- Details
- Category: บริหาร-จัดการ
- Published: Wednesday, 18 July 2018 16:07
- Hits: 2975
บริหารความเสี่ยงด้านนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยหนุนการเติบโตขององค์กรรายงานล่าสุดของ 'พีดับเบิ้ลยูซี' เผยผู้นำความเสี่ยงทั่วโลกกำลังรับมือกับความท้าทาทายที่มากับนวัตกรรม
PwC เผยองค์กรทั่วโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ และความท้าทายที่ยังไม่เคยมีมาก่อน ภายหลังนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีปฏิวัติสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมแนะข้อปฏิบัติในการบริหารความเสี่ยงที่จะช่วยติดอาวุธให้กับผู้นำองค์กร ให้ได้รับคุณค่าจากการดำเนินงานด้านนวัตกรรมอย่างแท้จริง และสามารถจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องได้ดีขึ้นเพื่อรองรับกับการเติบโตในอนาคต
นาง วารุณี ปรีดานนท์ หุ้นส่วนสายงานบริหารความเสี่ยงและตรวจสอบภายใน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงานการประเมินความเสี่ยงขององค์กร (Risk in Review Study) ประจำปี 2561 ในหัวข้อ “Managing risks and enabling growth in the age of innovation” ที่ทำการสำรวจผู้บริหารความเสี่ยงระดับอาวุโสจำนวนกว่า 1,500 ราย ประกอบด้วย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความเสี่ยง คณะกรรมการตรวจสอบความเสี่ยง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารขององค์กรใน 76 ประเทศทั่วโลก โดยศึกษาถึงข้อปฏิบัติที่ผู้บริหารความเสี่ยงใช้เพื่อสร้างสมดุลระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทนจากการประยุกต์ใช้นวัตกรรมว่า ผู้บริหารถึง 60% ที่ทำการสำรวจ สามารถบริหารความเสี่ยงด้านนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก หรือมีประสิทธิภาพค่อนข้างมาก โดยเรียกกลุ่มนี้ว่าเป็น ‘ผู้ที่สามารถปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรม’ (Adapters)
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ที่ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรม ยังมีความสามารถเหนือกว่ากลุ่มที่ด้อยกว่า หรือ ‘กลุ่มผู้ที่ไม่ได้ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรม’ (Non-adapters) ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับนวัตกรรม เช่น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ (57% เทียบกับ 18% ของกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรม) และ คุณค่าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงนำมาสู่องค์กร (58% เปรียบเทียบกับ 18% ของกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรม)
ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มผู้ที่ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรม ยังเป็นกลุ่มที่มีความมั่นใจในความสามารถของการบริหารกิจกรรมความเสี่ยงที่เกิดจากเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง มากกว่ากลุ่มที่ด้อยกว่าถึง 2 ถึง 3 เท่า และเป็นกลุ่มที่คาดว่า รายได้ขององค์กรจะมีแนวโน้มเติบโต
นาย แอนดรูว์ แมคเฟอร์สัน หัวหน้าสายงานการปฏิบัติตามความเสี่ยงทั่วโลก และตรวจสอบภายใน กล่าวว่า “ธุรกิจทั่วโลกกำลังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นใหม่เพื่อสร้างการเติบโตให้กับองค์กร แต่การที่จะใช้ประโยชน์จากโอกาสเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่นั้น องค์กรต้องมีความสามารถในการบริหารความเสี่ยง และการประยุกต์ใช้นวัตกรรมที่สอดคล้องกันไปในทุกๆ ขั้นตอน โดยกลุ่มผู้ที่ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรมต้องมั่นใจว่า ผู้บริหารความเสี่ยงของตนแสดงความมีส่วนร่วมต่อการตัดสินใจตลอดทั้งวงจรชีวิตของนวัตกรรม และต้องมีการรับมือกับความเสี่ยงทั้งที่รู้จักและไม่คาดคิดมาก่อน โดยผู้ที่สามารถปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรมได้ จะสามารถรับมือกับความเสี่ยงได้อย่างแตกต่าง และมีความเป็นไปได้สูงถึง 3 เท่าที่หน่วยงานบริหารความเสี่ยงเหล่านี้จะมีความสามารถในการสร้างคุณค่าให้กับองค์กรได้อย่างมีนัยสำคัญ”
ทั้งนี้ ผลสำรวจของ PwC ยังได้สรุปความแตกต่างที่สำคัญ 5 ประการระหว่างกลุ่มผู้ที่ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรม และกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรม ดังนี้
1.การมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นและทั่วทั้งวงจรนวัตกรรม กลุ่มผู้ที่ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรมมีแนวโน้มที่จะให้คำแนะนำที่เกี่ยวกับกิจกรรมด้านนวัตกรรมก่อนที่จะเริ่มขั้นตอนการนำไปประยุกต์ใช้ มากกว่ากลุ่มผู้ที่ไม่ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรมถึง 2 เท่า
2.ความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยงด้านนวัตกรรมจากการดำเนินกิจกรรมใหม่ๆ ที่หลากหลาย กลุ่มผู้ที่ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรมมีความสามารถในการปฏิบัติการในด้านต่างๆ มากกว่ากลุ่มผู้ที่ไม่ได้ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรม โดยสามารถดำเนินการในด้านต่างๆ ได้ถึง 4 กิจกรรมหรือมากกว่านั้น เพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านนวัตกรรม ตั้งแต่การปรับกลยุทธ์และเป้าหมายขององค์กร ไปจนถึง การถ่ายโอนความเสี่ยง
