- Details
- Category: บริหาร-จัดการ
- Published: Thursday, 25 January 2024 12:51
- Hits: 7596
เจาะใจ ‘ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์’ แม่ทัพหญิงแห่ง ทรู คอร์ปอเรชั่น ผู้นำคนสำคัญ ในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นหนึ่ง เพื่อ การเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ Telco-Tech Company
ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เธอเป็นหนึ่งในผู้บริหารมือฉมัง มากประสบการณ์ที่ผ่านงานมาหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ค้าปลีก ตลอดจนบริการโทรคมล้ำนำสมัย แม้เธอจะสั่งสมประสบการณ์ทำงานมาอย่างเจนจัด ทว่าการควบรวมกิจการโทรคมนาคมครั้งใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับบทบาทการบริหารบุคลากรกลับเป็นความท้าทายที่ทรหดที่สุดสำหรับเธอ
แม่ทัพหญิงแห่ง ทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมพูดคุย เจาะลึกในหลากประเด็น ทั้งการที่ ทำไมวัฒนธรรมองค์กร จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เธอต้องการทำให้สำเร็จ และทำไมเธอถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรเป็นอันดับแรกเสมอ
เมื่อสองยักษ์ผนึกกำลัง
ด้วยสเกลการควบรวมขนาดใหญ่ที่มีฐานลูกค้ารวมกันระหว่างทรูและดีแทคถึง 51.4 ล้านราย (เฉพาะบริการโมบาย) ดังนั้น ภารกิจสำคัญอันแรกจึงเป็นเรื่องการทำให้มั่นใจว่าคุณภาพการบริการจะไม่ได้รับผลกระทบ ในช่วงเวลาที่พนักงานกว่า 10,000 คนปรับตัวเข้ากับเพื่อนร่วมงานใหม่ ปรับใช้ระบบใหม่ และเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงองค์กร ถ้าเช่นนั้น อะไรคือตัวเชื่อมที่ทำให้พนักงานจาก 2 องค์กรทำงานร่วมกันได้?
วัฒนธรรมไงล่ะ
“ทรูและดีแทคมีความแตกต่างอยู่มาก ด้านหนึ่งก็เป็นกลุ่มบริษัทสัญชาติไทยขนาดใหญ่ ส่วนอีกด้านก็มีความเป็นตะวันตกมาก ดังนั้น วัฒนธรรมจึงมีความสำคัญ ทำให้ 2 ฝั่งหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว บุคลากรทุกคนต้องเชื่อมั่นในเป้าหมายและวิสัยทัศน์แห่งการเป็นผู้นำ Telecom-Tech ทุกคนต้องรู้สึกมีส่วนร่วมที่จะช่วยกันผลักดัน ให้องค์กรบรรลุผลสำเร็จด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องสร้างแพชชั่นที่แท้จริง ซึ่งเริ่มจากสิ่งเรียกว่า วัฒนธรรม” ศรินทร์รา อธิบาย
นับแต่การควบรวมสำเร็จเสร็จสิ้นในเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พนักงานทั้งจากทรูและดีแทคได้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันในมิติต่างๆ สร้างบรรยากาศแห่งความสนุกและเต็มเปี่ยมด้วยพลัง (ลองนึกถึงปาร์ตี้คาราโอเกะและชาเลนจ์ทดสอบความแข็งแรงของร่างกาย) เปิดโอกาสให้ผู้บริหารระดับสูงพุดคุยกับพนักงานอย่างเป็นกันเอง
“รางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพี่คือ เมื่อผู้คนในองค์กรรู้สึกได้ถึงวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่ก่อตัวขึ้น ปรับปรุงคุณภาพชีวิตในที่ทำงานให้ดียิ่งขึ้น อย่างกิจกรรมที่จัดขึ้นล่าสุด มีน้องๆ พนักงานบอกพี่ว่า ‘ตอนนี้พวกเราสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างตรงไปตรงมา เรา Work Hard Play Hard มันเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ’ สำหรับพี่ การได้ยินสิ่งเหล่านี้ถือว่าคุ้มค่ากับความทุ่มเทที่ให้ไป” เธอเผยความในใจ
แผนกลยุทธ์ด้านวัฒนธรรมองค์กรชุดใหม่
กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ศรินทร์ราในฐานะแม่งานการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ โดยเริ่มต้นจาก “การนิยาม” วัฒนธรรมองค์กรชุดใหม่ ซึ่งยึดโยงกับค่านิยม 4 ประการ ได้แก่ Compassion, Credibility, Co-Creation และ Courage ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากกระบวนการระดมสมองจากผู้บริหารระดับสูง เพื่อร่วมกันกำหนดเป้าหมาย-วิสัยทัศน์สำหรับบริษัทใหม่
“วัฒนธรรมเริ่มต้นจากบนลงล่าง หากเริ่มต้นผิด คุณจะไม่สามารถพิชิตเป้าหมายได้ ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการหารือกับคณะผู้บริหารระดับสูง เพื่อร่วมกำหนด 3 เป้าหมายสำคัญสำหรับการกำหนดวัฒนธรรมองค์กรนี้ 1. One team with trust and respect เราเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นหัวใจแห่งความเชื่อมั่นและความเคารพต่อกันและทำงานเป็นทีมเดียวกัน 2. Performance Driven Organization เราเป็นองคก์รที่มุ่งเน้น ผลลัพธ์โดยมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน มีกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และมีการวัดผลอย่างต่อเนื่อง 3. Being customer-centric เราคำนึงถึงความต้องการและความพึงพอใจของลูกค้าเป็นหลักในการดำเนินงานของเรา จากเป้าหมายที่วางไว้ได้ตีความออกมาเป็นคุณค่า 4C เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินงานต่อไป ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมของพนักงาน แฮกาธอน และตัวชี้วัดด้านทรัพยากรบุคคล” ศรินทร์รา อธิบาย
สำหรับวัฒนธรรม 4C ที่กล่าวมานั้น เธอเน้นย้ำถึง Compassion อย่างมาก การควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคในครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงควบรวมทางธุรกิจครั้งที่ 3 ในชีวิตการทำงานของเธอ ทำให้เธอเข้าใจถึงความตึงเครียดที่มีในกลุ่มพนักงาน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทีมงานให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างการก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วที่มาพร้อมกับการสนับสนุนในด้านต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อความผาสุกของพนักงานในองค์กร
“เราควรมีความเห็นอกเห็นใจกันในทุกการกระทำ เห็นส่วนรวมมากกว่าส่วนตน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงมีกิจกรรมที่ให้ผู้บริหารระดับสูงและพนักงานได้มีโอกาสพบปะพูดคุย มันเป็นเรื่องของการสร้างความคุ้นเคยและทำลายกำแพง และอีกวิธีที่เราใช้ในการแสดงออกซึ่ง Compassion ก็คือ การที่เราให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่และสวัสดิภาพของพนักงานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวก การมีนักกายภาพบำบัดประจำการ ประกันสุขภาพสำหรับครอบครัวพนักงานในราคาพิเศษ อนุญาตให้สมาชิกในครอบครัวใช้บริการยิมของบริษัทได้ ฯลฯ ซึ่งนี่เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงการรู้คุณค่าขององค์กรที่มีต่อพนักงานทุกคน”
เดินหน้าสู่ยุค AI แห่งอนาคต
หลังการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทรูและดีแทคเป็นระยะเวลาร่วมปี แม่ทัพหญิงด้านทรัพยากรบุคคลผู้นี้ ได้เปิดเผยถึงแนวทางในปี 2567 ที่จะต่างออกไปจากปีที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ โดยเน้นที่การส่งมอบคุณประโยชน์ที่ลูกค้าจับต้องได้ เพื่อให้เราเข้าใกล้เป้าหมายการเป็นผู้ให้บริการ Telco-Tech ชั้นนำของภูมิภาคมากขึ้น
