- Details
- Category: บริหาร-จัดการ
- Published: Saturday, 29 September 2018 14:04
- Hits: 9403
PwC เผย 4 ใน 5 ของผู้บริหารจ่อใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนกับธุรกิจของตน
• จีนจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการพัฒนาบล็อกเชนของโลกแทนสหรัฐฯ ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า
• ความไว้วางใจ และความไม่แน่นอนของกฎระเบียบ ถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดต่อการนำบล็อกเชนมาใช้กับธุรกิจ
PwC เผย 84% ของผู้บริหารทั่วโลกที่ทำการสำรวจกำลังมีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตน โดย 15% ได้นำนวัตกรรมนี้มาใช้งานจริงแล้ว หลังระบบบล็อกเชนปฏิวัติการเชื่อมต่อการดำเนินธุรกิจในยุคอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ชี้จีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ในการเป็นผู้นำการพัฒนาในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ด้านไทยมองบล็อกเชนจะขยายตัวมากขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น โดยไม่กระจุกอยู่เพียงโลกการเงิน
ทั้งนี้ รายงาน Blockchain is here. What’s your next move? ทำการสำรวจผู้บริหารจำนวน 600 ราย ใน 15 ตลาดสำคัญทั่วโลก เกี่ยวกับการพัฒนาระบบบล็อกเชนรวมถึงมุมมองต่อศักยภาพของเทคโนโลยีนี้ โดยรายงานนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณที่ชัดเจนว่า หลายองค์กรยังคงมีความกังวลว่า ตนจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง หลังการพัฒนาบล็อกเชนได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเปิดประตูไปสู่โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ด้วยต้นทุนที่ลดลง ความรวดเร็วที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึง ความโปร่งใส และตรวจสอบได้ที่มีมากขึ้น
รายงานพบว่า 1 ใน 4 ของผู้บริหารรายงานว่า กำลังดำเนินโครงการนำร่องในการใช้ระบบบล็อกเชนอยู่ (10%) หรือได้นำมาใช้งานจริงแล้ว (15%) ขณะที่เกือบ 1 ใน 3 หรือ 32% มีแผนที่กำลังจะพัฒนาโครงการ และ 1 ใน 5 หรือ 20% อยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้อยู่
นอกจากนี้ ประเทศผู้นำอย่างสหรัฐอเมริกา (29%) สาธารณรัฐประชาชนจีน (18%) และออสเตรเลีย (7%) ในปัจจุบัน ถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาโครงการบล็อกเชนมากที่สุด แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงอีก 3-5 ปีข้างหน้า 30% ของผู้บริหารเชื่อว่า จีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ได้ ซึ่งจะส่งผลให้อิทธิพลและศูนย์กลางในการพัฒนากิจกรรมบล็อกเชนมาอยู่ที่จีน แทนที่จะเป็นสหรัฐฯ และยุโรปเหมือนในช่วงยุคแรกๆ
รายงานของ PwC ยังชี้ให้เห็นถึงความล้ำหน้าของอุตสาหกรรมบริการทางการเงินในการพัฒนาบล็อกเชน โดย 46% ของผู้บริหารระบุว่า อุตสาหกรรมบริการทางการเงิน เป็นผู้นำการพัฒนาบล็อกเชนอยู่ในปัจจุบัน และ 41% กล่าวว่า ในระยะอันใกล้หรือ 3-5 ปีข้างหน้า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการนำบล็อกเชนเข้ามาใช้ในระยะอีก 3-5 ปีข้างหน้าเช่นกัน ได้แก่ พลังงานและสาธารณูปโภค (14%) บริการทางด้านสุขภาพ (14%) และ อุตสาหกรรมการผลิต (12%)
“สิ่งที่ผู้บริหารธุรกิจบอกกับเราคือ ไม่มีใครอยากถูกบล็อกเชนทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งถึงแม้ว่า ตอนนี้จะเป็นระยะเริ่มต้นของการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ก็ตาม แต่ความกังวลต่อความไว้วางใจและกฎระเบียบข้อบังคับยังคงมีอยู่” นาย สตีฟ เดวีส์ หัวหน้าสายงานบล็อกเชน ของ PwC กล่าว
