- Details
- Category: บริหาร-จัดการ
- Published: Saturday, 01 August 2015 20:10
- Hits: 8364
ในการประชุมประจำเดือนของเครือเจริญโภคภัณฑ์เมื่อ 8 มิถุนายน ที่ผ่านมา นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ประกาศนโยบายตรวจสอบย้อนกลับเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยกล่าวว่า 'วันนี้ ถือเป็นหน้าที่ของเราในเรื่องเกษตร ที่จะต้องผลิตสินค้าที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงวัตถุดิบได้ อย่างเช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ต้องรับซื้อข้าวโพดทุกเมล็ดที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่บุกรุก ไม่เผาพื้นที่ป่า เช่นเดียวกับการตรวจสอบแหล่งที่มาของปลาป่น...โลกให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม...เราก็ต้องรีบเร่งขับเคลื่อนระบบตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบในทุกขั้นตอน'
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนเครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่าเครือฯ ตระหนักถึงความสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และได้กำหนดเป็นนโยบายหลักในการดำเนินธุรกิจมาโดยตลอด จึงได้ประกาศหลักเกณฑ์การตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบในห่วงโซ่การผลิตอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในธุรกิจข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และปลาป่น ซึ่งเป็นห่วงโซ่สำคัญในการผลิตอาหารสู่ผู้บริโภค ต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและถูกต้องตามกฎหมาย ตามนโยบายที่ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ประกาศไปแล้ว
จากวิกฤตหมอกควันที่เกิดขึ้นในปี 2558 ทำให้รัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความห่วงใยและให้ความสำคัญกับปัญหาการเผาในที่โล่งและมลพิษหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือเป็นอย่างมาก และได้มีข้อสั่งการให้เตรียมการรับมือกับปัญหาไฟป่า การเผา และมลพิษหมอกควัน โดยให้หน่วยงานต่างๆ มีการบูรณาการ ร่วมมือกัน และสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เน้นการวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา และวางแนวทางแก้ไขอย่างถูกต้อง ในประเด็นสำคัญ 3 ประการ คือ ไฟป่าและการเผา มลพิษหมอกควัน และการบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง และมลพิษหมอกควัน เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยแผนงานทั้งหมดนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะดำเนินงานได้แล้วเสร็จก่อนเดือนตุลาคม 2558 เพื่อให้มีแผนงานที่ชัดเจน และได้รับงบประมาณที่สนับสนุนให้ทันกับสถานการณ์หมอกควันในปี 2559
ทั้งนี้ เพื่อให้การวางแผนงานในการแก้ไขปัญหาหมอกควันในปีต่อๆไปเป็นไปอย่างครบถ้วน มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน ในคราวเดียวกันนี้กระทรวงทรัพยากรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมพ่อค้าข้าวโพดและพืชพันธุ์ไทย และ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ร่วมแสดงเจตจำนงร่วมกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนืออย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการลดและควบคุมการเผาเศษวัสดุภาคการเกษตรในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 9 จังหวัดภาคเหนือ
ในการนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์จึงร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และสมาคมพ่อค้าข้าวโพดและพืชพันธุ์ไทย ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันจากการเผาเศษวัสดุภาคเกษตรในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด เพื่อสานต่อนโยบายตรวจสอบย้อนกลับและการมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว
สำหรับ สาระสำคัญบันทึกข้อตกลงความร่วมมือประกอบด้วย 1.ภาคเอกชนให้ความร่วมมือในการลดและควบคุมการเผาในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำบัญชีการปลูกและซื้อขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการการเผาเศษวัสดุในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดและงดการเผาตอซังข้าวโพดและเศษวัสดุภาคการเกษตร ส่งเสริมให้เกษตรกรดำเนินการตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice: GAP) หรือแนวทางอื่นๆ ตามความเหมาะสม สนับสนุนองค์ความรู้ และแนวทางแก่เกษตรกรในการทำเกษตรปลอดการเผา การไถกลบตอซังข้าวโพดในที่ราบ และการจัดการเศษวัสดุภาคการเกษตรโดยไม่เผาสำหรับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูง นอกจากนั้นยังต้องส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากตอซังข้าวโพดและเศษวัสดุภาคการเกษตร รวมถึงการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าให้กับเศษวัสดุภาคการเกษตร รวมถึงสนับสนุนให้มีการนำผลการวิจัยและพัฒนาไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และให้ความร่วมมือและสนับสนุนภาครัฐในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร และหมอกควันภาคเหนือ และปฏิบัติตามแนวทางของภาครัฐอย่างเต็มที่
2.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บูรณาการกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายในการลดและควบคุมการเผาในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะการลงทะเบียนเกษตรกร การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นไม้ยืนต้น การส่งเสริมให้มีการจัดการเศษวัสดุภาคการเกษตรโดยไม่เผาสำหรับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูง การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากตอซังข้าวโพดและเศษวัสดุภาคการเกษตรอย่างเป็นรูปธรรม และการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรดำเนินการตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice: GAP)
3.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำกับดูแลและป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มเติมเพื่อขยายพื้นที่เกษตร โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และดำเนินมาตรการเพื่อจัดการพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกเพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างเหมาะสม
โดย CP Group / วันที่โพสต์ 17 มิ.ย. 2558