- Details
- Category: บทวิเคราะห์สังคม
- Published: Wednesday, 01 July 2015 23:20
- Hits: 10480
ปตท.-วพน. จับมือชุมชนต้นแบบท่ามะนาว บูรนาการระบบผลิตและจ่ายก๊าซชีวภาพชุมชน
ประโยชน์ร่วมชุมชน 130 ครัวเรือนใช้ก๊าซชีวภาพกำลังส่งไกล 4 กิโลเมตร ลดการใช้แอลพีจีครัวเรือนกว่า 7,936 กิโลกรัมต่อปี ลดใช้ดีเซลผลิตไฟฟ้าในฟาร์มมูลค่ากว่า 50,000 บาทต่อปี และลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 56.88 ตันต่อปี มั่นใจศักยภาพท่ามะนาวพัฒนาระบบบริหารจัดการพลังงานชุมชนยั่งยืนสู่จุดเรียนรู้ระบบก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกร ซึ่งได้รับรางวัล Energy Awards กระทรวงพลังงาน
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดและส่งมอบระบบก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกร โดยมีนายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี กล่าวต้อนรับ และนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้แทนกลุ่ม ปตท.และผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงรุ่นที่ 3 ของสถาบันวิทยาการพลังงาน (วพน. 3) กล่าวถึงวัตถุประสงค์การดำเนินงาน
ดร.สุเมธ เปิดเผยว่า โครงการระบบก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกรชุมชนท่ามะนาวเกิดจากการที่ชุมชนท่ามะนาวได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการใช้ก๊าซชีวภาพภายในครัวเรือนจากฟาร์มสุกร จึงได้ร่วมกับ 'กลุ่มอาทิตย์'ในหลักสูตรอบรมผู้บริหารระดับสูงรุ่นที่ 3 ของสถาบันวิทยาการพลังงาน (วพน. 3) ต่อยอดการพัฒนางานระบบผลิตและส่งจ่ายก๊าซชีวภาพระดับชุมชนจากมูลสุกร ซึ่งเดิมผลิตก๊าซจากมูลสุกร 1 ฟาร์มสามารถส่งจ่ายเป็นเชื้อเพลิงได้เพียง 10 ครัวเรือน แต่การวิจัยพัฒนาโดยความร่วมมือกับ กลุ่ม ปตท. ช่วยให้โครงการฯสามารถผลิตก๊าซเพิ่มจากมูลสุกร 4 ฟาร์มและมีระบบท่อส่งจ่ายเป็นเชื้อเพลิงระยะทางรวมทั้งสิ้นประมาณ 4,000 เมตรไปยัง 130 ครัวเรือน
ดร.สุเมธ กล่าวว่า ความสำเร็จของการร่วมพัฒนาระบบการบริหารจัดการพลังงานชุมชนท่ามะนาว ซึ่งเป็นการทำงานที่มีส่วนร่วมของชุมชนนั้นนำมาสู่ความสำเร็จในมิติด้านเศรษฐศาสตร์ภายในชุมชน ความสามัคคี และสิ่งแวดล้อมที่ดีควบคู่กันไป
โครงการระบบก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกรชุมชนท่ามะนาวผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานทดแทน และสร้างองค์ความรู้ด้านเทคนิคการก่อสร้างระบบท่อก๊าซชุมชน และความรู้ด้านเทคนิคการซ่อมบำรุง ทั้งนี้ ชาวบ้านในชุมชนรวม 130 ครัวเรือนสามารถลดการใช้แอลพีจีครัวเรือน 7,936 กิโลกรัมต่อปี และลดการใช้ปุ๋ยเคมีจากการทดแทนของตะกอนที่เกิดจากกระบวนการผลิตก๊าซชีวภาพจากฟาร์ม อีกทั้งลดการใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตกระแสไฟฟ้าในฟาร์มจำนวน 56,700 บาทต่อปี นอกจากนี้ ยังส่งผลให้สังคมโดยรวมได้ประโยชน์จากการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากฟาร์ม 56.88 ตันต่อปี และประโยชน์ที่ได้รับอย่างทั่วถึงในชุมชนจากการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพนั้นก็ช่วยลดความขัดแย้งภายในชุมชนจากความไม่พอใจของชุมชนต่อกลิ่นของเสียจากมูลสุกร
สำหรับ ชุมชนท่ามะนาวนั้นยังได้รับรางวัลจากโครงการประกวด อบต. เอนเนอร์ยี่อะวอร์ด (Energy Awards) ของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานอีกด้วย ทั้งนี้ ศูนย์ผลิตก๊าซชีวภาพจากขี้หมูนับเป็นจุดเรียนรู้ที่เด่นที่สุดของชุมชนท่ามะนาว มีการทำบ่อหมักก๊าซชีวภาพที่นำมาใช้ร่วมกันในชุมชนนอกเหนือจากที่ทำใช้ในครัวเรือนกันเอง จากวิถีพอเพียงสู่พลังงานทดแทนได้เปลี่ยนวิถีของชาวท่ามะนาวให้เห็นคุณค่าของทรัพยากรรอบตัว มีการตั้งศูนย์การเรียนรู้ขึ้นในโรงเรียนบ้านสันตะลุง เพื่อถ่ายทอดให้กับเยาวชนในโรงเรียน บรรจุเป็นหลักสูตรให้นักเรียนได้เรียนรู้และทำกิจกรรมด้านพลังงานในโครงการต้นกล้าวิถีพอเพียงเรียนรู้พลังงาน และมัคคุเทศก์น้อย ส่งผลให้เยาวชนเหล่านี้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพในการสืบทอดและถ่ายทอดการทำพลังงานทดแทนเพื่อความยั่งยืนในอนาคต