- Details
- Category: บทวิเคราะห์สังคม
- Published: Saturday, 27 June 2020 09:07
- Hits: 8226
รายงานของยูเอ็น ชี้ผลกระทบจากวิกฤตโควิด19 ส่งผลต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย : ความสำเร็จขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบาย ณ ปัจจุบัน ขณะที่ประเทศกำลังอยู่ในช่วงวิกฤต
: รายงานเบื้องต้นของสหประชาชาติ ชี้ให้เห็นว่าการระบาดของโควิด 19 อาจส่งผลให้จีดีพีของประเทศไทยในปี 2568 ลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ
รายงานการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจของโควิด 19 ต่อประเทศไทย กล่าวว่า อัตราการว่างงานในกลุ่มผู้หญิงจะสูงถึงร้อยละ 4.5 ในขณะที่อัตราการว่างงานโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.1 สำหรับทั้งปี 2563 ซึ่งในระหว่างปี การว่างงานจะเพิ่มสูงกว่านี้ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานนอกระบบ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์และการท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างรุนแรง ขณะที่ผลิตผลทางการเกษตรจะได้รับความเสียหายเพิ่มเติมจากการระบาดของไวรัส นอกเหนือจากที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ส่วนภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การดูแลสุขภาพ สินค้าอุปโภคบริโภค และบริการทางการเงิน ได้รับผลกระทบน้อยกว่า และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วได้ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 ได้ในระดับหนึ่ง
นางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า การระบาดของโควิด 19 อาจกระทบต่อความพยายามของประเทศไทย ที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และส่งผลลบต่อความก้าวหน้าในการดำเนินการตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา
“ความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากเกือบครึ่งของตลาดแรงงานได้รับผลกระทบรุนแรงอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าทั้งผู้หญิงและผู้ชายได้รับผลกระทบเท่าๆกัน แต่ผู้หญิงมีความเสี่ยงสูงกว่าทั้งทางสังคมและทางเศรษฐกิจ” นางซับบระวาล กล่าว “อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจะบรรเทาลงได้ด้วยการมุ่งเน้นไปที่นโยบายที่ส่งผลต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม การฟื้นตัวอย่างยั่งยืนต้องอาศัยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องสู่เป้าหมายเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ การสร้างงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สหประชาชาติยังคงให้การสนับสนุนประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านสู่ความปกติใหม่”
รายงานของสหประชาชาติ ได้ตระหนักถึงการดำเนินนโยบายที่รวดเร็วของรัฐบาล เพื่อสะกัดกั้นและลดผลกระทบของโควิด 19 อย่างไรก็ตาม นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 15 ของจีดีพีและมีสัดส่วนใกล้เคียงกับ
ประเทศอื่นๆ นั้น ยังคงต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติม โดยเฉพาะการปรับมาตรการต่าง ๆ ในแผนเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจไทย รายงานได้นำเสนอว่า การใช้จ่ายของภาครัฐ เป็นมาตรการที่ส่งผลมากที่สุดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการจ้างงาน ตามด้วยการมอบเงินสนับสนุนโดยตรงให้แก่ผู้ที่เดือดร้อนมากที่สุด และการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ สภาพคล่อง การลดภาษี และการเลื่อนชำระภาษีสำหรับผู้ประกอบการ ตลอดจนการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาว การประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ซึ่ง สศช. ได้ดำเนินการอย่างรวดเร็วโดยการสำรวจและวิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้น ดังนั้น สศช. จึงสนับสนุนการทำงานของสหประชาชาติในฐานะหุ้นส่วนในการประเมินผลในครั้งนี้ ผลของการศึกษาจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการออกมาตรการและขับเคลื่อนนโยบายเพื่อให้ประเทศไทยฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน
นายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า โควิด 19 มีผลกระทบต่อประชากรที่มีความเปราะบางมากที่สุด
“โควิดส่งผลหนักที่สุดต่อประชาชนกลุ่มที่เปราะบางมากที่สุด และยิ่งเน้นย้ำความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคม” นายเมแยร์กล่าว “กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้พิการ กลุ่ม LGBTI และสมาชิกชาติพันธุ์ต่าง ๆ กำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง นอกจากนี้ กลุ่มผู้หญิงจะมีความเสี่ยงสูงต่อการว่างงาน เพราะบางส่วนอยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่กระทบหนักที่สุด เช่น การท่องเที่ยว” นายเมแยร์กล่าวเพิ่มเติมว่า “ขณะที่แรงงานนอกระบบ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าครึ่งของภาคแรงงาน ก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นกัน เนื่องจากกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ในประกันสังคม และไม่สามารถได้รับสิทธิ์ต่างๆในสถานที่ทำงาน เช่น เงินอุดหนุนช่วยเหลือค่าจ้าง การลากิจ หรือ ลาป่วย ทั้งหมดนี้ ล้วนแต่ต้องการมาตรการเยียวยาที่ตรงเป้าหมาย”
นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ครอบครัวที่มีความเปราะบางต้องได้รับความสนใจเป็นพิเศษในช่วงการฟื้นตัว
“ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ การให้ความช่วยเหลือโดยตรงกับครอบครัวกลุ่มเปราะบางและแรงงานนอกระบบเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กับการช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดและประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้น นโยบายที่ออกมาควรมีมาตรการที่เล็งผลระยะยาว เพื่อเสริมสร้างระบบการคุ้มครองทางสังคม โดยไม่มีใครต้องคอยกังวลว่าสิ้นเดือนจะพอกินหรือไม่”
นายดาวิน กล่าวเสริมว่า “ควรมีการลงทุนเพิ่มเติมในทรัพยากรมนุษย์เพื่อยกระดับทักษะแรงงาน โดยเริ่มจากเยาวชน ซึ่งสิ่งนี้จะปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จของเศรษฐกิจไทยในอนาคต”
ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะเผยแพร่ผลการศึกษาเพิ่มเติมในเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งจะมีการวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับผลกระทบทางสังคมของวิกฤตโควิด 19 ที่มีต่อความยากจน อาหารและภาวะโภชนาการ สุขภาพ การศึกษา การคุ้มครองทางสังคม และการป้องกันความรุนแรงและการละเมิด
หมายเหตุบรรณาธิการ
การประเมินผลกระทบของโควิด 19 ต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นการศึกษาที่ได้รับการมอบหมายจากองค์การสหประชาชาติประเทศไทยซึ่งนำโดย ยูเอ็นดีพี และ ยูนิเซฟ ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานในส่วนนี้จัดทำขึ้นโดย Economist Intelligence Unit (EIU) ซึ่งได้วิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจของโควิดต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ และได้คาดการณ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจในระดับมหภาคในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
การศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลกระทบของโควิด 19 ต่อประเทศไทย โดยองค์การสหประชาชาติประเทศไทย ซึ่งในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ได้มีการเผยแพร่รายงาน 2 ฉบับ ได้แก่ การประเมินผลกระทบของโควิด 19 ต่อภาคอุตสาหกรรม โดยองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) และการประเมินผลกระทบของโควิด 19 ต่อการจ้างงานและภาคแรงงาน โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ทั้งหมดนี้ สามารถสืบค้นได้ที่ https://www.un.or.th/publications/
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทย
อนรรฆ เสรีเชษฐพงษ์ 089 123 7797 หรือ [email protected]
องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
ณัฐฐา กีนะพันธ์ 086 616 7555 หรือ [email protected]
วรวุฒิ ชูมณี 093 442 8289 หรือ [email protected]
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