- Details
- Category: บริหาร-จัดการ
- Published: Sunday, 24 February 2019 09:27
- Hits: 2637
สวทน. เดินหน้าเต็มสูบ ผนึกกำลัง มจธ.-สคพ. เปิดเวทีวาระโลก ‘Accelerating the Circular Economy Transformation : Global trade policy, business and education’ ระดมวิทยากรระดับแนวหน้าทั้งไทย และเทศ แชร์ประสบการณ์ปัจจัยสู่ความสำเร็จของเศรษฐกิจหมุนเวียน นโยบายที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ร่วมกับ STEAM Platform มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (สคพ.) จัดกิจกรรม Brown Bag หัวข้อ’Accelerating the Circular Economy Transformation : Global trade policy, business and education’ ณ ห้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สวทน. ชั้น 14 อาคารจัตุรัสจามจุรี โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านเศรฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ระดับชั้นแนวหน้ามาร่วมแลกเปลี่ยน อาทิ Mr. Sourav Roy (Strategic Media Communication Specialist, Science & Technology TV Program Producer TRT World), Ms. Duangthip Chomprang (Director of International Cooperation Department, ITD), Mr. Arslan Siddique (STEAM Project Manager, KMUTT) และ Ms. Sirinya LIM (Policy Developer, STI)
ด้วยโลกกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทั่วโลกต้องเตรียมการรับมือโดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก สำหรับประเทศไทย สวทน. ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการจัดทำนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้เห็นความสำคัญในการเตรียมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะสภาพภูมิอากาศของโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอนโยบายในหลายประเด็น รวมถึงนโยบายที่มีส่วนช่วยในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ อย่างนโยบาย BCG ผ่านการนำประชาคมวิจัยทั้งภาครัฐ เอกชนและมหาวิทยาลัย 500 คน เข้าพบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อนำเสนอและมอบสมุดปกขาว ‘BCG in Action: การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy’
ซึ่งมีเนื้อหานำเสนอเกี่ยวกับการมุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ที่ครอบคลุม 4 เป้าหมาย ได้แก่ เกษตรและอาหาร พลังงานและเคมีชีวภาพ การแพทย์และสุขภาพ รวมถึงการท่องเที่ยว โดยมีเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ต้องถูกนำไปใช้กับทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งจะเน้นเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าใน 3 เรื่อง คือ การใช้งานผลิตภัณฑ์เต็มวงจร การแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ สุดท้ายคือการออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด โดยนายกรัฐมนตรีได้เห็นถึงความสำคัญเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นและประโยชน์ที่ประชาชนและประเทศจะได้รับ
ในกิจกรรม Brown Bag : "Accelerating the Circular Economy Transformation : Global trade policy, business and education" มีการแลกเปลี่ยนหลายประเด็น นอกเหนือจากการให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านการนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีตามรายละเอียดข้างต้น โดยประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง คือ เรื่องบทบาทของสื่อมวลชนที่จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ให้เป็นที่รู้จักในสังคมวงกว้าง ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความตระหนักให้กับคนในสังคม เนื่องจากหลาย ๆ ครั้งนโยบายสำคัญจะถูกพูดคุยเพียงในพื้นที่เล็กๆ ทำให้ไม่เกิดการรับรู้หรือผลกระทบ แต่หากมีการรวมพลังระหว่างผู้สร้างนโยบาย และสื่อมวลชนในการนำเสนอนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายสำคัญที่มีผลกระทบในระดับโลกและเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศ ก็จะส่งผลให้เรื่องราวถูกส่งต่อในวงกว้างและมีพลังมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนถึงประเด็นบทบาทของเยาวชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เนื่องจาก 50% ของประชากรโลกเป็นเยาวชน การมีส่วนร่วมของเยาวชนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งการจะนำเยาวชนเหล่านั้นมาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนความเป็นผู้นำและมีแนวคิดความเป็นผู้ประกอบการ ตลอดจนมีทักษะด้านการสื่อสาร ซึ่ง STEAM Platform ภายใต้การดูแลของ มจธ. มีความพร้อมที่จะช่วยพัฒนาทักษะดังกล่าวให้กับเยาวชนไทยเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นผู้นำในระดับสากลมากยิ่งขึ้น โดย STEAM Platform จะเปรียบเสมือนแพลตฟอร์มในการเร่งการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนโดยอาศัยการแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะและการฝึกอบรมความคิด ตลอดจนการฝึกฝนผู้ประกอบการที่เป็นเยาวชน เพื่อสร้างผู้นำเยาวชนระดับโลกที่มีทักษะความรู้และทักษะการเป็นผู้ประกอบการในการขับเคลื่อนโลกไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน
ด้านการค้าและการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา หรือ สคพ. ได้แสดงข้อมูลให้เห็นว่า ปัจจุบันการค้าระดับโลกยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบเพื่อรองรับเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น ยังไม่มี HS code (Harmonized System) หรือพิกัดศุลกากร สำหรับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ไม่มีการติดตามสถิติของการค้าดังกล่าว แต่ในบางประเทศอย่าง อินเดีย ได้เริ่มจัดทำ HS code ของสินค้าประเภทดังกล่าวแล้ว ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ในการติดตามวางแผนในอนาคต เช่น ทำให้ทราบว่าตลาดสินค้าอยู่ที่ใด หรือใครที่เป็น ผู้ส่งออกหลัก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากมองสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน ตอนนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยเราควรปรับเข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy โดยอาจเริ่มจากกลุ่มที่ไทยเข้าไปเป็นเป็นส่วนหนึ่งของ Global value chain เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ โดยปรับการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนา Circular Economy ในภาคบริการ เนื่องจากในอนาคตจะเกิดการสร้างงานในภาคบริการเพิ่มมากขึ้น และงานภาคการผลิตจะลดลงจากการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติต่างๆ
Click Donate Support Web