- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Wednesday, 03 January 2018 23:43
- Hits: 9023
เส้นทางประมูล 1800-900 MHz เดินหน้าบนคำวิจารณ์
ไทยโพสต์ ; ส่งท้ายปีไก่ 2560 กันด้วยประเด็นร้อนแรงที่หลายคนให้ความสนใจ กับการจัดประมูลคลื่นความถี่ขององค์กรอิสระอย่างสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ที่กำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจหน้าที่จากคณะกรรมการชุดเก่าที่ได้ทำงานครบวาระ 6 ปีไปแล้วเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา ไปสู่คณะกรรมการชุดใหม่ที่รอการสรรหา
แต่จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสามารถสรรหาคณะกรรมการชุดใหม่ได้เมื่อใด ด้วยขั้นตอนการสรรหาจะต้องตั้งกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่สรรหาก่อน ซึ่งยังไม่สามารถเลือกกรรมการขึ้นมาได้ โดยระหว่างนี้ได้ให้กรรมการชุดเก่ารักษาการแทนไปก่อน เพื่อให้การดำเนินงานด้านต่างๆ ไม่สะดุด โดยเฉพาะการจัดทำร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ในย่าน 900 MHz และ 1800 MHz
โดยทั้ง 2 คลื่นดังกล่าวจะหมดสัญญาสัมปทานพร้อมกันในวันที่ 16 ก.ย.61 การเร่งจัดทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลให้แล้วเสร็จ พร้อมเข้าสู่ขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับแก้ไขและประกาศใช้ จะทำให้จัดการประมูลคลื่นได้ก่อนสัญญาสัมปทานหมดลง เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการเยียวยาลูกค้ากับผู้ให้บริการเครือข่าย อีกทั้ง กสทช.มองว่าเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกที่จะอยู่ต่อ หรือ ย้ายไปอยู่ค่ายมือถือใหม่ที่ชนะการประมูล
* กสทช.รักษาการชี้เป็นชี้ตายประมูลคลื่นได้?
อย่างไรก็ตามยังคงมีข้อสงสัยเกิดขึ้นบนเส้นทางการประมูลที่ กสทช.หมายมั่นปั้นมือให้เป็นผลงานประวัติศาสตร์ทิ้งท้ายก่อนอำลาตำแหน่งว่า คณะกรรมการชุดเดิมมีอำนาจหน้าที่จริงหรือในการตัดสินใจและร่างหลักเกณฑ์การประมูลที่จะเกิดขึ้นหลังหมดวาระแล้ว
โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ชี้แจงว่าระหว่างที่มีการสรรหากรรมการชุดใหม่นั้น กสทช.ชุดปัจจุบันจะต้องทำหน้าที่เฉพาะที่จำเป็นแทนไปก่อนจนกว่าจะได้ชุดใหม่ ส่วนกรณีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จำนวน 45 MHz และ 900 MHz จำนวน 5 MHz ที่เป็นของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค (DTAC) ซึ่งทำสัมปทานไว้กับ บมจ.กสท โทรคมนาคม หรือ แคท (CAT) ซึ่งขอย้ำว่าไม่ต้องเป็นห่วงจะมีการประมูลเกิดขึ้นในปี 2561 ก่อนสิ้นอายุสัมปทานแน่นอน
อีกทั้ง เนื่องจากกรรมการชุดปัจจุบันยังสามารถดำเนินการทำร่างประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นดังกล่าวได้ ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน เม.ย.61 หลังจากนั้นเมื่อมีกรรมการชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แล้วก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ในการประมูล
* ร่างหลักเกณฑ์การประมูลสุดแพง
