ก็จำเป็นจะต้องมี ฐานทางด้านเทคโนโลยีทุกสิ่งทุกอย่างนี้มันจะต้องฝังเป็นเสาเข็มเอาไว้ เราถึงจะสร้างบ้านเมืองของเราให้แข็งแรง มั่นคงและยั่งยืนตลอดไปได้ แต่นี่เราโตแค่ความรู้สึก โตด้วยอารมณ์ของกิเลสตัณหาและแสวงหาความอิสระอย่างไร้ขอบเขต เป็นที่นิยมกันมากว่าความอิสรเสรีภาพนั้นเราจะต้องมี แต่ลืมคิดไปว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมันจะมีสิ่งที่ต้องพูดถึงด้วยพร้อมๆ กัน ซึ่งพวกเราคนไทยไม่คอยจะเอ่ยถึงนั้นคือระเบียบและวินัย

    เมื่อไม่มีระเบียบและวินัยเราก็ได้อิสรภาพทางด้านการเงินกันอย่างเสรี ซึ่งทุกคนทุกหน่วยงานเรียกร้อง แต่ลืมถามถึงตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้นว่ามีความพร้อมหรือไม่ ในฐานะที่ขณะนั้นเป็นเลขาธิการ สคช. ก็ตอบเลยว่าเรายังไม่พร้อม กฎหมายล้าหลัง ความทันสมัยที่พร้อมจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงยังไม่มี เมื่อมองด้านฝ่ายการเมืองท่านมา ในเดือนๆ จะออกกฎหมายได้มากี่ฉบับ ประชุมเยอะ แต่เท่าที่สังเกตกฎหมายไม่ค่อยออก มัวแต่ทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นหลัก

     จากอิสรภาพนั้นเองทำให้เกิดการทุจริตเพราะมีเงินเข้ามาอ้างมากมายก่ายกอง ซึ่งก็เกิดขึ้นในหลายรูปแบบ จากที่ควรจะนำเงินไปทำให้งอกเงยได้นั้น เราก็เจอกับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล หมายความว่า เอาเงินเข้ามาแต่ไม่ทำให้ก่อประโยชน์ เอาไปโกงกิน แจกเป็นโบนัสกัน สร้างตึกซื้อรถแจกกัน สรุปว่าไม่ได้ใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เพื่อผลประโยขน์ของกลุ่มของตัวเองเท่านั้น ผลสุดท้ายวิกฤติเศรษฐกิจก็เกิดขึ้น

    วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเริ่มต้นจากการขาดบัญชีดุลเดินสะพัด การส่งออกหดตัวจาก 24 หรือ 19 หนี้ต่างประเทศก็มีเยอะ ลงทุนเกินตัว โดยเฉพาะในอสังหาริมทรัพย์ เมื่อนึกย้อนไปในปีดังกล่าว คอนโดฯ ที่ดิน เปลี่ยนมือกันอย่างรวดเร็ว มันเป็นสิ่งที่ไม่มีฐาน ซื้อมาแล้วก็ขายไป แล้วก็ซื้ออีก

     ทุกคนสนุกสนาน เงินก็สะพัด แต่เป็นไปแบบไร้ขอบเขต ไร้ระเบียบ ไม่มีรากฐาน ประสิทธิภาพในการดำเนินงานทางการเงินของธนาคารมีปัญหาทั้งหมด มีการทุจริตคอร์รับ'ชันตลอดจนไม่สามารถตรวจสอบได้ รวทถึงการโจมตีค่าเงินบาท ผลสุดท้ายผลกระทบต่างๆ ก็เกิดขึ้น เรามองเห็นว่าคงไปต่อแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งขณะนั้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ได้ทำเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งได้เปลี่ยนจากการพัฒนาทางด้านความเจริญทางเศรษฐกิจ เป็นการพัฒนาที่เอาคนเป็นศูนย์กลาง

   แต่ก็ไม่ทันการณ์ การพัฒนาประเทศก็หยุดชะงักลง เกิดความพินาศทางด้านเศรษฐกิจ จากที่เคยพัฒนาถึง 11.7 กลับกลายเป็นติดลบ ถ้าจำตัวเลขไม่ผิด ไทยเป็นหนี้กว่า 4 ล้านล้านบาท ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งในปี พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นที่ถกเถียงของเหล่านักวิชากการ เศรษฐกิจพอเพียงนี้เป็นเรื่องของคนจน ส่วนคนรวยต้องทุนนิยมเสรีนิยม ขอยืนยันว่าเศรษฐกิจไม่ต้องไปทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ หากเป็นเกษตรกรอยู่แล้วก็เชิญ