3.ความสามารถในการปรับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้และระดับความเบี่ยงเบนของความเสี่ยงที่ยอมรับได้ กลุ่มผู้ที่ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรม มีความสามารถในการปรับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ดีกว่ากลุ่มที่ด้อยกว่า ดูจากความสามารถในการบริหาร 8 กิจกรรมบริหารความเสี่ยงที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจด้านนวัตกรรม ได้แก่ 1) การดำเนินธุรกรรมเชิงกลยุทธ์เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ 2) การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ นอกเหนือจากบริการหลักเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ 3) การใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือเพื่อกำหนดกลุ่มลูกค้ารายใหม่ๆ 4) การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ หรือประสบการณ์ของลูกค้าอย่างมีนัยสำคัญ 5) การเข้าสู่ตลาดใหม่ 6) การสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ 7) การเปลี่ยนรูปแบบในการกระจายสินค้า และ 8) การเปลี่ยนรูปแบบของพนักงานมากความสามารถ
4.ความสามารถในการใช้ทักษะ ความสามารถ และเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนนวัตกรรม 58% ของผู้ที่ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรมรายงานว่า ตนมีการส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารความเสี่ยงด้วยการเพิ่มชุดทักษะเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรมที่ 39%
5.การติดตามและประเมินผลประสิทธิภาพของการบริหารความเสี่ยงในหลากหลายรูปแบบ โดย 51% ของผู้ที่ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรมใช้บุคคลภายนอกในการประเมินความสามารถในการบริหารความเสี่ยง ขณะที่มีเพียง 27% ของผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรมที่มีการตรวจสอบประสิทธิภาพของตนในเรื่องนี้
ทั้งนี้ PwC ชี้ว่า สิ่งที่องค์กรต้องทำความเข้าใจคือ การบริหารความเสี่ยงและนวัตกรรมถือเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไป โดยในขณะที่องค์กรนำนวัตกรรมมาใช้เพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจ แต่การตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติการที่จำเป็น ในการรับมือกับความเสี่ยงทั้งที่รู้จักและไม่คาดคิดมาก่อน จะช่วยให้ผู้บริหารความเสี่ยงประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริง ในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเฉกเช่นทุกวันนี้ นอกจากนี้ ผู้บริหารความเสี่ยงต้องแสดงความมีส่วนร่วมตลอดทั้งวงจรชีวิตของการนำนวัตกรรมมาใช้ เพื่อให้สามารถระบุถึงปัญหา ประเมิน และบริหารความเสี่ยงด้านนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน นาง วารุณี กล่าวทิ้งท้ายว่า “ธุรกิจทั่วโลกกำลังเผชิญกับการแข่งขันในการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เกิดสินค้าและบริการใหม่ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งยังต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของข้อกฎหมาย สถานการณ์ทางการเมืองที่มีผลต่ออาณาเขตการทำธุรกิจ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีทางเลือกในการเข้าถึงสินค้าบริการได้ง่ายและหลายช่องทาง ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและมีรูปแบบใหม่ๆ ดังนั้น องค์กรที่ไม่สามารถรับมือได้ จะได้รับผลกระทบทางธุรกิจ เช่น ยอดขายลดลง ลูกค้าถดถอย หรือรุนแรงสุดอาจต้องปิดกิจการ ซึ่งธุรกิจจะต้องวิเคราะห์ความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ ก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น และเตรียมปรับแผนธุรกิจหรือการทำงานเพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยงดังกล่าว
“ในส่วนของการปรับแผนธุรกิจนั้น ผู้บริหารต้องเริ่มจากการทบทวนแผนธุรกิจหรือแผนยุทธศาสตร์ เพื่อลดความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ เช่น เริ่มปรับปรุงบริการใหม่โดยมีนวัตกรรมในการบริการลูกค้า การปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความน่าเชื่อถือ และควบคุมการปฏิบัติงานให้เป็นระบบ เพื่อลดความเสี่ยงจากการดำเนินงาน การบริหารการเงินให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดความเสี่ยงด้านการเงิน ตลอดจนการบริหารความเสี่ยงจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยการวิเคราะห์และจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ ต้องเริ่มจากผู้นำ เพื่อสร้างความมั่นใจและมั่นคงให้กับพนักงานและองค์กร ท่ามกลางสภาพการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา”
เกี่ยวกับ PwC
ที่ PwC เป้าประสงค์ของเรา คือ การสร้างความไว้วางใจในสังคมและช่วยแก้ปัญหาสำคัญให้กับลูกค้า เราเป็นหนึ่งในบริษัทเครือข่าย 158 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 236,000 คนที่ยึดมั่นในการส่งมอบบริการคุณภาพด้านการตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางธุรกิจ กฎหมายและภาษี สำหรับประเทศไทย บริษัทถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 59 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่างๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรกว่า 1,800 คนในประเทศไทย
PwC refers to the PwC network and/or one or more of its member firms, each of which is a separate legal entity. Please see www.pwc.com/structure for further details.
© 2018 PwC. All rights reserved