การประมูลครั้งนี้ใช้วิธีการประมูลแบบ N-1 คือจะต้องมีผู้เข้าประมูลมากกว่าจำนวนใบอนุญาตที่เปิดประมูล โดยใช้คลื่นความถี่ 900 MHz ในช่วง 890-895/935-940 ใน 1 ใบอนุญาต จำนวน 5 MHz อายุสัญญา 15 ปี ราคาเริ่มต้นประมูลที่ 37,988 ล้านบาท โดยเคาะราคา 76 ล้านบาทต่อรอบ ใช้เงินค้ำประกันจำนวน 1,900 ล้านบาท ส่วนคลื่น 1800 MHz ใช้คลื่นจำนวน 45 MHz ในช่วง 1740-1785/1835-1850 แบ่งออกเป็น 3 ชุด ใบอนุญาตละ 15 MHz อายุสัญญา 15 ปี โดยราคาเริ่มต้นประมูลคือ 37,457 ล้านบาท เคาะราคา 75 ล้านบาทต่อรอบ เงินค้ำประกันอยู่ที่ 1,873 ล้านบาท
โดยเงื่อนไข N-1 นั้นหลายคนต่างจับตามอง เพราะหากมีผู้เข้าร่วมประมูล 3 รายขึ้นไป ในคลื่น 1800 MHz ก็สามารถเคาะราคาแข่งขันกันได้ทั้ง 3 ใบอนุญาต หรือคลื่นทั้ง 3 ชุด แต่ถ้ามีผู้เข้าประมูล 3 ราย จะนำคลื่นออกมาประมูล 2 ชุดเท่านั้นเพื่อให้เกิดการแข่งขันกัน และหากมีผู้เข้าร่วมเพียง 1 ราย ก็จะให้ขยายระยะเวลาออกไป 30 วัน แล้วมาจัดประมูลอีกครั้งโดยให้ 1 รายที่เข้าร่วมนั้นต้องเคาะราคา 1 ครั้งเพื่อเป็นการยืนยันและเป็นผู้ชนะไป เช่นเดียวกับคลื่น 900 MHz หากมีการเข้าร่วมประมูลเพียง 1 ราย ก็ต้องขยายเวลา 30 วันเช่นกัน
แต่อย่าลืมว่าในตลาดนี้มีผู้เล่นขาประจำเจ้าถิ่นเพียง 3 รายเท่านั้น ซึ่งหลายคนคาดว่าประมูลรอบนี้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จะต้องขายออกไม่หมดอย่างแน่นอน
โดย กสทช.ก็เชื่อมั่นว่า ประมูลครั้งนี้คงไม่มีใครกล้าเข้ามาประมูลเพื่อทิ้งใบอนุญาตเหมือนที่ผ่านมา เพราะหากทำผิดเงื่อนไขจะต้องถูกยึดเงินประกันดังกล่าวและต้องจ่ายค่าปรับที่มีมูลค่าสูงมาก ซึ่งคลื่น 900 MHz มีค่าปรับ 5,699 ล้านบาท ส่วนคลื่น 1800 MHz มีค่าปรับ 5,619 ล้านบาท และเมื่อรวมกับเงินค้ำประกันที่จะถูกยึด ทำให้มีจำนวนสูงกว่า 7,000 ล้านบาท" เลขาฯ กสทช.กล่าว
นอกจากนี้ ที่ฮือฮาไม่น้อย คือประเด็นที่ กสทช.ยังคงให้โอกาสผู้ที่เคยทำผิดเงื่อนไขประมูลครั้งก่อน แต่ได้ดำเนินการจ่ายค่าปรับ ไม่ติดค้าง และไม่เคยยื่นฟ้อง กสทช.สามารถเข้าร่วมการประมูลครั้งนี้ได้ด้วยหากมีคุณสมบัติครบ ซึ่งเป็นการแจ้งเพื่อทราบว่ากรณีของบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด หรือ JAS ที่เคยเข้าร่วมประมูลแล้วเป็นผู้ชนะ แต่ไม่สามารถมาชำระเงินตามเงื่อนไขได้นั้น ถือว่าผิดเงื่อนไขการประมูล แต่ด้วยมีการจ่ายค่าปรับและจ่ายเงินค้ำประกันการประมูลเป็นที่เรียบร้อย และไม่ฟ้องร้องต่อศาล ก็มีโอกาสเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ได้หากยังต้องการใช้คลื่นดังกล่าวอยู่
* นักวิชาการแนะ N-1 ไม่เพิ่มการแข่งขัน
ฝั่งนักวิชาการด้านโทรคมนาคมแนะ กสทช.ทบทวนหลักเกณฑ์ N-1 โดยนายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า ต้องการให้ กสทช.ทบทวนหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการประมูลคลื่น ทั้งด้านการตั้งราคาตั้งต้นที่สูงเกินไป และการใช้วิธี N-1 เพื่อต้องการให้เกิดการแข่งขันด้านราคาในการประมูล ซึ่งมองว่าวิธีนี้ไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์การประมูลคลื่นความถี่ของไทยในขณะนี้
