- Details
- Category: บทวิเคราะห์สังคม
- Published: Sunday, 18 January 2015 18:21
- Hits: 9466
ชงรัฐแก้หนี้ครัวเรือนด่วน พร้อมเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานไม่ให้สะดุด
บ้านเมือง : ‘ธีระชัย’ เสนอแนวทางดูแลเศรษฐกิจปี 58 แนะรัฐเร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนด่วนและเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานไม่ให้สะดุดเพราะการเมือง ขณะที่ ธปท.เผย เงินบาทแข็งค่าหลังธนาคารกลางสวิสยกเลิกเพดานฟรังก์สวิสเทียบกับยูโร
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา "เศรษฐกิจไทย-ตลาดหุ้น 2558 : อนาคตบนทางแยก" ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังต้องเผชิญกับความผันผวนหลายด้าน โดยเฉพาะจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับลดลงมาก รวมถึงนโยบายการเงินของประเทศขนาดใหญ่ที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ภาคการเงินของโลกผันผวนอย่างมาก อาทิ กรณีที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ประกาศยกเลิกการกำหนดเพดานอัตราแลกเปลี่ยนเทียบกับสกุลเงินยูโร ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเตรียมรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้น อีกทั้งต้องดูแลปัจจัยเสี่ยงในประเทศ โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นถึงประมาณ 84% ของผลิตภัณฑ์มวลรรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 89 ภายในปีนี้
นายธีระชัย กล่าวว่า ขอเสนอแนะให้รัฐบาลเร่งจัดอันดับประวัติการชำระเงินกู้ หรือเครดิต บูโร สกอร์ เพื่อให้สามารถดูแลกลุ่มลูกค้าที่มีโอกาสเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ได้ทันท่วงที ป้องกันปัญหาการกู้เงินนอกระบบ พร้อมทั้งแสดงความเห็นด้วยหากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงบ้าง เพื่อช่วยลดภาระหนี้ครัวเรือนและสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำมาก
นอกจากนี้ ยังต้องระวังปัจจัยการเมืองภายในประเทศ เนื่องจากประชาชนคาดหวังว่ารัฐบาลจะมีนโยบายดูแลปัญหาเศรษฐกิจและค่าครองขีพ พร้อมเร่งเดินหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งหากการเมืองไม่มีเสถียรภาพก็อาจทำให้โครงการลงทุนชะงัก จึงเสนอให้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับชุมชนควบคู่ไปด้วย
ส่วนกรณีกระทรวงพลังงานจะเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เห็นว่าควรชะลอออกไปก่อน โดยควรจะปฏิรูปการคลังปิโตรเลียมให้เหมาะสมกับศักยภาพของประเทศไทย เนื่องจากการจัดเก็บผลประโยชน์เข้ารัฐจากสัมปทานยังอยู่ระดับต่ำ 3,000-4,000 ล้านบาท เทียบกับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริงในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมหลักแสนล้านบาท ทั้งนี้ สัดส่วนการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐจากระบบสัมปทานไทยแลนด์ ทรีอยู่ที่ 62% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 64%
ด้านนายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ ประเมินว่าภาพรวมตลาดหุ้นไทยปี 2558 จะเคลื่อนไหวลักษณะ M Shape โดยไตรมาส 1 ดัชนีมีแนวโน้มแกว่งตัวในช่วงขาขึ้น หลังจากนักลงทุนมีความคาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว 4% ส่วนช่วงที่เหลือของปียังต้องระวังความผันผวนจากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนแตกต่างจากสหภาพยุโรป (อียู) จีนและญี่ปุ่นที่ชะลอตัวลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันตลาด
นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ตลาดการเงินในภูมิภาคยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก หลังจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ประกาศยกเลิกเพดานการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนฟรังก์สวิสเมื่อเทียบกับยูโร เนื่องจากเงินฟรังก์สวิส (CHF) ไม่ใช่เงินสกุลที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่อาจเป็นความกังวลของนักลงทุนในระยะสั้น
ส่วนเงินบาทแข็งค่าขึ้นบ้างตามทิศทางค่าเงินเยน ซึ่งมีลักษณะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven) ทั้งนี้ ธปท.จะเฝ้าติดตามพัฒนาการของตลาดอย่างใกล้ชิด ทั้งในส่วนของการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน และการเคลื่อนย้ายเงินทุน เพื่อดูแลเสถียรภาพของตลาดการเงิน
ด้านเงินบาทแข็งค่าที่ระดับ 32.71-32.72 บาท/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 32.75-32.77 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าตามภูมิภาค หลังธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ตัดสินใจยกเลิกมาตรการควบคุมสกุลเงินฟรังก์ ด้วยการยกเลิกเพดานการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนฟรังก์สวิสเมื่อเทียบกับยูโรที่ 1.20 ฟรังก์สวิส พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับ -0.75% จาก -0.25%
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ว่า ประมาณกลางปีนี้ ไทยน่าจะส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งเข้าเกาหลีใต้ได้ ซึ่งล่าสุดกระทรวงเกษตรป่าไม้และกิจการชนบทของเกาหลีใต้ ส่งหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล แจ้งว่าได้เห็นชอบในหลักการที่จะเปิดให้นำเข้าไก่สดไก่แช่แข็งจากประเทศไทย ซึ่งการประกาศดังกล่าวเป็นขั้นตอนที่ 5 ของกระบวนการในการพิจารณาเปิดตลาดไก่สดทั้งหมด 8 ขั้นตอน ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมและวางแผนการผลิต-การตลาด เพื่อจะได้ไม่พลาดโอกาสที่จะมาถึง ซึ่งการเปิดตลาดในครั้งนี้จะเป็นโอกาสในการขยายตลาดไก่สดของไทยมายังตลาดนี้ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยส่งไก่มายังเกาหลีใต้ใช้เวลาเพียง 10 วัน ทำให้ประหยัดค่าขนส่งและค่าจัดเก็บสินค้า โดยในปี 58 คาดว่าการบริโภคไก่ในเกาหลีใต้จะอยู่ที่ประมาณ 864,000 ตัน เพิ่มขึ้น 1.5% จากปีก่อนหน้า