- Details
- Category: บริหาร-จัดการ
- Published: Sunday, 03 January 2016 10:02
- Hits: 6282
กานต์ ตระกูลฮุน ขุนไร้พ่ายเอสซีจี
“โลกธุรกิจ”... กำลังแข่งขันกันอย่างรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้นในหลายๆมิติ ส่งผลให้ตลาดพลิกเปลี่ยนไปอย่างคาดไม่ถึง ความสำเร็จของเอสซีจีในรอบ 100 ปีที่ผ่านมาจึงไม่ได้เป็นหลักประกันความสำเร็จในอนาคต 100 ปีข้างหน้า...ถ้าเราไม่เปลี่ยนตัวเองจะอันตรายมาก และคนที่เปลี่ยนก่อน เข้าใจก่อน จะได้เปรียบกว่าคนที่รอจนสถานการณ์บังคับให้ต้องเปลี่ยน”
กานต์ ตระกูลฮุน 10 ปีในฐานะซีอีโอ “กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี” มองว่าการ “พลิกโฉม” เอสซีจีให้เป็นองค์กรนวัตกรรม...ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้อง “พลิกวิธีคิด” ของคนที่เป็นพลังขับเคลื่อนองค์กร
“เมื่อก่อนเราเคยคิดว่าการมีระเบียบวินัย มีกฎเกณฑ์ในทุกเรื่องคือจุดแข็งขององค์กร แต่ในช่วงปี 2546...พี่คิดว่าไม่น่าใช่แล้ว การอยู่ในระเบียบในกรอบทุกเรื่อง ความคิดใหม่ๆไม่เกิด”
“พี่กานต์” เป็นปราการหัวใจด่านแรกที่ถูกทำลาย ที่ “กานต์” ใช้แทนตัวเองไม่ว่าจะกับพนักงาน...นักข่าว คำว่า “พี่” ให้ความรู้สึกใกล้ชิด สนิทสนม ทำลายกำแพงความกลัว ความห่างเหินที่ขวางกั้นระหว่างพนักงานกับผู้บริหาร...กลายเป็นความรู้สึกใหม่ๆที่ทำให้เกิดความกล้าในการแสดงความคิดเห็น
พูดในสิ่งที่ตัวเองคิด นำไปสู่สิ่งใหม่ๆให้เกิดขึ้น
ความเป็นกันเอง ความใกล้ชิด การลดช่องว่างระหว่าง “นายกับลูกน้อง” มาเป็น “พี่กับน้อง” ที่ถูกทำเป็นตัวอย่างให้ผู้บริหารท่านอื่นๆ ได้เห็น กลายเป็นเบ้าหลอมที่สำคัญในการค่อยๆปรับ ค่อยๆขยับ “เอสซีจี” ...ให้เข้าสู่องค์กรนวัตกรรมที่น่าร่วมงานด้วย...“วัฒนธรรมองค์กร” มีอิทธิพลอย่างมากกับวิธีคิดสร้างสรรค์ เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันพนักงานให้ตื่นตัว สร้างความแปลกใหม่ให้เกิดขึ้น
พี่กานต์ ย้ำว่า ในโลกของการแข่งขันสินค้าที่ว่ายาก ใช้เวลาไม่นานก็ก็อบปี้กันได้ นโยบายการบุคคลของบริษัท...ข้างนอกยังลอกไปได้ทั้งเล่มหรือเอาคนของเราไปทำงานก็เอาระบบ HR แบบเราไปใช้ได้ แต่สิ่งที่ไม่มีใครเลียนแบบได้คือวัฒนธรรมองค์กรที่ถูกสะสมกันมาอย่างยาวนาน
“อุดมการณ์ใน 4 เรื่องหลักของเอสซีจี” คือ ตั้งมั่นในความเป็นธรรม, มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ, เชื่อมั่นในคุณค่าของคน, ถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งเหล่านี้ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนกลายเป็นพลังสำคัญผลักดันให้องค์กรเข้มแข็งมาตลอดช่วงเวลาหลายทศวรรษ ยังถูกยึดมั่นไว้อย่างเหนียวแน่นเป็นวัฒนธรรมองค์กรต่อไป แต่อาจจะไม่เพียงพอกับการเข้าสู่ยุคอินโนเวชั่น
วัฒนธรรมเอสซีจี “พี่เปิดใจรับฟัง...น้องกล้าพูดกล้าแสดงออก” ...หัวใจสำคัญก็คือ “เปิดใจรับฟังอย่างทั่วถึง” แม้ว่าจะเป็นผู้บริหารระดับสูงก็ไม่ต้องกลัวเสียหน้า เป็นคนธรรมดาผิดได้ รู้ตัวก็ขอโทษน้อง... “กระตุ้นให้ทุกคนอย่าพอใจกับความสำเร็จเดิมๆ” ต้องพยายามหาสิ่งใหม่ที่ดีขึ้น...