เนื่องด้วยราคากลางในการประมูลที่ กสทช.ตั้งไว้มีราคาสูง ทำให้วิธีนี้ไม่มีผลต่อการแข่งขันในการประมูล เพราะผู้ให้บริการรายใหญ่เท่านั้นที่สามารถแข่งขันได้ เชื่อว่าการประมูลคลื่น 1800 MHz จะมีผู้เข้าประมูลไม่เกิน 3 ราย ทำให้ กสทช.ต้องนำคลื่นที่เหลือจัดประมูลในครั้งต่อไปอีก
ด้านนายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด แสดงความคิดเห็นว่า N-1 เป็นสิ่งไม่จำเป็น กสทช.ให้ความสำคัญการแข่งขันก่อนการประมูล มากกว่าการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นหลังการประมูล ซึ่งหลังการประมูลการแข่งขันที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง ทั้งนี้อยากให้ กสทช.จัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยการกระจายคลื่นความถี่ที่มีอยู่ให้ผู้ประกอบการได้พัฒนาบริการ เพื่อการใช้งานที่มีประสิทธิภาพของผู้บริโภค
ส่วนนายฮานส์ อีลเล ที่ปรึกษาอาวุโส เนร่า อีโคโนมิค คอลซัลติ้ง (NERA Economic Consulting) เปิดเผยว่า ราคาตั้งต้นการประมูลที่กำหนดไว้สูงเกินไป ซึ่งยึดราคาของผู้ชนะประมูลครั้งที่ผ่านมานั้น อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพของคลื่นในระยะยาวได้ แม้ค่าให้บริการจะปรับสูงขึ้นไม่ได้ แต่คุณภาพที่ประชาชนได้รับจะลดลง หมายถึงปริมาณของอินเทอร์เน็ตในแพ็กเกจนั้นจะลดลง แต่ยังคงคิดค่าบริการเท่าเดิม ซึ่งก็เป็นราคาที่แพงขึ้นอยู่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณที่เคยได้รับ
ทั้งนี้ ในต่างประเทศเช่นอินเดียที่ตั้งราคาประมูลคลื่นไว้สูง มากๆ โดยเอาราคาชนะการประมูลจากครั้งก่อนมาเป็นราคาตั้งต้นเช่นกัน สุดท้ายเมื่อมีการประมูลก็ไม่มีผู้ประกอบการเข้าเคาะราคาเพราะราคาแพงเกินไป ส่งผลให้การทำธุรกิจเกิดการแข่งขันยาก เนื่องจากผู้ประกอบการมีต้นทุนที่สูง
* ลุ้น คสช.ช่วย TRUE-AIS ขยายจ่ายงวดไลเซนส์ 900 MHz
ด้วยผู้ประกอบการมีต้นทุนในการพัฒนาโครงข่ายและบริการที่สูงมากจากราคาเคาะสุดท้ายของการประมูลคลื่น 900 MHz เมื่อเดือน ธ.ค.58 ดังนั้น 2 บริษัท คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ที่เป็นผู้ชนะการประมูลจึงร่วมกันส่งหนังสือถึง คสช.ขอความช่วยเหลือให้ขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz งวดสุดท้ายออกไปอีก 7 งวด และไม่ต้องมีการชำระดอกเบี้ย โดย คสช.ส่งหนังสือนี้ไปให้ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช.พิจารณาเสนอความคิดเห็น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.60 กสทช.ได้พิจารณากรณีนี้ โดยไม่เห็นด้วยหากขยายงวดการชำระออกไปแล้วไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย ส่วนการขอขยายระยะเวลาแบ่งจ่ายออกเป็น 7 งวดนั้นนานเกินไป อาจส่งผลเป็นการผลักภาระไปให้ผู้บริโภคได้ จึงมีความเห็นว่าควรขยายระยะเวลาออกไป 3-5 งวดเท่านั้น และต้องจ่ายดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยยึดหลักการช่วยเหลือเหมือนกรณีที่ คสช.ออก ม.44 ช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ผ่านมา