    ในเวลานี้เมื่อสื่อออกไป จะเห็นได้ว่าศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงเกิดขึ้นทั่วประเทศ เมื่อเข้าไปก็จะเห็นรูปเหมือนกันหมด คือมีการยกแปลงผักปลูกกระต๊อบ เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่อยู่ มีวัวมีควาย แล้วบอกว่านี่คือเศรษฐกิจพอเพียง ก็ขอกรอบเรียนว่าไม่ผิด แต่เป็นสิ่งที่เหมาะกับเกษตรกร ถ้าทุกคนต้องทำก็รับราชการไม่ได้ ทำธุรกิจก็ไม่ได้ ทุกคนคงต้องลาออกแล้วไปทำไร่ทำนา มันก็ไม่ใช่อย่างนั้น พระองค์ท่านทรงพระราชทานธรรมะปฏิบัติหรือปรัชญาที่จะยึดเหนี่ยวให้เราปฏิบัติตนไม่ว่าจะไปทำอะไร

    ยิ่งมีการพัฒนาแล้วยิ่งจนนั้น ก็หมายถึงการพัฒนาที่ทำไม่สอดคล้องกับพื้นฐนของเราเอง และมักจะตามแนวทางของโลก คำว่าโลกาภิวัฒน์ (Globalization) หลายคนคงเข้าใจผิด ว่าอีกฟากโลกหนึ่งทำอะไรเราก็ทำตาม เขาจะเป็นอะไรเราก็ต้องเป็นตาม จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่โลกาภิวัฒน์นั้นมันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อทั่วโลกเขาเป็นอย่างนี้แล้วเราจะอยู่กับเขาได้อย่างไร เราจะต้องพิจารณา

     บทเรียนแรกที่ ฯพณฯ พล.อ.เปรมได้ตั้งให้ผมเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงทราบว่าทางราชการได้ส่งข้าราชการมาถวายงานก็ทรงเรียกผมเข้าไปในฐานะข้าราชการคนนั้น พระองค์ทรงรับสั่งว่า

     มาทำงานกับฉันนั้น ต้องระวังและให้ความเคารพคำว่า "ภูมิ-สังคม" การพัฒนานั้นจึงต้องทำให้สอดคล้องกับภูมิประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติ สอดคล้องกับทุนที่เรามีอยู่ เช่น สวิตเซอร์แลนด์เป็นเมืองภูเขา อยู่ใต้หิมะ 3 เดือน ระหว่าง 3 เดือนที่เขาอยู่ในบ้าน เขาก็นั่งทำเครื่องจักร นาฬกิกาไป พอหิมะละลายก็หิ้วของไปส่ง ไปประกอบเข้าเป็นเรือน  ลักษณะภูมิประเทศ สิ่งแวดล้อมมีอิทธิผลต่อการประกอบอาชีพ การดำรงชีวิตและวิถีการพัฒนา

    ประเทศไทยไม่ค่อยจะเป็นอย่างนั้น วันดีคืนดีเราลุกขึ้นมาบอกว่าเราอยากเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIC) วันดีคืนดีเราก็ไปต่อคิวกันจะเป็นเสือตัวที่ 5 ก็ไม่เป็นไรเพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและเราก็ได้รับบทเรียนแล้ว

    แต่ถ้าทำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานไว้ พระองค์ทรงติดเครื่องมือทางความคิดให้กับเรา โดยไม่ได้แบ่งว่าใครจะทำเกาตร ทำธุรกิจ หาบเร่ หรือจะเป็นเจ้าของโรงงานใหญ่ จะรับราชการ จะเป็นผู้บริหารประเทศ ก็สามารถใช้เศรษฐกิจพอเพียงได้

     ขอเน้นย้ำว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นธรรมะ พระองค์ท่านทรงพระราชทาน 3 คำให้เราคิด คือพอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกัน อันนี้คือธรรมะหลัก ท่านจะปกครองประเทศ บริหารตัวเอง บริหารธุรกิจ หรือจะทำอะไรก็แล้วแต่เริ่มจาก 3 นี้ก่อน

     พอประมาณนั้น เราคงเคยได้ยินผู้ใหญ่สอนเราว่าทำอะไรก็ให้ประมาณตัว อย่าทำอะไรเกินตัว ดังนั้น ก้าวแรกที่จะทำอะไรก็คือ ต้องประเมินตนเองก่อน ต้องรู้ทุนตัวเองก่อน ท่านนายกรัฐมนตรีก็ต้องประเมินชาติบ้านเมืองก่อนว่าจะเดินไปในทิศทางไหนก็ต้องดุทุนของเราก่อน

