- Details
- Category: บทวิเคราะห์สังคม
- Published: Saturday, 01 August 2015 11:09
- Hits: 8462
ปัญหาระบบอุปถัมภ์ในไทย และจุดอ่อนด้านดิจิตอลกับความหลากหลายในองค์กร คือสิ่งที่บอร์ดต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองความท้าทายของธุรกิจในวันนี้
ผลสำรวจฉบับล่าสุดของแกรนท์ ธอนตัน เผยความท้าทายของคณะกรรมการบริหารทั่วโลก ที่จำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพเพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจยุคดิจิตอลและสังคมการทำงานที่มีความหลากหลายในปัจจุบัน รายงานผลสำรวจยังเน้นถึงประเด็นเกี่ยวกับโอกาสที่สำคัญ ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานและการเติบโตสำหรับผู้ที่กำลังพบกับความท้าทายดังกล่าว นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่า หากคณะกรรมการบริหารไม่มีการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในเรื่องดังกล่าว อาจต้องประสบปัญหาในการพยายามอย่างหนัก ในการให้คำแนะนำที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ทีมบริหารในโลกเศรษฐกิจปัจจุบัน ที่มีความหลากหลายทั้งในด้านความคิดและทักษะการทำงาน
รายงานผลสำรวจเรื่อง Corporate governance: the tone from the top ซึ่งทำการสัมภาษณ์ ผู้บริหารระดับสูงและสมาชิกในคณะกรรมการบริหารจากทั่วโลกพบว่า สมาชิกคณะกรรมการบริหารในอุดมคติที่ผู้ตอบแบบสำรวจทั่วโลกปราถนาได้ คือเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่กำลังจะเข้ามาทำงานคือปัจจัยสำคัญอันดับที่หนึ่ง โดยสูงถึงร้อยละ 62 ทั้งนี้ เสียงสนับสนุนส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประเทศในแถบอาเซียน (ร้อยละ 77) กลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิกที่พัฒนาแล้ว (ร้อยละ 71) กลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียแปซิฟิก (ร้อยละ 70) ประเทศญี่ปุ่น (ร้อยละ 71) และในประเทศไทย (ร้อยละ 89) แต่ยังไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญมากนักสำหรับกลุ่มยูโรโซน (ร้อยละ 55) และในสหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 45) อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์ผู้ร่วมสำรวจที่เป็นคณะกรรมการบริหารพบว่า ต่างมีความกังวลอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับการที่คณะกรรมการในปัจจุบันยังขาดประสบการณ์และความรู้ด้านเทคโนโลยี
สุมาลี โชคดีอนันต์ หุ้นส่วนและหัวหน้าสายงานตรวจสอบบัญชีของแกรนท์ ธอนตันในประเทศไทยให้ความเห็นว่า "ในประเทศไทย คณะกรรมการบริหารมักได้มาจากระบบอุปถัมภ์และเครือญาติมากเกินไป สิ่งนี้เป็นเรื่องที่เรายังคงประสบพบเจออยู่ในหลายๆ บริษัท ซึ่งจากรายงานของเราแสดงให้เห็นว่า ร้อยละ 86 ของผู้ร่วมสำรวจที่เป็นสมาชิกในคณะกรรมการบริหารนั้น ต้องการผู้ที่เข้ามาและสามารถนำเสนอความคิดใหม่ๆ เพื่อช่วยท้าทายความสามารถของทีมบริหารได้ แต่สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องที่อาจะเกิดขึ้นได้ยาก หากยังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ความเป็นไปได้ในการเติบโตและเรื่องของนวัตกรรมยังคงอยู่ในเกณฑ์ต่ำ"
สุมาลี กล่าวต่อว่า "บทบาทของคณะกรรมการบริหาร ไม่ใช่เพียงแค่เป็นผู้กำหนดทิศทางหรือกลยุทธ์ในการบริหาร แต่ยังต้องสามารถเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำทีมบริหารได้อีกด้วย แต่ปัจจุบันการขาดความเข้าใจในเรื่องดิจิตอลเทคโนโลยีของคณะกรรมการกำลังกลายเป็นช่องโหว่ ดิจิตอลเทคโนโลยีก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในตลาดรวมถึงวิธีการทำธุรกิจของเรา แต่มันไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเลยในภาพของคณะกรรมการบริหาร การที่เรื่องของดิจิตอลเทคโนโลยีถือได้ว่ามีอิทธิพลต่อผู้ประกอบการธุรกิจเป็นอย่างมาก เพราะสามารถช่วยให้เกิดความคิดและนวัตกรรมใหม่ การจัดการเรื่องดังกล่าวในระดับเชิงกลยุทธ์ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับบริษัทที่มีความสนใจในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อผลักดันการเติบโต แม้ความจริงเกี่ยวกับประสบการณ์และความสามารถของคณะกรรมการในการวางแผนเพื่อธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้น ยังคงเป็นสิ่งสำคัญเช่นเคย แต่อาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เหมาะสมตามสถานการณ์ในศตวรรษที่ 21 นี้ด้วย"