นอกจากนี้ กสทช.ระบุชัดเจนว่าตนเองไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจเรื่องนี้ หากต้องการความช่วยเหลือต้องให้ คสช.ประกาศใช้ ม.44
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้สะท้อนถึงปัญหาของราคาคลื่นที่สูงจนเกินไป และการประมูลครั้งหน้าราคาคลื่นต้องสูงกว่าครั้งนี้อย่างแน่นอน กสทช.ควรมีมาตรการที่ชัดเจนออกมาแก้ไขในระยะยาว.
กสทช.นำส่งรายได้จากค่าประมูลความถี่ 1800 MHz งวด 2 พร้อมดอกเบี้ยกว่า 2 หมื่นลบ.ให้คลัง
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. นำเงินรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz งวดที่ 2 และดอกเบี้ยส่งกระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้แผ่นดิน จำนวนรวมทั้งสิ้น 20,195.59 ล้านบาท โดยเป็นเงินที่ได้จากการชำระค่าประมูลจากบริษัท
ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำนวน 9,948 ล้านบาท และจากบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) จำนวน 10,246.50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอีกจำนวน1.09 ล้านบาท ซึ่งการนำส่งเงินรายได้ดังกล่าว เป็นไปตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 45 ที่กำหนดให้เงินที่ได้จากการประมูลเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วให้ส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน
ทั้งนี้ ในปี 2558 ทั้งสองบริษัทได้ชำระค่าประมูลคลื่นความถี่ในงวดที่ 1 จำนวน 50% ของราคาที่ชนะการประมูลมาแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 43,216.23 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้นำส่งกระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินไปแล้ว
อินโฟเควสท์
สหภาพฯ ทีโอที ยื่นหนังสือจี้บอร์ด กสทช.เร่งอนุมัติแผนใช้งานคลื่นความถี่ 2300 MHz
นายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.ทีโอที พร้อมด้วยตัวแทนพนักงานกว่า 50 คน เดินทางมายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอให้ กสทช.เร่งพิจารณาอนุมัติแผนธุรกิจบริการไร้สายคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ของทีโอที
สำหรับ การมายื่นหนังสือในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 หลังจากเมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมาได้มายื่นไปแล้วครั้งหนึ่ง โดยสหภาพฯ มีข้อเรียกร้องหลักๆ 3 ข้อ คือ 1.ขอให้ กสทช.ดำเนินการตามใบอนุญาตที่ได้รับปัจจุบัน โดยไม่มีการเพิ่มเงื่อนไขใหม่ 2.หาก กสทช.ไม่อนุญาตจะส่งผลกระทบทำให้รัฐเสียรายได้กว่า 3.6 พันล้านบาท ถ้ารวมผลประกอบการทีโอทีด้วยก็ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท และ 3.การประมูลความถี่ครั้งต่อไป ไม่มีความเกี่ยวข้องกับทีโอที ฉะนั้นไม่ควรนำปัญหามาให้ทีโอที