ถ้ามีข้อมูลใหม่ก็พร้อมเปลี่ยนแปลง ได้ท้าทายความคิดตัวเองอยู่เสมอ
“เวลามีคนใหม่เข้ามา...หรือมีคนภายนอกเข้ามาแล้วชี้จุดที่เป็นปัญหาหนักๆของเรา ต้องรีบขอบคุณอย่างสูง เพราะเขากำลังชี้เพชรชี้พลอยในโรงงานของเราให้เราเก็บขึ้นมา
คิดดูว่า ขนาดมีปัญหาขนาดนั้นยังประสบความสำเร็จมากเท่านี้ หากเก็บเพชรพลอยเหล่านั้นได้หมด เราจะยิ่งไปไกลได้ขนาดไหน...อย่าคิดเป็นอันขาดว่าเราดีเลิศอยู่แล้ว จนไม่ยอมเปลี่ยนแปลง”
พลิก “คน”...พลิก “ตำรา” แน่นอนว่าสินทรัพย์สำคัญของเอสซีจี ไม่ใช่ตัวโรงงาน แต่คือคนที่ร่วมแรงร่วมใจทุ่มเททำงานเพื่อองค์กร การพัฒนาคนจึงเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ การลงทุนพัฒนาคนผ่านหลักสูตรการศึกษาต่างๆได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพิ่มโอกาสในการศึกษาต่อมหาวิทยาลัยระดับท็อปเท็นของอเมริกา
นอกจากเป็นการสร้างคอนเน็กชั่นนักเรียนทุนกับนักบริหารชาวต่างประเทศที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นแล้ว ยังเป็นการเปิดตัว “เอสซีจี” ให้คนในตลาดโลกรู้จักมากขึ้นด้วย
“พี่ไม่เคยคิดว่าหลักสูตรต่างๆลงทุนไปแล้วหลายล้านบาทจะได้ผลลัพธ์กลับคืนมาอย่างไร KPI จะเป็นอย่างไร...ขอแค่ว่าลงทุนแล้วก็ให้มีประสิทธิภาพจริงๆ อะไรที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ก็กลับมาลองทำเลย อย่าไปอาย ต้องทำให้น้องประหลาดใจและตื่นเต้นในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใหม่”
“KPI”...ดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน ต้องไม่เข้มงวดจนเกินไป ต้องใช้เป็นเครื่องมือ ไม่ใช่ให้ KPI บงการชีวิต... “ทำให้คนรู้สึกมั่นคงที่จะช่วยกันทำงานสู่เป้าหมายที่เข้าใจตรงกันชัดเจน ไม่ใช่ให้คนรู้สึกปลอดภัยเมื่อทำงานตาม KPI”
สำหรับพี่ๆผู้บริหารระดับสูง สิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากคือเรื่อง “ความซื่อสัตย์”
พี่กานต์ บอกอีกว่า เป็นผู้บริหารของเอสซีจี รายได้สูงมากแล้ว อย่าคิดเก็บเล็กเก็บน้อย ไม่คุ้มกัน เสียทั้งงาน เสียทั้งเพื่อน เจอหน้าใครไม่ได้ ครอบครัวก็เดือดร้อน มองประโยชน์ส่วนรวมให้มากที่สุด พี่กานต์ทำงานไม่เคยคิดเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว ถ้าคิดเพื่อบริษัทและส่วนรวมเราจะทำอะไรก็ได้ ทำได้อย่างสบายใจ...กล้าชนเต็มที่ ยิ่งตำแหน่งสูงขึ้นอะไรที่เป็นเกรย์แอเรีย พื้นที่สีเทา...ผลักออกไป อย่าเอา รายได้มากพอแล้วไม่คุ้มกัน