"สิ่งหนึ่งที่คณะกรรมการสามารถทำได้ คือการใช้หรือปรึกษาผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องเทคโนโลยี เช่น Chief Digital Officers ซึ่งนอกจากเรื่องความสามารถแล้ว ยังต้องมีการให้อำนาจในการจัดการที่เหมาะสมด้วย หากธุรกิจของคุณมีเพียงผู้บริหารระดับล่างหรือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการที่รับผิดชอบเรื่องดิจิตอลเท่านั้น ธุรกิจของคุณก็ไม่ต่างจากมีคนที่มีศักยภาพแต่ไม่สามารถแสดงออกมาได้ ซึ่งเรื่องนี้สามารถสะท้อนออกมาเห็นผ่านกระบวนการสรรหา การผสมผสานความสามารถในการทำงาน และการพัฒนาบุคลากรที่สอดคล้องกัน เพราะบริษัทที่มีคณะกรรมการบริหารซึ่งมองการณ์ไกลในเรื่องดิจิตอล มักอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบกว่า เนื่องจากมีโอกาสที่จะเปิดรับและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลักดันกำลังการผลิตและประสิทธิภาพของการทำงาน"
นอกจากนี้ ผลสำรวจฯ ยังเผยถึงช่องว่างระหว่างความเข้าใจและความจริงเกี่ยวกับสัดส่วนของเพศชายและหญิงในคณะกรรมการบริหาร โดยขณะที่สัดส่วนฝ่ายชายนั้นมีจำนวนสูงมาก แต่กลับมีเพียงแค่ 6 คนของคณะกรรมการที่เข้าร่วมสำรวจเท่านั้นที่เป็นผู้หญิง แม้ว่าร้อยละ 68 หรือมากกว่าสองในสามของผู้นำทางธุรกิจทั่วโลก เชื่อว่าพวกเขาได้ทำหน้าที่ส่งเสริมเรื่องของความหลากหลายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว โดยในอาเซียนนั้น ประเทศไทยมีคะแนนผลสำรวจมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ถึงร้อยละ 89 ที่ส่งเสริมในเรื่องความหลากหลายดังกล่าว
สุมาลี กล่าวเสริมว่า "ระบบอุปถัมภ์และเครือญาติ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้นในองค์กร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน เพราะแม้ว่าเราได้กลุ่มคนที่มีความคิดเหมือนกันมาทำงาน แต่เราก็จะไม่ได้แนวคิดใหม่ๆ เพื่อท้าทายและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงานที่มีอยู่เดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะกรรมการส่วนใหญ่ต้องการเห็น ความหลากหลายในองค์กรสามารถช่วยสร้างโอกาสที่ดีแก่ธุรกิจได้ หลักฐานได้แสดงว่าคณะกรรมการบริหารที่มีสัดส่วนผสมผสานทั้งหญิงและชายนั้น ย่อมดีกว่าคณะกรรมการที่ขาดความหลากหลายหรือโอนเอียงแค่เพศเดียว ซึ่งอาจมีแนวโน้มในการตัดสินใจแบบ Groupthink หรือการที่สมาชิกต่างเห็นด้วยไปกับทุกสิ่งทุกอย่างที่คณะกรรมการส่วนใหญ่ต้องการ และเรื่องของความหลากหลายนั้นก็ไม่ใช่แค่เรื่องเพศเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประสบการณ์ ความรู้และความคิด ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญ แต่วิธีการที่จะช่วยให้แน่ใจว่า การคัดเลือกทีมบริหารดังกล่าวจะมีสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างเพศชายและหญิง ก็คือการช่วยสร้างโอกาสในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารสำหรับผู้หญิง ที่น่าจะเป็นกระบวนการสำคัญในการช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ถูกต้อง"
"มันเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการประเมินคณะกรรมการบริหารว่าพวกเขาประกอบด้วยใครบ้าง วิธีการดำเนินงาน วัฒนธรรม และความรู้ของพวกเขา เพราะคณะกรรมการก็เหมือนกระจกที่สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการดูแล การดำเนินธุรกิจและสภาพสังคมที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งอยู่ ซึ่งโอกาสที่แท้จริงนั้น จะมีไว้สำหรับผู้ที่ประสบความสำเร็จในการปรับตัวดังกล่าว"