ดังนั้น จึงขอให้คณะกรรมการ กสทช.เร่งรัดการพิจารณาแผนโดยเร็ว เพื่อให้ทีโอทีสามารถปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ และสามารถดำเนินการได้จนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาใบอนุญาตการประกอบกิจการ ดังเช่นที่อนุญาตให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ใช้ความถี่ต่างๆ ในการให้บริการสื่อสารไร้สายประเภทต่างๆ หากจะมีการปฏิเสธหรือปฏิบัติที่ผิดไปจากใบอนุญาตประกอบกิจการที่ได้ให้มาแล้ว รวมทั้งการอนุมัติที่ล่าช้า ย่อมต้องถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อทีโอที ให้แตกต่างไปจากผู้ได้รับใบอนุญาตที่เป็นเอกชนรายอื่นๆ อันเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อทีโอที
อินโฟเควสท์
ยื้อบริการ 4G คลื่น 2300 กสทช.จี้'ทีโอที'ยื่นเอกสารเพิ่ม
แนวหน้า : นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ อนุกรรมการกลั่นกรองด้านโทรคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เรียกฝ่ายบริหารให้ชี้แจงเรื่อง ร่างสัญญาคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) โดยที่ประชุมมีการตั้งข้อสงสัยว่าคลื่นดังกล่าวสามารถ ให้บริการแบบโมบาย ได้หรือไม่ ดังนั้น ทีโอที จะดำเนินการส่งเอกสารชี้แจง กสทช.เร็วๆ นี้เพื่ออธิบายเพิ่มเติมว่าคลื่น 2300 MHz สามารถให้บริการได้ทั้งบริการทั้ง Fixed Wireless Broadband) และ Mobile Broadband
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2558 กสทช. มีมติอนุญาตให้ ทีโอที ปรับปรุงเทคโนโลยีบนคลื่น 2300 MHz เพี่อให้บริการ เสียง ข้อมูล และพหุสื่อ โดยใช้เทคโนโลยี LTE (4G)
นายมนต์ชัย กล่าวว่า หากปีนี้ได้เซ็นสัญญากับ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (บริษัทคู่ค้าในโครงการนี้)จะทำให้ทีโอทีขาดทุนเพียง 900 ล้านบาท จากปีนี้ที่ขาดทุนอยู่ 4,800 ล้านบาทเพราะต้องเสียค่าปรับในคดีภาษีสรรพสามิต แต่ทีโอทีจะสามารถบริหารจัดการประสิทธิภาพองค์กรไม่ให้ขาดทุนได้ แต่หากไม่ได้ปีหน้าทีโอทีไม่สามารถดำเนินการได้จะสูญเสียรายได้ 4,510 ล้านบาท ไม่นับรวมความเสียหายในปีนี้
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า หลังจากตรวจร่างสัญญาฯแล้วพบว่า ยังมีรายละเอียดทางเทคนิคบางส่วนที่ไม่สอดกับที่ระบุในรายงานการประชุมของกรรมการกสทช.ซึ่งในรายงานการประชุมเดิมของ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) และบอร์ดใหญ่ ได้มีการระบุเทคโนโลยีที่ทั้งสองบริษัทจะนำไปให้บริการได้ไว้ชัดเจน โดยคลื่นย่าน 2300 MHz ไว้ใช้ให้บริการอินเตอร์เนตเท่านั้น ไม่สามารถเอาไปให้บริการด้วยเสียงได้
ทั้งนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองด้าน โทรคมนาคมจะประชุมพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งช่วงวันที่ 7 หรือ 8 ธันวาคมนี้ จากนั้นจะสรุปเสนอเข้าที่ประชุม บอร์ด กสทช. วันที่ 13 ธันวาคม 2560 ในเบื่องต้นคาดว่าบอร์ดจะให้ความเห็นชอบร่างสัญญาฯ โดยมีข้อสังเกตแนบท้ายรายงานการประชุมของบอร์ดกสทช. ประมาณ 6-7 ข้อระบุว่าการนำคลื่นย่าน 2300 MHz ไปให้บริการของสองบริษัทเป็นสิ่งทำได้แต่ต้องปรับปรุงแก้ไขร่างสัญญาฯให้เรียบร้อย จากนั้นจึงส่งให้อัยการสูงสุด คณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)พิจารณาก่อนจะลงนามในร่างสัญญาฯได้