    ถ้าจะบริหารตัวเองก้ต้องทำ Self Assessment ถ้าจะบริหารประเทศก็ต้องทำ Nation Assessment ถ้าจะบริหารธุรกิจก็ทำ Business Assessment ก่อน เมื่อทำเสร็จแล้วก็จะรู้ทุน ซึ้งสามารถนำมากำหนดทางสายกลางของแต่ละคนแต่ละประเทศ แต่ละองค์กรนั้นไม่เหมือนกัน ของใครก็ของเขา แล้วแต่ทุนแล้วแต่พื้นฐาน ถ้าตอกเสาเข็มไว้เยอะก็ต่อชั้นได้สูง

     ในวันที่เราจะเป็นเสือตัวที่ 5 ถ้าหากวันนั้นเราเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียง เขามีเกาหลี สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง เราควรจะต้องหยุดชะงักสักนิด แล้วเริ่มประเมินตัวเองประเทศต่าง ๆ นี้เขาเป็นเสือ ธรรมชาติของเสือเป็นสัตว์กินเนื้อ เสือนั้นเป็นสัญลักษณ์ของอุตสาหกรรม

     เราเป็นอะไร เมื่อลองดูพื้นฐานไม่ว่าทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ความถนัด รวมถึงแรงงานของเราไปอยู่ในภาคเกษตรถึง 80 กว่าเปอร์เซ็นต์เราไม่ใช่เสือ แต่เราเป็นสัตว์อีกประเภทหนึ่งที่เป็นตัวแทนของการเกษตรแต่คนรังเกียจที่จะเป็น จะเรียกว่ากระบือหรือโคก็แล้วแต่ เป็นสัตว์ 4 กระเพาะ ที่กินพืชเป็นหลัก

    ประเทศไทยปลูกข้าวเก่งที่สุดในโลก เลี้ยงสัตว์เก่งที่สุดในโลก จับปลาเก่งที่สุดในโลก เกลี้ยงทั้งอันดามัน ทั้งอ่าวไทย เลยไปถึงไปจับในประเทศอื่น ๆ เรามีผลไม้ที่หลากหลาย ความถนัดของเราไม่ใช่อุตสาหกรรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยรับสั่งว่า ถ้าทำอุตสาหกรรม ก็ต้องเป็นอุตสาหกรรมทางอาหาร ลองตัวอย่างก็แล้วกัน โดยไม่ต้องเอ่ยชื่อบริษัท ที่อยู่ในภาคการเกษตรและอาหารนั้น รวยทั้งสิ้น แต่ภาวะที่เกิดขึ้นก็ต้องรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง อย่าไปหยุดอยู่กับที่

    ประเทศไทยพัฒนามาแค่ปฐมฐาน หมายถึงว่า ผลิตข้าวใส่กระสอบไปขายอย่างเดียว ไม่เคยคิดที่จะแปรรูป ยางก็เช่นกัน เป็นยางแผ่นยางก้อน แต่ก็ดีใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวมาถึงเรื่องแปรรูป แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ มันจะต้องมีงานวิจัย มีนวัตกรรมมาตอบสนอง ซึ่งมีกระบวนการเยอะ แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องมุ่งไปในทิศทางนี้ เพิ่มมูลค่าขึ้นมาให้ได้

   ดังนั้น หลังจากประเมินต้นทุน เมื่อรู้ตัวแล้วก็มาวางวิถีที่จะดำเนินต่อมาก็จะต้องใช้เหตุผล ซึ่งมาจากสติและปัญญา หากปราศจากสติและปัญญาแล้ว เหตุผลไม่เกิด ตามภาวะปกติที่ใช้ทุนนิยมเสรีนิยม ขอพูดอย่างไม่เกรงใจเลยว่า

    มีกิเลสตัณหาเป็นเครื่องนำทาง มีแต่ความอยาก กำไรสูงสุด กอบโกย ใช้เยอะ ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างจะมุ่งไปอย่างนั้น ผลสุดท้ายก็ทำลายทรัพยากรที่อยู่รอบ ๆ ตัวเราที่มีอยู่อย่างจำกัด คนก็มากขึ้น แต่ทรัพยากรมีเท่าเดิม แถมถูกทำลายไปอีก สหประชาชาติบอกว่า อีก 30 ปีข้างหน้า ประชากรจะกระโดดจาก 7,400 ล้านคน จะกระโดนไปเป็น 9,000 ล้านคน รวมถึงยังจะมีภาวะโลกร้อน

     ประเทศไทยมีทรัพยากรอย่างเหลือเฟือ ขนาดบุกรุกทำลายกันตลอด ขอเพียงอย่างเดียวให้บริการให้เกิดประโยชน์ขึ้นมาตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยรับสั่งไว้ว่า "เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" นั้น เป็นสิ่งที่สะท้อนอย่างดี ถ้าทุกระเบียดนิ้วของแผ่นดิน ทุกบาททุกสตางค์ที่เราสร้างขึ้นมานั้นนำไปสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้น

