- Details
- Category: บริหาร-จัดการ
- Published: Monday, 15 October 2018 10:48
- Hits: 12831
ถอดกรณีศึกษา'นกแอร์'กับการสร้างแบรนด์ด้วย'Corporate Identity'
ตลอดกว่า 10 ปีที่ทำตลาดในบ้านเรามา นกแอร์ ถือเป็นอีก 1 กรณีศึกษาที่น่าสนใจ สำหรับการสร้างแบรนด์สายการบินที่เป็นสายการบินราคาประหยัด โดยเป็นอีกบทเรียนการตลาดที่น่าสนใจอีกเคสหนึ่งที่ว่าด้วยเรื่องของการสร้างแบรนด์.....
นกแอร์ ถือกำเนิดขึ้นบนแนวคิดของความแตกต่าง โดยเฉพาะกับการวาง Positioning ของแบรนด์ ให้มีความแตกต่างจากสายการบินราคาประหยัด แบรนด์อื่นๆ อย่างสิ้นเชิง โดยวางตำแหน่งของตัวเองให้อยู่ระหว่างสายการบินที่เป็น Full Service กับสายการบินราคาประหยัด แบรนด์อื่นๆ สิ่งที่สามารถจับต้องในเรื่องของความแตกต่างในด้านการวางตำแหน่งก็คือการให้บริการ ที่นกแอร์เป็นสายการบินราคาประหยัด รายแรกที่มีการเสิร์ฟขนม และเครื่องดื่มบนทุกเที่ยวบินของตัวเอง
แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้น น่าจะอยู่ที่เรื่องของการลงรายละเอียดในการสร้างแบรนด์ โดยเฉพาะกับการใช้ Corporate Identity เข้ามาเป็นตัวช่วยเชื่อมโยงภาพ และสร้างการรับรู้แบรนด์ ตลอดจนช่วยสะท้อนคาแรคเตอร์ของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี
การใช้การดีไซน์ Corporate Identity ของนกแอร์ จะทำตั้งแต่ การออกแบบโลโก้ของสายการบินเริ่มมาจากชื่อ 'นกแอร์' ซึ่งในแง่ธุรกิจการบิน เป็นชื่อที่ จดจำง่าย ความหมายตรงตัว เพราะเป็นสัตว์ที่บินและอยู่บนอากาศ
ไม่เพียงแค่เรื่องของโลโก้เท่านั้น แต่ยังมีการออกแบบตัวเครื่องบิน พร้อมกับตั้งชื่อเครื่องบินแต่ละลำให้เป็นชื่อนกในอริยบทต่างๆ อาทิ นกอมยิ้ม นกสบาย หรือนกดีดี หรือนกที่สื่อถึงความสง่างามแบบไทย ผ่านอัญมณีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นกเพชรน้ำเงิน นกหยกนภา นกทองชมพู นกบุษน้ำเพชร นกทับทิมสยาม และนกบุษราคัม โดยเฉพาะกับเครื่อง Boeing นั้นจะมาพร้อมเอกลักษณ์อันโดดเด่น ทำให้เป็นที่จดจำ คือ ลายตรงส่วนหัวเครื่องที่มีทั้งจะงอยปากและดวงตาของนกในตำแหน่งที่เป๊ะและเป็นหนึ่งเดียวกับเครื่องบิน ดีไซน์ที่มีหลากหลายสีสัน รวมทั้งรอยยิ้มขี้เล่นที่สื่อถึงความเป็นกันเองของสายการบินจนเป็นที่สะดุดตา ซึ่งถูกการันตีด้วยการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งใน 18 สายการบินที่มีลวดลายเพ้นท์บนตัวเครื่องสวยที่สุดโดย CNN Travel นอกจากนี้ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นสายการบินราคาประหยัดที่ดีที่สุดของประเทศไทยประจำปี 2561 โดย สกายแทร็กซ์ (Best Low-cost Airlines in Thailand 2018 by Skytrax)
ไม่เพียงเท่านั้น แอร์โฮสเตสที่ให้บริการอยู่บนเครื่อง ยังมีการใช้คำว่า 'นก'เข้ามานำหน้าชื่อเล่นของตัวเอง รวมถึงการเลือกใช้สีเหลืองซึ่งเป็นสีหลักของแบรนด์นกแอร์เป็นตัวคุมโทนภาพทั้งหมดอีกทีหนึ่ง