“ในขวบปีแรกจะเน้นการสร้างวัฒนธรรมเพื่อหลอมผู้คนรู้จักกันมากขึ้น เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่ตอนนี้ เราต้องการสร้างสิ่งที่ยั่งยืนขึ้น ระยะยาวมากขึ้น ซึ่งนั่นคือการส่งต่อวัฒนธรรม 4C ผ่านไปยังลูกค้าในวิถีต่างๆ” ศรินทร์รา เปิดเผย
พร้อมกันนี้ เธอยังคาดการณ์ด้วยว่า “ดาต้า” จะกลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ เพื่อก้าวสู่ Telecom-Tech Company ซึ่งเธอได้ รับ data scientist (นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล) เข้ามาอยู่ในทีมทรัพยากรบุคคล และมีแผนการในการขยายรูปแบบการทำงานดังกล่าวไปทั้งบริษัท
“เรากำลังหารือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอย่างฮาวาร์ดและ MIT เพื่อนำเอาวิธีการเทรนนิ่งด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลมาใช้กับองค์กรของเรา และด้วยวิวัฒนาการการใช้ AI ในการทำงาน เราจึงจำเป็นต้องสร้างทักษะแห่งความเป็นผู้นำชุดใหม่ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการคิดเชิงวิพากษ์จึงเป็นหนึ่งในทักษะที่ต้องการมากที่สุดในการทำงาน คุณอาจมีชุดดาต้าปริมาณมหาศาล แต่สิ่งนั้นจะไม่เป็นประโยชน์เลย ถ้าคุณไม่สามารถตั้งและทดสอบสมมติฐานนั้นได้” ศรินทร์รา เน้นย้ำ
วัฒนธรรมเรียนรู้ทุกสิ่งอย่าง
ระหว่างการสัมภาษณ์ ศรินทร์ราแสดงถึงความสุขและภูมิใจ เมื่อกล่าวถึงการได้มีส่วนสร้างคนให้เติบโต เธอเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง True Digital Academy ซึ่งปัจจุบันเป็นหน่วยงานสำคัญทำหน้าที่ในการรีสกิลทักษะดิจิทัลให้กับพนักงานทรู เพื่อรับมือกับเทคโนโลยี AI แห่งอนาคต เธอยังได้จุดประกายแนวคิด Reverse Mentoring ให้ผู้บริหารเหล่า C-Level ให้พนักงานรุ่นใหม่ให้คำแนะนำกับผู้บริหารผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่
“คนรุ่นใหม่มีพลังและนวัตกรรมอันเหลือล้น เต็มเปี่ยมไปด้วยความสนุกสนาน อย่างวันหยุดสุดสัปดาห์ พี่เป็น coach และmentor ให้คำปรึกษากับผู้บริหารรุ่นใหม่และผู้ประกอบการ SMEs พวกเขามีไอเดียดีๆ มากมายซึ่งพี่เองก็ได้เรียนรู้จากพวกเขาเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของพี่คือการช่วยให้คำแนะนำ ทำให้ไอเดียพวกเขานำไปปฎิบัติได้ เกิดขึ้นได้และบรรลุผลสำเร็จ” ศรินทร์รา กล่าว
เธอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ความคาดหวังจากพนักงานเก่งๆ ภายในทรูก็คล้ายคลึงกัน โดยพวกเขาต้องการเติบโต เรียนรู้เพิ่มขึ้น ทำมากขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นก่อร่างสร้างวัฒนธรรมที่เปลี่ยนจากกรอบคิดแบบ “Know-it-all” เป็น “Learn-it-all”
“ตลอดชีวิตการทำงาน เมื่อมีคนส่งมอบโอกาสให้ พี่ตอบตกลงเสมอ และนั่นทำให้พี่ผ่านงานมาหลายอย่างก่อนมาทำที่ HR อย่างตอนพี่อยู่ทีมขาย พี่เผชิญกับแรงกดดันในทุกๆ วัน เพื่อหารายได้เข้าบริษัท แต่สิ่งทีพี่ได้เรียนรู้ก็มากมาย ทั้งมุมมองด้านธุรกิจและทักษะการบริหารลูกค้า ในมุมมองของพี่พนักงานทรูต่างก็ต้องการโอกาสนั้นๆ เช่นเดียวกัน พวกเขากระหายใคร่รู้ พวกเขาต้องการเติบโต และนั่นคือหน้าที่ของเราทีม HR ในการช่วยเขาตระหนักรู้ถึงเป้าหมายของเขา” ศรินทร์รา ทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งของหญิงแกร่งแห่งทรูคอร์ปคนนี้ นอกจากการเปลี่ยนผ่านองค์กร เธอมักใช้เวลาว่างไปกับการอบขนมกับเพื่อนๆ และถวายภัตตาหารทำบุญที่วัด เพราะ “การให้” เป็นสิ่งที่ทำให้เธอใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในทุกๆ วัน
1633