- Details
- Category: บทวิเคราะห์สังคม
- Published: Friday, 29 November 2019 20:20
- Hits: 1819
สกสว.สร้างโมเดลรับสังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ ดึงพลังผู้สูงอายุสร้างนวัตกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มศักยภาพเสริมพลังให้สังคม สร้างรายได้ให้ชุมชน พึ่งพารัฐน้อยลง
ผศ.ดร.ชูพักตร์ สุทธิสา ผู้อำนวยการภารกิจการจัดทำแผนบูรณาการเพื่อชุมชนและพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวถึงโครงการวิจัยเรื่องการพัฒนานวัตกรรมทางสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของผู้สูงอายุประเทศไทยว่าเป็นโครงการที่ช่วยสนับสนุนส่งเสริมการสร้างศักยภาพของผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุเข้ามามีส่วนร่วมคิดร่วมวิเคราะห์ปัญหาของตนเอง คิดค้นหารูปแบบนวัตกรรมมาใช้ในการจัดการและแก้ปัญหาชีวิต สร้างคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้สูงอายุเองภายใต้การมีศักดิ์ศรี การมีส่วนร่วม นวัตกรรมที่ผู้สูงอายุพัฒนาขึ้นไม่ใช่ไฮเทค แต่เป็นการดึงทรัพยากร ดึงทุนทางสังคมที่มีอยู่ในพื้นที่ ในกลุ่มเครือข่ายผู้สูงอายุเองหรือแม้แต่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่เข้ามาร่วมกันคิดร่วมกันสร้าง แล้วนำมาสู่การทดลองใช้ขยับไปสู่การออกแบบเพื่อตอบสนองกับกลุ่มผู้สูงอายุเรียกว่าเป็นนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่สอดคล้องกับระบบนิเวศน์สิ่งแวดล้อม
“ผู้สูงอายุซึ่งจริงๆ แล้วมีศักยภาพ สามารถที่จะดึงศักยภาพหรือที่พลังทั้งหลายของเขามาใช้ประโยชน์ร่วมกันในการขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหา อาจจะนำไปสู่การขายเพิ่มรายได้และจะนำไปสู่กองทุนในรูปแบบใหม่ๆ คิดว่าในระยะยาวผู้สูงอายุสามารถที่จะเป็นกลไกในการร่วมกันในการตัดสินใจในชีวิตของเขาเองโดยที่ภาครัฐก็เข้ามาหนุนเสริม ส่งผลต่อการสร้างและดูแลสิ่งแวดล้อม เป็นชุมชนที่ทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีพึ่งพารัฐน้อยลง ถ้าชุมชนไหนมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์เรียนรู้หรือศูนย์ที่จะสร้างการพัฒนาและขยายผลได้ซึ่งในหลายๆ พื้นที่ก็ยกตัวเองขึ้นมาเป็นศูนย์นวัตกรรมผู้สูงอายุและก็มีการเข้ามาศึกษาเรียนรู้เพื่อเอาไปปรับใช้ อปท.หลายแห่งทั่วประเทศ ก็เข้ามาเรียนรู้ซึ่งคิดว่าอันนี้คือวิธีการขยายผลและต่อยอดนวัตกรรม”ผศ.ดร. ชูพักตร์ กล่าว
ผศ.ดร. ชูพักตร์ ยังกล่าวถึงการพัฒนาสวัสดิการผู้สูงอายุในยุคสังคมสูงวัยในอนาคตข้างหน้า ว่าในปี 2564 จะมีผู้สูงอายุค่อนข้างจะเต็มรูปแบบแล้ว ฉะนั้น การขับเคลื่อนในเชิงนโยบายก็คิดว่าควรจะให้โอกาสกับการสร้างกลุ่ม ไม่ใช่การที่รัฐเข้ามาจัดการในรูปแบบเหมือนที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเบี้ยยังชีพหรืออะไรก็ตามบางครั้งนโยบายเหล่านี้ก็อาจจะใช้ไม่ได้สอดคล้องเหมาะสมกับพื้นที่ การที่จะทำงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุอาจจะต้องมีการคัดกรองคัดสรรเหมือนทำงานกับคนยากจน คัดสรรว่ามีกลุ่ม มีความต้องการอะไรเพื่อที่จะขับเคลื่อนนโยบาย ซึ่งต้องทำจากข้างล่างขึ้นบนที่ให้ชุมชน อปท.ได้ร่วมกันทำวิจัย เราก็จะเห็นโมเดลหลายๆ แบบเพราะฉะนั้นการขับเคลื่อนก็อยากเห็นว่าในรูปแบบของการทำวิจัยน่าจะขยายผลและขับเคลื่อนในเชิงนโยบายที่สอดคล้องเหมาะสมกับท้องถิ่นชุมชนมากขึ้น
AO11675
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web