“บล็อกเชนที่ถูกออกแบบมาอย่างดีนั้น ไม่ได้เพียงช่วยตัดตัวกลางเท่านั้น แต่ยังช่วยลดต้นทุน เพิ่มความรวดเร็ว การเข้าถึง ความโปร่งใส และตรวจสอบได้ให้กับกระบวนการในการดำเนินธุรกิจ ฉะนั้น หากผู้บริหารมีความเข้าใจอย่างแท้จริงว่า จะนำศักยภาพของเทคโนโลยีนี้มาใช้ได้อย่างไรก็จะทำให้เหตุผลทางธุรกิจมีน้ำหนักและสร้างความน่าดึงดูด”
แม้ว่า ประโยชน์ที่สำคัญของบล็อกเชนจะอยู่ที่การพัฒนาและส่งมอบผ่านแพลตฟอร์มที่มีการแลกเปลี่ยนระหว่างกันในกลุ่มอุตสาหกรรม แต่รายงานชี้ว่า สิ่งเหล่านี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หากปราศจากการร่วมมือกันของหลายๆ ฝ่าย ซึ่งรวมไปถึงคู่แข่ง ที่ต้องมีการตกลงร่วมกันในเรื่องของมาตรฐานและข้อปฏิบัติที่จะนำมาใช้
แม้ศักยภาพของบล็อกเชนจะมีมาก แต่ 45% ของผู้บริหารยังมองว่า ความไว้วางใจ ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดที่ปิดกั้นการนำบล็อกเชนมาใช้ ในขณะที่ 48% เชื่อว่า ความไม่แน่นอนของกฎระเบียบจะเป็นปัจจัยที่ปิดกั้นการพัฒนาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับความไว้วางใจในหมู่ผู้ใช้งานพบมากที่สุดในกลุ่มผู้บริหารจากสิงคโปร์ (37%) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (34%) และเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (35%) โดยยังสะท้อนให้ถึงการพัฒนาบล็อกเชนในส่วนของอุตสาหกรรมบริการทางการเงินที่ถือเป็นผู้เล่นหลัก นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบ ยังถูกพบมากที่สุดในกลุ่มผู้บริหารจากเยอรมนี (38%) ออสเตรเลีย (37%) และสหราชอาณาจักร (32%)
“คำว่าบล็อกเชน ตามคำจำกัดความ ถือเป็นเทคโนโลยีที่น่าจะก่อให้เกิดความไว้วางใจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว บริษัทหลายรายยังคงเผชิญกับปัญหานี้อยู่โดยตลอด ฉะนั้น การที่องค์กรไม่มีการจัดทำเหตุผลทางธุรกิจที่ชัดเจนตั้งแต่ต้น ก็อาจทำให้ความก้าวหน้าของโครงการหยุดชะงักได้ ดังนั้น ธุรกิจจำเป็นต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการออกแบบเหตุผลทางธุรกิจที่ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องของการสร้างความไว้วางใจ และความกังวลเกี่ยวกับกฎระเบียบให้ได้” เขา กล่าว
“การสร้างสรรค์ และการนำบล็อกเชนมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ไม่ใช่โปรเจ็กงานทางด้านไอที แต่เป็นการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการดำเนินธุรกิจ บทบาทหน้าที่ และกระบวนการต่างๆ ขององค์กร ผู้บริหารจำเป็นที่จะต้องสร้างระบบนิเวศที่สนับสนุนและสอดรับกับการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ พร้อมกับต้องมีกฎระเบียบ มาตรฐาน และความยืดหยุ่นในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นตามมา” เขา กล่าว
รายงานยังระบุอีกว่า 1 ใน 3 ของผู้บริหารที่รายงานว่า ตนมีส่วนร่วมน้อย หรือไม่มีส่วนร่วมต่อการนำบล็อกเชนมาใช้เลย ให้เหตุผลว่า ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากต้นทุนค่าใช้จ่าย (31%) ความไม่แน่ใจว่าควรเริ่มต้นจากจุดไหน (24%) และประเด็นเรื่องการกำกับดูแล (14%)
นอกจากนี้ PwC ยังได้ระบุถึง 4 ปัจจัยสำคัญที่องค์กรสามารถนำไปปรับใช้ เพื่อการพัฒนาบล็อกเชนทั้งภายในองค์กร หรือในกลุ่มอุตสาหกรรมของตน ดังนี้
1. จัดทำเหตุผลทางธุรกิจ องค์กรต้องมีการจัดทำวัตถุประสงค์ของโครงการที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบบล็อกเชนสามารถเห็นถึงประโยชน์และตอบสนองความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของธุรกิจโดยอาจเริ่มจากโครงการเล็กๆ ก็ได้
