- Details
- Category: บริหาร-จัดการ
- Published: Thursday, 31 January 2019 20:08
- Hits: 3799
PwC เผย 10 โอกาสในการสร้างความไว้วางใจในโลกดิจิทัลสำหรับธุรกิจ ด้าน PwC ประเทศไทย แนะผู้ประกอบการไทยเตรียมพร้อมสำหรับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
• ความเชื่อมั่นต่อบุคลากร กระบวนการ และเทคโนโลยี มีความสำคัญต่อการสร้างโลกดิจิทัลที่ปลอดภัย
• มีธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่เพียงครึ่งหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ระบุว่า มีการเตรียมรับมือต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ขณะที่มีบริษัทน้อยกว่าครึ่งที่บอกว่า มีความพร้อมอย่างมากเพราะได้มีการทดสอบการรับมือจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์อย่างเพียงพอ
PwC เผยผลสำรวจพบองค์กรทั่วโลก ยังขาดความพร้อมในการระบุภัยคุกคามจากความเสี่ยงในโลกไซเบอร์และไม่มีมาตรการป้องกันธุรกิจและลูกค้าของตนที่เพียงพอ พร้อมชี้ให้ผู้บริหารเห็นถึง 10 โอกาสสำคัญที่องค์กรสามารถนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนาความมั่นคงและความเป็นส่วนตัวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค ด้าน PwC ประเทศไทย ย้ำธุรกิจไทยต้องปรับตัวรับกฎหมายจีดีพีอาร์ของอียู และกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของไทยใกล้บังคับใช้ รวมถึงมีมาตรการป้องกันภัยไซเบอร์ เพื่อสร้างความไว้วางใจในโลกดิจิทัลให้กับผู้บริโภคชาวไทยที่หันมาใช้บริการออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น
นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจ Digital Trust Insights ซึ่งมาจากผลสำรวจ Global State of Information Security® Survey (GSISS) ของ PwC ที่ได้จัดทำติดต่อกันเป็นเวลาถึง 20 ปี โดย PwC ทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลด้านความเสี่ยงบนโลกไซเบอร์ ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ โดยในปีนี้ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้นำธุรกิจจำนวน 3,000 ราย ใน 81 ประเทศ จากกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก โดยระบุว่า “การดำเนินธุรกิจในโลกที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น ทำให้บริษัทต่างต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ในการดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็น เพื่อจัดการกับความเสี่ยงด้านดิจิทัล รวมทั้งมีมาตรการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก แต่ผลจากการสำรวจกลับพบว่า องค์กรไม่ว่าจะขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ ต่างยังไม่มีความพร้อมที่จะระบุความเสี่ยง และป้องกันองค์กรรวมถึงลูกค้าของพวกเขาเลย”
สำหรับ ประเด็นที่น่าสนใจจากผลสำรวจ ได้แก่
• มีธุรกิจเพียง 53% เท่านั้นที่มีการบริหารจัดการความเสี่ยงในเชิงรุกหรือ ‘แบบเต็มที่ตั้งแต่เริ่มต้น’ เพื่อเปลี่ยนถ่ายธุรกิจเข้าสู่ดิจิทัล
• มีบริษัทเพียงส่วนน้อย (23%) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีรายได้มากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไป ที่มีแผนที่จะจัดให้มีระบบและมาตรการป้องกันความปลอดภัยสอดคล้องไปกับวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ
• มีผู้บริหารเพียง 27% เท่านั้นที่เชื่อว่า คณะกรรมการของพวกเขามีตัวชี้วัดสำหรับการจัดการความเสี่ยงในโลกไซเบอร์ความเสี่ยงด้านข้อมูล และความเป็นส่วนตัวที่เพียงพอ
• มีองค์กรที่มีรายได้มากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากกลุ่มอุตสาหกรรมหลักทั่วโลกน้อยกว่าครึ่งที่บอกว่า มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ จีดีพีอาร์ (General Data Protection Regulation: GDPR) ที่มีผลบังคับใช้ไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561
• แม้ว่า 81% ของผู้บริหารจะเล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หรือ ไอโอที (The Internet of Things: IoT) ต่อธุรกิจของพวกเขา แต่มีเพียงแค่ 39% เท่านั้นที่มีความมั่นใจมากว่า ได้มีการนำระบบการควบคุมความเสี่ยงด้านดิจิทัลมาประยุกต์ใช้อย่างเพียงพอ
ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นต่อบุคลากร กระบวนการ และเทคโนโลยี ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างความปลอดภัยในโลกดิจิทัล องค์กรต่างๆ มีความจำเป็นที่จะต้องนำความกังวลด้านไซเบอร์มาประเมินและบรรจุอยู่ในแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างรอบคอบ มากกว่าการลดผลกระทบจากความเสี่ยงทั่วๆ ไป เพื่อสร้างแต้มต่อในการแข่งขัน และทำให้องค์กรของตนกลายเป็นองค์กรที่ได้รับความไว้วางใจ ทั้งในด้านของความปลอดภัย ความมั่นคง ความไว้วางใจได้ ความเป็นส่วนตัว และการมีจริยธรรมด้านข้อมูล
