- Details
- Category: POLL
- Published: Saturday, 23 December 2017 14:05
- Hits: 3146
โพลเผยเอกชนหวังศก.ไทยปี 61 ยังโตได้ แต่ห่วงปัญหาการเมืองระหว่างปท.-ศก.โลกไม่ฟื้นตามคาด
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม เรื่อง ทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2561 โดยสอบถามความคิดเห็นจากตัวแทนผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ กระจายทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งสิ้นจำนวน 207 ราย เกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2561
โดยเมื่อถามถึงความคิดเห็นของผู้ประกอบการต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2561 พบว่า ผู้ประกอบการ 35.75% ระบุว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะขยายตัว ขณะที่ 42.51% ระบุว่า ทรงตัว และอีก 21.74% ระบุว่า หดตัว โดยในจำนวนผู้ที่ระบุว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะขยายตัวนั้น มีผู้ประกอบการถึง 50% ระบุว่าจะขยายตัวไม่เกิน 5% ส่วนผู้ประกอบการ 6.76% ระบุว่า ขยายตัว 6% – 10% ขณะที่ผู้ประกอบการ 9.46% ระบุว่า ขยายตัวมากกว่า 10% ขึ้นไป และผู้ประกอบการอีก 33.78% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับ ผู้ที่ระบุว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะหดตัวนั้น พบว่าผู้ประกอบการ 24.44% ระบุว่า จะหดตัวไม่เกิน 5% ขณะที่ผู้ประกอบการ 13.34% ระบุว่า เศรษฐกิจจะหดตัว 6% – 10% และผู้ประกอบการ 24.44% ระบุว่า หดตัวมากกว่า 10% ขึ้นไป และผู้ประกอบการอีก 37.78% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นของผู้ประกอบการต่อแนวโน้มภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมในปี 2561 พบว่า ผู้ประกอบการ 37.20% ระบุว่าภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมในปี 2561 จะขยายตัว ส่วนผู้ประกอบการ 41.55% ระบุว่าทรงตัว และที่เหลือ 21.26% ระบุว่า จะหดตัวโดยในจำนวนผู้ที่ระบุว่าภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมในปี 2561 จะขยายตัวนั้น พบว่า ผู้ประกอบการ 48.05% ระบุว่า จะขยายตัวไม่เกิน 5% ส่วนผู้ประกอบการ 12.99% ระบุว่า ขยายตัว 6% – 10% ในขณะที่ผู้ประกอบการเพียง 9.09% ระบุว่า ขยายตัวมากกว่า 10% ขึ้นไป และอีก 29.87% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ส่วนในจำนวนผู้ที่ระบุว่าภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมในปี 2561 จะหดตัวนั้น พบว่าผู้ประกอบการ 15.91% ระบุว่า จะหดตัวไม่เกิน 5% ส่วนผู้ประกอบการ 18.18% ระบุว่า หดตัว 6% – 10% โดยผู้ประกอบการ 25% ระบุว่า หดตัวมากกว่า 10% ขึ้นไป และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 40.91 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับ ปัจจัยที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยในปี 2561 พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ระบุว่า เป็นเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกที่ขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก และการใช้จ่ายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐฯ ในสัดส่วนที่เท่ากัน รองลงมา ระบุว่า เป็นภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตได้แข็งแกร่ง ส่วนอันดับสาม ระบุว่า เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง อันดับสี่ มองว่าเป็นนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และอันดับห้า จากอื่น ๆ ได้แก่ การขยายตัวของภาคการส่งออก ความเชื่อมั่นของต่างประเทศ ธุรกิจ SMEs ราคาพืชผลทางการเกษตร และสถานการณ์ทางการเมือง
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของผู้ประกอบการต่อปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2561 พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ระบุว่า เป็นความเสี่ยงจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ รองลงมา ระบุว่า เป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย นอกนั้นเป็นการขาดแคลนแรงงาน, ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน, ความไม่แน่นอนของนโยบายของสหรัฐฯ และกระบวนการในการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร และด้านอื่น ๆ ได้แก่ สถานการณ์การเมือง นโยบายของภาครัฐ ต้นทุนการผลิตและค่าแรงขั้นต่ำ อัตราดอกเบี้ย และค่าเงินบาท
ด้านการวางแผนของผู้ประกอบการในการดำเนินกิจการในช่วงปี 2561 พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 62.32% ระบุว่า มีการวางแผน และมีแนวทางในการรับมือ ขณะที่ผู้ประกอบการอีก 37.68% ระบุว่า ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนแผนมากนักจากช่วงครึ่งหลังของปี 2560
โดยในจำนวนผู้ที่ระบุว่ามีการวางแผนและมีแนวทางในการรับมือนั้น ส่วนใหญ่ระบุว่า มีการวางแผนโดยขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มฐานลูกค้า และปรับปรุงเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต ในสัดส่วนที่เท่ากัน รองลงมา ระบุว่าเป็นการขยายการลงทุน, การขยายฐานการผลิตและการลงทุนไปยังต่างประเทศ, เพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา, ชะลอการลงทุน และอื่น ๆ ได้แก่ พัฒนาศักยภาพของแรงงาน
สำหรับ ความคิดเห็นของผู้ประกอบการต่อสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐเร่งดำเนินการเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจปี 2561 พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ระบุว่า เร่งเจรจาการค้ากับประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อขยายตลาด ลดอุปสรรคทางการค้า และมาตรการกีดกันสินค้าที่มิใช่ภาษีและเพิ่มช่องทางการส่งออก และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ในสัดส่วนที่เท่ากัน รองลงมา ระบุว่า สนับสนุนการขยายตลาดเข้าสู่หัวเมืองรองในกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อขยายฐานลูกค้าและกระจายสินค้าให้มากขึ้น, พัฒนาการค้าและการขนส่งชายแดนและผ่านแดนเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าตามแนวชายแดน, เร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงข้อเสนอแนะเพิ่มเติมของผู้ประกอบการเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2561 สามารถสรุปได้ ดังนี้ 1) รัฐบาลควรมีมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ ส่งเสริม หรือสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของไทย ส่งเสริมการอบรมพัฒนาฝีมือของผู้ใช้แรงงาน ส่งเสริมการสร้างรายได้ในชนบท ส่งเสริมด้านการเกษตร การท่องเที่ยว แถบชายแดน ขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน การสร้างคลังสินค้าในประเทศแถบอาเซียนเพื่อขยายเศรษฐกิจ การพัฒนาธุรกิจ SMEs อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนไทยและต่างชาติ รวมไปถึงการเจรจาการค้าเสรี
2) ภาครัฐควรสนับสนุนด้านการอบรมแบบไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านฝีมือให้ได้เปรียบในเชิงแข่งขันกับต่างประเทศ ผลิตแรงงานที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณ การออกใบรับรองต่าง ๆ ให้กับแรงงาน และผู้ประกอบการ ตลอดจนการดูแลสหภาพแรงงานต้องให้เกิดความเป็นธรรมกับนายจ้าง
3) มีมาตรการสนับสนุนด้านภาษีหรือทางการเงินเพื่อการส่งออกต่าง ๆ เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การยื่นเอกสารต่าง ๆ ให้มีความคล่องตัว การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ธุรกิจโลจิสติกส์ที่ให้บริการแก่บริษัทส่งออก ลดอัตราภาษีการส่งออกชายแดน ค่าเงินและระวางเรือ 4) รัฐบาลควรทบทวนหรือแก้ไขกฎระเบียบของภาครัฐให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการได้คล่องตัวมากกว่านี้ 5) การผลิตควรใช้ข้อมูลสารสนเทศเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
อินโฟเควสท์