- Details
- Category: บริหาร-จัดการ
- Published: Sunday, 22 November 2015 07:32
- Hits: 6630
SCG ความร่วมมือ...กุญแจพัฒนานวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ
การแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้องค์กรธุรกิจต้องปรับตัวในการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองลูกค้าอยู่เสมอ การสร้างนวัตกรรมถือเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะเปิดประตูไปสู่โอกาสทางธุรกิจ ซึ่งการพัฒนาจะเป็นไปอย่างก้าวกระโดดต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างพลังเครือข่ายที่แข็งแกร่งและยิ่งใหญ่
เอสซีจี หนึ่งในองค์กรชั้นนำของประเทศที่ให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตของทุกกลุ่มธุรกิจอย่างยั่งยืน นวัตกรรมจึงเป็นธงหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจของเอสซีจีในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยการผลิตที่สร้างสรรค์ มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ โดยลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาทั้งในห้องทดลอง และการสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ รวมทั้งการมองหาพันธมิตรทางธุรกิจ ที่จะเติมเต็มสายโซ่อุปทานในการผลิตเพื่อโลกในอนาคต
เบื้องหลังความสำเร็จของเอสซีจีมาจากการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ หรือบรรดาห้องวิจัยและทดลองชั้นนำซึ่งเป็นเสมือน "โรงเรียน" ที่เอสซีจีส่งนักวิจัยเข้าไปทำงานเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อนำกลับมาใช้พัฒนาสินค้าให้เหมาะสมกับตลาดทั้งในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน เพื่อเพิ่มความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยี สร้างสรรค์นวัตกรรมและบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในและต่างประเทศ เช่น ความร่วมมือของเอสซีจีและคณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนา Anti-Microbial Dental Plaster นวัตกรรมใหม่ของปูนพลาสเตอร์สำหรับงานทันตกรรมรักษาฟัน งานฟันเทียม และงานจัดฟัน ความร่วมมือของเอสซีจี แพคเกจจิ้ง กับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ยืดอายุผลไม้ ชะลอการสุกของผลไม้และลดการสูญเสียคุณภาพสินค้าระหว่างการขนส่ง ตอบโจทย์เทรนด์บรรจุภัณฑ์ในอนาคต ความร่วมมือของเอสซีจีกับมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley) ประเทศสหรัฐอเมริกาในการสร้างสรรค์ “บลูม” (Bloom : The Room for Living) นวัตกรรมปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและครั้งแรกในประเทศไทย โดยใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ของเอสซีจีมาออกแบบและผลิตด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ และความร่วมมือของเอสซีจีกับบริษัท Norner Holding AS ประเทศนอร์เวย์ เพื่อต่อยอดสู่นวัตกรรมสินค้าและบริการที่หลากหลายเพื่อผู้บริโภคในอนาคต เป็นต้น
นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เล่าว่า เอสซีจี ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มที่สามารถนำไปใช้เชิงพาณิชย์ได้ และสร้างคุณค่าสูงสุดให้ลูกค้าและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน จึงได้จัดแสดงนวัตกรรมสินค้าและบริการครั้งยิ่งใหญ่ของเอสซีจี ในงาน SCG Innovative Exposition 2015 ภายในพื้นที่กว่า 4,000 ตารางเมตร ที่ SCG Experience ตลอดเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อผลักดันให้องค์กรทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาในการตอบสนองความต้องการสูงสุดของลูกค้าและผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน และร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศให้มีศักยภาพที่สามารถแข่งขันได้ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
“เอสซีจีลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ในปี 2557 เราใช้งบประมาณ R&D ทั้งสิ้น 2,710 ล้านบาท ทำให้มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม 169,071 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของยอดขาย และในปี 2558 นี้ เราได้ลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาและมีนักวิจัยในองค์กรมากขึ้น เพราะการวิจัยจะสามารถทำให้เราคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค" คุณกานต์กล่าว
ภูมิภาคอาเซียนเป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันในมิติที่หลากหลาย เพื่อผลักดันให้งานวิจัยและพัฒนาที่อยู่แต่เพียงในห้องทดลอง นำมาพัฒนาให้ใช้งานได้จริง มีตลาดรองรับ และพัฒนาให้เกิดประโยชน์ทางพาณิชย์ได้อย่างแท้จริง