เรียกได้ว่า มีการดีไซน์ Corporate Identity ที่คุมโทนทั้งหมดของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเจ้าตัว Corporate Identity หรืออัตลักษณ์ขององค์กรนี้ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างแบรนด์ในยุคปัจจุบัน เพราะเป็นตัวที่ช่วยแปรในสิ่งที่เห็นทั้งหมดให้ออกมาเป็น Personality ของแบรนด์ โดยความสำคัญของ Corporate Identity นั้น อยู่ที่ช่วยทำให้มีตัวตนที่ชัดเจน ที่ทำให้คนภายนอกสามารถจดจำแบรนด์ได้ง่ายขึ้น จึงไม่แปลกที่ภาพของแบรนด์นกแอร์ในสายตาของลูกค้าจะออกมาในลักษณะที่เจ้าของแบรนด์ต้องการจะสื่อทุกอย่าง โดยเฉพาะกับการเป็นแบรนด์สายการบินที่มีบุคลิกร่าเริง เข้าถึงได้ง่าย
การสร้างแบรนด์ด้วยการให้ความสำคัญกับเรื่องของการสร้าง Identity เพื่อเชื่อมโยงมาสู่การสร้างการรับรู้แบรนด์นั้น เข้ามาเป็นตัวช่วยชั้นดีในการทำตลาดของนกแอร์ โดยเฉพาะกับในช่วงต่อจากนี้ไปที่นกแอร์มีแผนที่จะ ปรับ Postioning ของแบรนด์ใหม่ เพื่อให้สามารถจับต้องความแตกต่าง และตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ตรงจุดมากขึ้น โดยการแข่งขันในตลาดค่อนข้างรุนแรง กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญให้นกแอร์ต้องเร่งปรับ Positioning ของตัวเอง เพื่อทำให้แบรนด์สามารถฉีกหนีคู่แข่งขันรายอื่นๆ ในตลาดได้
นกแอร์ มองถึงการผลักดันให้ตัวเอง ก้าวขึ้นเป็นไลฟ์สไตล์ แอร์ไลน์ เนื่องจากรูปแบบของการทำตลาดสายการบินราคาประหยัด ในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากอดีต ไม่ใช่แค่การที่เดินทางจากจุดนึงไปอีกจุดนึง แต่ต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ของพวกเขา ทำให้ต้องการมีการสร้างแฟนคลับของตัวเอง ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะสื่อสารไปยังกลุ่มคนกลุ่มต่างๆได้อย่างตรงจุด เพราะการทำตลาดในยุคนี้ไม่สามารถหว่านแหแบบในอดีต แต่ต้องเจาะตรงเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงของเรา การทำตลาดแบบนี้ ทำให้นกแอร์ ไม่จำเป็นต้องไปสู้ในตลาดราคา แต่มันทำให้นกแอร์สามารถเซ็กเม้นต์กลุ่มของราคาได้แตกต่างกัน
ภายใต้การปรับกลยุทธ์ดังกล่าว จะมีการปรับเปลี่ยนโปรดักท์ใหม่ให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าตามความต้องการในแต่ละเซ็กเม้นต์ได้อย่างตรงจุด โดยจะมีการครีเอทเซ็กเม้นต์ออกมา 3 เซ็กเม้นต์หลักๆ ไล่ตั้งแต่ บินเบาๆ (Nok Lite) เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการบินในราคาถูก เป็นตัวที่แข่งขันกับสายการบินราคาประหยัด ทั่วไป เซ็กเม้นต์ที่ 2 นกสบาย (Nok X-tra) เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการการเสิร์ฟน้ำ หรือขนมเล็กน้อย และสุดท้าย นกเพลิดเพลิน (Nok MAX) ซึ่งเป็นโปรดักท์ที่พรีเมียมมากขึ้น มีการเสิร์ฟอาหาร เครื่องดื่มบนเครื่อง เหมือนซื้อออฟชั่นเพิ่ม ซึ่งการปรับโปรดักท์ให้มีความหลากหลายนั้น เป็นการสร้างทางเลือกที่เพิ่มขึ้นให้กับลูกค้าที่แต่ละเซ็กเม้นต์มีความต้องการไม่เหมือนกัน
ถือเป็นการขยับตัวอีกครั้งของนกแอร์ ซึ่งว่าไปแล้ว การมีต้นทุนแบรนด์ที่ดีที่ถูกสร้างแบบ 'สะสม'มาตั้งแต่เริ่มเปิดตัวแบรนด์นกแอร์ จะเข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญในการก้าวไปสู่การเป็นไลฟ์สไตล์ แอร์ไลน์ อย่างสมบูรณ์แบบ....
Click Donate Support Web