     ความสุขย่อมจะต้องเกิดขึ้น แต่ถ้ามัวแต่จะโกงกินกัน ลงไป 100 ตกไปถึงประชาชนแค่ 10-20 บาท การพัฒนาก็คงจะอยู่ได้อย่างนี้ คนอื่นก็แซงหน้าไปหมด เราอยู่กับที่ จะปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อคงไม่ได้แล้ว การใช้เหตุผลนั้นจะทำให้เราอยู่ในเส้นทางสายกลางของความพอดี

     ความสมดุล มั่นคง ยั่งยืนเป็นส่วนล่าง ดีกว่าร่ำรวยแล้วเป็นเอ็นพีแอล อย่างที่เราเจอมาแล้ว แต่เราจะทำอย่างไรให้การเจริญทางเศรษฐกิจพอสมควร ให้มีความยั่งยืน มีเสถียรภาพในระยะยาว เป็นสิ่งที่ผู้คนในโลกนี้มีความปรารถนามากกว่าซึ่งสอดคล้องกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

    ส่วนภูมิคุ้มกันที่ทรงสอนไว้คือ เป็นการระมัดระวังแม้ว่าจะทำดีแล้ว ทำถูกต้องครบถ้วนทุกอย่าง แต่เราก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ เหตุการณ์อะไรที่เราไม่นึกไม่ฝัน สามารถเกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา ในโลกนี้ล้วนแล้วแต่มีความแปรปรวนอยู่สูงมาก ดังนั้น ต้องมีภูมิคุ้มกันต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท

    เงื่อนไขเรื่องคุณธรรมที่ทรงกำหนดไว้ ก็ตรงกับที่ ฯพณฯ พล.อ.เปรมได้กล่าวไว้ ถ้าหากเราไม่สามารถเข้ามาจัดการ ไม่กล้าใช้คำว่าตัดปัญหาทุกจริตออกไปจากประเทศเพราะกิเลสของคนเรายังมีอยู่ แต่อย่างน้อยให้อยู่ในขนาดที่ควบคุมได้ ขอเพียงแค่นี้ ประเทศชาติจะลืมตาอ้าปากได้ จะกลับมาที่หัวแถวตามเดิมได้อย่างง่ายดาย เพราะเรามีพร้อมทุกอย่าง ระบบการบริหารที่ยังแย่อยู่ก็เพราะจุดนี้ ผมเห็นการเอารัดเอาเปรียบ การแย่งชิงทรัพยากรกันอย่างไม่หยุดยั้ง ประเทศชาติอยู่ไม่ได้

    เราเรียกร้องแต่ประชาธิปไตย เรียกร้องแต่เสรีภาพ แต่ไม่เคยเอ่ยถึงคำว่าระเบียบและวินัย กฎหมาย บ้านเมืองไหนไม่มีสิ่งเหล่านี้เป็นไปม่ได้ ในความรู้สึกต้องกลับกัน โดยเรียกร้องระเบียบวินัยและความเสมอภาคทางด้านกฎหมายก่อน และประชาธิปไตยจะมาเอง ไม่ต้องเรียกร้องมันก็มาเอง แต่เรากลับเอาสิ่งนี้ไปไว้ทีหลัง หรือเฉย ๆ ไม่เรียกร้องเลย อิสรภาพทำอะไรก็ได้ อย่างนี้บ้านเมืองคงไปไม่ไหว

    ขอสรุปว่า การพัฒนาประเทศกับเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ขอฝากเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไว้อีกสักนิด เป็นเรื่องที่พูดกันเยอะว่าใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องนำทาง กระทรวง ทบวง กรมก็ประกาศ หลายองค์กรก็ประกาศ แต่เวลาปฏิบัติจริง มองไม่เห็นว่าปฏิบัติอย่างไร มีประกาศดูให้เป็นเรื่องสวยงาม แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ที่ได้ไปวางไว้เป็นต้นมาใช้คำเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องนำทางทั้งนั้น

    แต่ปัญหา คือ เวลานี้เราไม่ได้นึกถึงแผนพัฒนาฯ แผนวางก็วางไป เมื่อมีฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง แผนพัฒนาฯ ของทางราชการก็หมดความหมายไป ต่อให้วางยังไงก็ไม่มีใครไปเอ่ย วางไว้โก้ ๆ เล่น ๆ เพราะฉะนั้นอยากจะฝากไว้ว่า เราจะต้องเปลี่ยนสภาพของแผนพัฒนาฯ ให้สอดคล้องกับธรรมชาติใหม่หรือไม่ จะวางไว้ทำไมเมื่อไม่มีคนใช้....

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!