2. สร้างระบบนิเวศในอุตสาหกรรม ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากองค์กรต่างๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรม ควรทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดจุดยืนในการควบคุมทิศทางของการนำบล็อกเชนมาใช้ ทั้งนี้ 15% ของผู้บริหารที่ได้มีการนำบล็อกเชนมาใช้งานจริงแล้วในองค์กร มี 88% เป็นผู้นำ หรือเป็นสมาชิกผู้ใช้งานบล็อกเชนเฉพาะผู้ได้รับอนุญาตใช้งานภายในองค์กรเครือข่ายเท่านั้น (Consortium)
3. ออกแบบให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน หุ้นส่วนจำเป็นต้องมีกฎและมาตรฐานต่อสิทธิในการเข้าถึง นอกจากนี้ยังต้องได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารความเสี่ยงในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กฎหมาย การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ หรือ ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อให้แน่ใจว่า กรอบของการพัฒนาระบบบล็อกเชนจะสร้างความไว้วางใจต่อทั้งฝั่งผู้คุมกฎและผู้ใช้
4. ติดตามความไม่แน่นอนของกฎระเบียบข้อบังคับ รายงานยังได้เตือนด้วยว่า นักพัฒนาบล็อกเชนควรเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของกฎระเบียบ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ควรรีรอที่จะลงมือพัฒนาระบบ เพราะกฎระเบียบมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การมีส่วนร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยกำหนดสภาพแวดล้อมของการพัฒนาบล็อกเชนว่า ควรเป็นไปในทิศทางใด
ด้าน นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า เห็นความเคลื่อนไหวของทั้งองค์กรและหน่วยงานกำกับดูแลต่อการพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งแม้จะอยู่ในช่วงเริ่มต้นและยังจำกัดอยู่ในวงแคบ เช่น ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงินเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ถือว่า สอดคล้องไปกับกระแสโลก ในระยะข้างหน้า คาดหวังว่า จะเห็นความตื่นตัวขององค์กรไทยจากภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จะเริ่มศึกษาเพื่อนำบล็อกเชนมาพัฒนาในอุตสาหกรรมของตนบ้าง
“ความท้าทายของการนำบล็อกเชนมาใช้ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่โลกการเงินเท่านั้น แต่ในธุรกิจอื่นๆ ก็สามารถปรับใช้ได้เช่นกัน โดยการปรับตัวของทั้งภาครัฐและเอกชนไทยต่อการเข้ามาของเทคโนโลยีนี้ จะเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาบล็อกเชนในระยะยาว ดิฉันยังเชื่อว่า ปัจจัยที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือ การศึกษา และทำความเข้าใจในเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งจุดนี้จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการมีความได้เปรียบในการคว้าโอกาสใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้กับกิจการของตน”
เกี่ยวกับ PwC
ที่ PwC เป้าประสงค์ของเรา คือ การสร้างความไว้วางใจในสังคมและช่วยแก้ปัญหาสำคัญให้กับลูกค้า เราเป็นหนึ่งในบริษัทเครือข่าย 158 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 236,000 คนที่ยึดมั่นในการส่งมอบบริการคุณภาพด้านการตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางธุรกิจ กฎหมายและภาษี สำหรับประเทศไทย บริษัทถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 59 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่างๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรกว่า 2,000 คนในประเทศไทย
PwC refers to the PwC network and/or one or more of its member firms, each of which is a separate legal entity. Please see www.pwc.com/structure for further details.
© 2018 PwC. All rights reserved