- Details
- Category: บทวิเคราะห์สังคม
- Published: Tuesday, 19 November 2019 12:54
- Hits: 6039
ในโอกาสครบรอบ 30 ปีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
ยูนิเซฟเผยรายงานฉบับใหม่ ชี้เด็กยากจนที่สุดยังคงเข้าไม่ถึงการพัฒนา
องค์การยูนิเซฟได้ออกรายงานฉบับล่าสุดที่มีชื่อว่า The Convention on the Rights of the Child at a Crossroads ชี้ให้เห็นว่าความเป็นอยู่ของเด็กๆ ทั่วโลกได้รับการพัฒนาไปหลายด้าน แต่เด็กที่อยู่ในกลุ่มยากจนที่สุดอีกจำนวนมากยังคงเข้าไม่ถึงการพัฒนาที่จำเป็นต่อชีวิต
รายงานฉบับดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองการครบรอบ 30 ปีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยนำเสนอความสำเร็จที่เกิดขึ้นจำนวนมากตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งชี้ให้เห็นว่าความสำเร็จต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความมุ่งมั่นและการสนับสนุนจากผู้นำประเทศและผู้กำหนดนโยบาย
นางเฮนเรียตตา โฟร์ ผู้อำนวยการบริหาร องค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 30 ปีตั้งแต่มีการรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เราจะเห็นว่าเด็กๆ ทั้วโลกต่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีชีวิตยืนยาวขึ้น อย่างไรก็ตาม เด็กในกลุ่มที่ยากจนและเปราะบางที่สุดยังคงเผชิญกับอุปสรรคและความท้าทายมากมายในชีวิต”
รายงานระบุว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อัตราการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีลดลงถึงร้อยละ 60 ในขณะที่สัดส่วนของเด็กวัยประถมศึกษาที่ไม่ได้เข้าเรียนลดลงจากร้อยละ 18 เหลือร้อยละ 8 นอกจากนี้ หลักการพื้นฐานของอนุสัญญาฯ ซึ่งประกอบด้วย การไม่เลือกปฏิบัติ การคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ ตลอดจนสิทธิของเด็กในการมีชีวิตอยู่รอดได้รับการพัฒนา และได้รับการปกป้องและคุ้มครอง ได้กลายเป็นรากฐานสำคัญของการกำหนดกฎหมาย นโยบาย และข้อปฏิบัติของประเทศต่างๆ ทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย ความเป็นอยู่ของเด็กๆ ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2558-2559 ระบุว่า เด็กเกือบทุกคนในประเทศไทยได้รับการจดทะเบียนเกิด เด็กที่วัยประถมศึกษาถึงร้อยละ 95 ได้เข้าเรียนในระบบ แต่ความเหลื่อมล้ำอีกหลายด้านยังคงมีอยู่ โดยเด็กและเยาวชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท ในครอบครัวยากจน ยังคงล้าหลังทั้งในด้านสุขภาพ การศึกษา และพัฒนาการโดยรวมเมื่อเทียบกับเด็กกลุ่มอื่นๆ
ยกตัวอย่างเช่น ยังมีเด็กในประเทศไทยถึงร้อยละ 22 ที่ต้องเผชิญกับความยากจนในหลายมิติ ซึ่งอัตราดังกล่าวสูงสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีในจังหวัดชายแดนใต้กำลังเผชิญกับภาวะแคระแกร็นในอัตราที่สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศมาก อีกทั้งยังมีเด็กข้ามชาติอีกจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าเรียน ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดของเด็กที่ไม่ได้เข้าเรียนทั้งหมด
เมื่อไม่นานมานี้ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยได้ปล่อยวิดีโอสั้น http://bit.ly/crc30th เพื่อสร้างความตระหนักในสิทธิในการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนต่อประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขา พร้อมกระตุ้นให้ผู้ใหญ่หันมารับฟังเสียงของเด็กและเยาวชนให้มากขึ้น และสนับสนุนให้พวกเขาร่วมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยไม่ย่อท้อต่อภารกิจต่างๆ ที่ตั้งใจทำ
นายปีเตอร์ โฟรเบล รักษาการผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “นี่คือโอกาสสำคัญที่เราต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อให้เด็กทุกคนสามารถพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพที่สุด และไม่มีเด็กคนใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ตอนนี้เด็กๆ และเยาวชนทั่วโลกต่างกำลังลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเขา เราจะเห็นการเรียกร้องให้การปรับปรุงระบบการศึกษา การรณรงค์ให้ยุติการเลือกปฏิบัติ การรณรงค์ยุติความรุนแรงในโรงเรียน การต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อม การปฏิรูปทางดิจิทัลและเรียกร้องให้ผู้นำใส่ใจในอนาคตของพวกเขา ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า เราทุกคนจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนและทำงานร่วมกับเด็กและเยาวชนในการสร้างความเปลี่ยนแปลง และแก้ปัญหาต่างๆ ที่กำลังคุกคามความเป็นอยู่ของพวกเขา”
รายงานฉบับนี้ยังเผยให้เห็นอุปสรรคทั้งเก่าและใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตเด็กๆ ทั่วโลก เช่น ความยากจน การเลือกปฏิบัติ การถูกแบ่งแยก สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการกลับมาระบาดของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนเช่น โรคหัดเยอรมัน นอกจากนี้ จำนวนเด็กที่ไม่ได้เข้าเรียนและผลการเรียนรู้ในโรงเรียนยังคงเป็นประเด็นที่สำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข
เพื่อจัดการกับความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้น รายงานฉบับนี้เสนอว่า ควรมีการจัดทำข้อมูล สถิติและการวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ มากขึ้น อีกทั้งยังควรเพิ่มทรัพยากร และส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนการเพื่อแก้ปัญหามากขึ้น นอกจากนี้ การวางแผนการทำงานยังควรยึดหลักการพื้นฐานของความเท่าเทียม พร้อมกับเสาะหาวิธีการใหม่ๆ ในการจัดการกับอุปสรรค และเตรียมพร้อมสู่โอกาสที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยยึดหลักการของสิทธิเด็กเป็นสำคัญ
ยูนิเซฟจะจัดการประชุมระดับโลกในอีก 12 เดือนข้างหน้าเพื่อกำหนดแนวทางที่ทำให้สิ่งต่างๆ ที่ระบุอยู่ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเกิดขึ้นจริงสำหรับเด็กทุกคน โดยการประชุมนี้จะเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ทั้งเด็กและเยาวชน ผู้ปกครอง หน่วยงานการศึกษา นักพัฒนาสังคมและชุมชน ภาคการเมือง ภาคประชาชน นักวิชาการ ภาคเอกชน ตลอดจนสื่อมวลชน ที่จะกลายมาเป็นกระบวนการสำคัญในการทำงานขององค์กรในอนาคตต่อไป
AO11402
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web