อีกเรื่องสำคัญ...“SCG” กับ “Gen Y” เราต้องไปด้วยกัน ตัวเลขพนักงานทั้งหมดเมื่อต้นเดือนมกราคม 2558 มีจำนวน 51,000 คน เป็นคนไทย 35,663 คน ต่างชาติ 15,437 คน ...เป็นคน Gen Y อายุ 19-34 ปีมีสูงถึง 44 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็น Gen X 50 เปอร์เซ็นต์ และ Baby Boomer 6 เปอร์เซ็นต์
กลุ่มคนที่มีไลฟ์สไตล์ติดเฟซบุ๊ก ไลน์ ชอบแชต โพสต์ แชร์ ต้องเช็กโซเชียลมีเดียทุก 2 นาที มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี ไม่ชอบอยู่ในกรอบ มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง คือกลุ่มคนที่จะมาเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนองค์กรในอนาคต สมัยพี่กานต์ขึ้นรับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดขององค์กร กฎระเบียบหลายอย่างถูกปลดล็อกเพื่อทำงานง่ายขึ้น
สอดคล้องกับความต้องการของคน Gen Y...ที่ทยอยเข้ามาร่วมงานกับ “เอสซีจี” เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“จงรู้สึกโชคดี...ถ้าได้ลูกพี่แสบทรวง ได้เรียนรู้เพิ่ม...เราจะเข้มแข็งขึ้น และทำตัวเองเป็นเหมือนซุปเปอร์ไซย่าในการ์ตูนดราก้อนบอล...ยิ่งสู้มาก สะบักสะบอม ยิ่งแกร่งขึ้นทุกที” ประโยคเด็ดที่พี่กานต์ฝากไว้ให้กับคน Gen Y
ปี 2558 เอสซีจีได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ของโลก “DJSI” ในสาขาอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง...ดัชนีหลักทรัพย์ประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลก ซึ่งกองทุนต่างๆใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาลงทุนด้วยเชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืน
น่าทึ่งด้วยว่า “พี่กานต์” คนนี้ยังเป็นคนไทยคนแรกและนักธุรกิจรายแรกของโลกที่ได้รับรางวัล “เดมมิ่งไพรซ์” ประเภทบุคคล ในฐานะ มุ่งเน้นการบริหารงานภายใต้แนวทางการจัดการอย่างมีคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (TQM)
“การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงาน ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญขององค์กรให้สอดรับกับมาตรฐานใหม่ที่จะนำมาใช้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเมื่อก่อนทุกกลุ่มธุรกิจจะมีวัฒนธรรมของตัวเองและยังยึดติดกับวิถีแบบเดิมๆ แต่ทุกคนก็ยอมรับว่าเมื่อโลกเปลี่ยนไป...การเปลี่ยนแปลงย่อมต้องเกิดขึ้น”
ทั้งหมดเหล่านี้ ตัดตอนมาจากหนังสือ “เอสซีจี POWER OF CHANGE” 10 ปีแห่งการปรับเปลี่ยนสู่องค์กรนวัตกรรม...10 ปีที่เราก้าวเดินไปด้วยกัน...10 ปีแห่งความผูกพัน ผ่านแนวคิดและมุมมองจากพี่ชายที่ชื่อ “กานต์ ตระกูลฮุน”.
- ที่มา : www.thairath.co.th