นาย ฌอน จอยซ์ หัวหน้าสายงานรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์และความเป็นส่วนตัว ของ PwC ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า
“ภารกิจสำคัญของการจัดการความเสี่ยงด้านไซเบอร์ถือได้ว่ามีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ จากเดิมที่มุ่งเน้นในเรื่องของความปลอดภัยของข้อมูล วันนี้เน้นไปที่การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านดิจิทัลแบบองค์รวม ดังนั้น ผลสำรวจของเราต้องการที่จะช่วยให้ผู้บริหารสามารถจัดการกับความท้าทายในวันพรุ่งนี้ให้ได้ องค์กรไหนที่แสดงให้โลกเห็นได้ว่า มีความสามารถในการสร้างความปลอดภัย ความมั่นคง ความไว้วางใจได้ ความเป็นส่วนตัวทางด้านข้อมูล และมีจริยธรรม องค์กรนั้นจะก้าวขึ้นเป็นยักษ์ใหญ่ของโลกได้ในอนาคต”
ทั้งนี้ ผลสำรวจของ PwC ฉบับนี้ยังได้แบ่งแยกกลไกที่บริษัทต่างๆ ควรต้องมี เพื่อสร้างความไว้วางใจด้านดิจิทัลและเตรียมรับมือกับความเสี่ยงทางไซเบอร์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา โดยได้ระบุถึง 10 โอกาสที่องค์กรจะสามารถนำไปใช้เพื่อปรับปรุงระบบความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว รวมถึงสร้างความไว้วางใจจากผู้บริโภคได้
1. ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนองค์กรไปสู่ดิจิทัล
2. ยกระดับทีมบุคลากรมากความสามารถและทีมผู้นำขององค์กร
3. เพิ่มการตระหนักรู้ของพนักงานและความสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบของตน
4. ปรับปรุงการสื่อสารและการมีส่วนร่วมกับคณะกรรมการบริษัท
5. บรรจุให้แผนความปลอดภัยให้เชื่อมโยงกับเป้าหมายทางธุรกิจ
6. สร้างความไว้วางใจด้านข้อมูลที่ยั่งยืน
7. เพิ่มความยืดหยุ่นทางไซเบอร์
8. รู้ว่าศัตรูหรือภัยขององค์กรคืออะไร
9. มีความตื่นตัวในการปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับ
10. ก้าวให้ทันนวัตกรรม
ด้าน นางสาว วิไลพร กล่าวทิ้งท้ายว่า “ปัจจุบันธุรกิจไทยแทบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารพาณิชย์ ค้าปลีก และสื่อสารมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการแก่ผู้บริโภคอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นโมบายแบงก์กิ้ง ชอปปิงออนไลน์ หรือ อีวอลเล็ต แต่ความเสี่ยงที่ตามมาคือ จำนวนอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ในรูปแบบใหม่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะฉะนั้น ผู้บริหารต้องมีมาตรการ รวมถึงแผนลงทุนด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและการป้องกันภัยทางไซเบอร์ที่มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น อยากแนะนำให้ผู้บริหารตื่นตัวในเรื่องของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นกระแสที่ทั่วโลกรวมถึงไทยกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของไทยได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้รับหลักการของร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวเรียบร้อยแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งนี่จะเป็นการสร้างกลไกการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นมาตรฐานเดียวกันและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล”
“แนวโน้มการละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลและสิทธิความเป็นส่วนตัวของไทยจะยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น จึงอยากเตือนผู้ประกอบการว่า ควรต้องเตรียมพร้อมในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นขอความยินยอมในการเข้าถึงข้อมูลจากลูกค้า หรือการต้องระบุวัตถุประสงค์การใช้ข้อมูลที่ชัดเจน ไปจนถึงการมีระบบหลังบ้านเพื่อที่ดูแลข้อมูล โดยอาจปรึกษาทีมผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะประเด็นเรื่องของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะถือเป็นเรื่องที่บริษัทไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน”
เกี่ยวกับ PwC
ที่ PwC เป้าประสงค์ของเรา คือ การสร้างความไว้วางใจในสังคมและช่วยแก้ปัญหาสำคัญให้กับลูกค้า เราเป็นหนึ่งในบริษัทเครือข่าย 158 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 250,000 คนที่ยึดมั่นในการส่งมอบบริการคุณภาพด้านการตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางธุรกิจ กฎหมายและภาษี หากคุณต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้ที่ www.pwc.com
เกี่ยวกับ PwC ประเทศไทย
PwC ประเทศไทย ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 60 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่างๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรมากกว่า 2,000 คนในประเทศ
PwC refers to the PwC network and/or one or more of its member firms, each of which is a separate legal entity. Please see www.pwc.com/structure for further details.
© 2019 PwC. All rights reserved
Click Donate Support Web