- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Thursday, 28 August 2014 23:11
- Hits: 3226
รู้ลึกลุ่มน้ำโขง : การพัฒนาชายแดนไทย-พม่า…โอกาสทองทางการค้าที่น่าติดตาม
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนมีสัดส่วนสูงถึงราวร้อยละ 80 ของมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศในกลุ่ม CLM ทั้งหมด (กัมพูชา สปป.ลาว และพม่า) โดยพม่าถือเป็นตลาดเพื่อนบ้านที่ทวีความสำคัญมากขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากกำลังซื้อของชาวพม่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น แต่พม่ายังไม่สามารถผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคในประเทศได้อย่างเพียงพอ การนำเข้าจึงมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ อาหาร เสื้อผ้า และยารักษาโรค รวมทั้งวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค หรือกระทั่งสิ่งอำนวยความ
สะดวกต่างๆ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งไทยสามารถตอบสนองความต้องการสินค้าดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นในพม่าได้เป็นอย่างดี เนื่องจากชาวพม่ามองว่า สินค้าไทยเป็นสินค้าระดับบน มีคุณภาพสูง รูปลักษณ์สวยงามและทันสมัย เมื่อประกอบกับพรมแดนของไทยกับพม่าที่ติดต่อกันถึง 2,401 กิโลเมตร และมีช่องทางคมนาคมในหลายจังหวัดของไทยที่อยู่ติดกับพม่า อาทิ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และระนอง จึงเอื้อประโยชน์อย่างมากต่อการค้าชายแดนระหว่างกัน
พม่า : คู่ค้าชายแดนรายใหญ่อันดับ 1 ของไทยในกลุ่ม CLM
ไทยมีสัดส่วนมูลค่าการค้าชายแดนกับพม่าเป็นอันดับ 1 ในกลุ่ม CLM อยู่ที่ร้อยละ 46.6 ของมูลค่าการค้าชายแดนทั้งหมดในกลุ่มดังกล่าว และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 83 ของมูลค่าการค้าโดยรวมกับพม่า โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ามาโดยตลอด เนื่องจากต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากพม่าในปริมาณมาก โดยในปี 2556 มีมูลค่าสูงถึง 112 พันล้านบาท
ในบรรดาการค้าผ่านด่านศุลกากรต่างๆ นั้น การส่งออกและนำเข้าผ่านด่านศุลกากรสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี นับว่ามีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 114.6 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 58 ของมูลค่าการค้าชายแดนทั้งหมดระหว่างไทยกับพม่า (ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ) แต่หากพิจารณาการส่งออกไปพม่าแล้ว การส่งออกผ่านด่านแม่สอด จังหวัดตาก มีมูลค่าสูงสุดคิดเป็นร้อยละ 55 ของมูลค่าส่งออกสินค้าไทยไปพม่าผ่านด่านชายแดนทั้งหมด ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปพม่าผ่านด่านชายแดน อาทิ น้ำมันดีเซล เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ น้ำมันเบนซิน ผ้าผืนและด้าย และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ ก๊าซธรรมชาติ โค กระบือ สุกร แพะ แกะ สัตว์น้ำ ผักและของปรุงแต่งจากผัก และไม้ซุง
โอกาสการค้าชายแดน : เพิ่มขึ้นตามการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-พม่าและพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง
การพัฒนาพื้นที่ชายแดนระหว่างไทยและพม่าและพื้นที่ที่เกี่ยวข้องนอกจากจะเอื้อประโยชน์ต่อการค้าระหว่างสองประเทศแล้วยังอาจต่อยอดไปถึงการลงทุนในธุรกิจประเภทต่างๆ อีกด้วย อันจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยและพม่าในระยะถัดไป ทั้งนี้ การพัฒนาในช่วงที่ผ่านมาและกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการค้าชายแดน อาทิ
การยกระดับด่านการค้าต่างๆ ในปี 2556 ด่านเมียวดี (ติดกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก) และด่านบ้านพุน้ำร้อน (ตรงข้ามกับด่านทิกิ เมืองทวาย รัฐตะนาวศรีของพม่า) ได้รับการยกระดับเป็นด่านผ่านแดนถาวร โดยด่านบ้านพุน้ำร้อนเป็น 1 ใน 12 พื้นที่เป้าหมายที่จะจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ซึ่งหากมีการจัดตั้งเขตฯ และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อาจช่วยให้มูลค่าการค้าชายแดนที่ด่านดังกล่าวขยายตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าในช่วงปลายปี 2557 จุดผ่อนปรนด่านสิงขร (ติดกับบ้านหนองหิน ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) จะถูกยกระดับเป็นด่านผ่านแดนถาวรเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่าการยกระดับจุดผ่อนปรนด่านสิงขรจะส่งผลให้มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี พร้อมทั้งยังสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้ผู้ประกอบการไทยในหลายธุรกิจ อาทิ ประมง ห้องเย็น เกษตรและเกษตรแปรรูป โรงแรมและการท่องเที่ยว
การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน
- การพัฒนาท่าเรือขนส่งสินค้า นอกจากการพัฒนาท่าเรือขนส่งสินค้าให้มีมาตรฐาน อาทิ ท่าเรือริมแม่น้ำเมยแล้ว ยังจะมีการเปิดใช้ท่าเรือขนาดเล็กเชิงพาณิชย์ของ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ทางฝั่งเมืองทวายของพม่า ซึ่งจะช่วยให้การขนส่งสินค้ามีความสะดวกรวดเร็วขึ้น และยังช่วยกระตุ้นการค้า เนื่องจากเป็นท่าเรือที่ใช้ขนส่งสินค้าต่อไปยังเมืองย่างกุ้งของพม่า ทั้งนี้ การเปิดใช้ท่าเรือดังกล่าวคาดว่าจะช่วยให้มูลค่าการค้าชายแดนด่านบ้านพุน้ำร้อน มีแนวโน้มขยายตัวราวร้อยละ 50 ในปี 2558
- โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 2 (อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และเมืองเมียวดี) ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งจะเชื่อมต่อกับโครงการพัฒนาเส้นทางแม่สอด-เมียวดี-กอกาเรกในพม่า ทั้งนี้ การเปิดสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 1 (อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และเมืองเมียวดี) ส่งผลให้การค้าชายแดนขยายตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น ภาคธุรกิจการค้าชายแดนและจังหวัดตากจึงเสนอให้มีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 2 เพื่อลดความแออัดในการใช้สะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 1 ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่าหาก
การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 2 แล้วเสร็จจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอำเภอแม่สอด และช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนด่านแม่สอดเป็นราว 60,000 ล้านบาท เพราะนอกจากเส้นทางดังกล่าวจะเพิ่มช่องทางการขนส่งแล้ว ยังช่วยกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคอื่นของพม่าได้สะดวกรวดเร็วอีกด้วย
- การพัฒนาธุรกิจการบินและยกระดับสนามบิน ระบบคมนาคมทางอากาศของพม่าได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องหลังการเปิดประเทศและการผ่อนคลายกฎระเบียบ โดยในอดีตหากเอกชนเปิดสายการบิน รัฐบาลพม่าจะถือหุ้นร้อยละ 20 แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลพม่าอนุญาตให้เอกชนถือหุ้นได้ทั้งหมด ส่งผลให้มีสายการบินสัญชาติพม่าเพิ่มขึ้น ขณะที่เมืองสำคัญทางเศรษฐกิจก็ได้รับอานิสงส์จากการเปิดเส้นทางบินเชื่อมโยงระหว่างเมือง อาทิ เมืองท่าขี้เหล็ก (ติดกับจังหวัดเชียงราย) ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของรัฐฉาน มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง และเหมาะที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมไปยังเมืองสำคัญต่างๆ ของพม่า โดยรัฐบาลพม่ามีแผนที่จะยกระดับสนามบินท่าขี้เหล็กให้เป็นศูนย์กลางการบินทางภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่งนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจสามารถเดินทางผ่านจังหวัดเชียงรายเข้ามายังเมืองท่าขี้เหล็กได้อย่างสะดวกก่อนจะเดินทางไปยังเมืองอื่นๆ ในพม่าต่อไป
การพัฒนาเมืองชายแดน
เมืองเมียวดี
- เขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี (พื้นที่ราว 496 เอเคอร์ หรือราว 1,240 ไร่) จัดตั้งในปี 2552 และอยู่ระหว่างการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยศูนย์บริการด้านศุลกากรแบบ One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออกและนำเข้าสินค้าระหว่างไทยกับพม่า คลังสินค้า และอาคารพาณิชย์ รวมทั้งยังมีการเตรียมพื้นที่สำหรับจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเมียวดี และพื้นที่สำหรับก่อสร้างโรงแรม ที่พักอาศัย เพื่อรองรับการค้า การลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงถือเป็นโอกาสขยายตลาดวัสดุก่อสร้างเพื่อรองรับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และยังเป็นประตูการลงทุนสำหรับนักลงทุนไทยที่ต้องการเข้าไปดำเนินธุรกิจในพม่า โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง หรือธุรกิจที่ต้องใช้ปัจจัยการผลิตราคาถูกจากพม่า อาทิ สินแร่และวัตถุดิบทางการเกษตร รวมถึงการจ้างแรงงาน เพื่อผลิตและแปรรูปสินค้า ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนการผลิตลงได้
- เมืองคู่แฝดแม่สอด-เมียวดี เมืองเมียวดีถือเป็นจุดกระจายสินค้าสำคัญของไทยในพม่า เนื่องจากมีพรมแดนติดกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และมีสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 1 เป็นเส้นทางเชื่อมโยงการค้าระหว่างกัน อีกทั้งอยู่ใกล้เมืองเศรษฐกิจสำคัญของพม่า อาทิ เมืองย่างกุ้ง และเมืองเมาะละแหม่ง นอกจากนี้ เมืองเมียวดียังมีศักยภาพในการเป็นประตูการค้าเชื่อมคาบสมุทรอินโดจีนสู่ภูมิภาคเอเชียใต้และยุโรป จากการที่ตั้งอยู่บนเส้นทางเศรษฐกิจตามแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) อีกด้วย หากการพัฒนาเมืองคู่แฝดแล้วเสร็จ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยและพม่าให้เพิ่มขึ้นอีกมาก โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีกระแสตื่นตัวของนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติที่เข้าไปศึกษาโอกาสทางการค้าและการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว และมีการลงทุนก่อสร้างโรงแรมและที่พักในอำเภอแม่สอดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรงแรมระดับ 3-4 ดาว เพื่อรองรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีส่วนช่วยสร้างการจ้างงานและกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้คึกคักมากขึ้น
การที่พื้นที่ชายแดนระหว่างไทยและพม่าได้รับการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องช่วยเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการมือใหม่ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้นผ่านทางงานสัมมนาเกี่ยวกับการค้าชายแดนซึ่งจัดโดยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ควบคู่ไปกับการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปพม่าให้ประสบความสำเร็จยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก นอกจากศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองแล้ว ผู้ส่งออกควรขอรับคำปรึกษาอย่างใกล้ชิดจากหน่วยงานไทยที่เชี่ยวชาญด้านการค้าควบคู่ไปด้วย
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนสิงหาคม 2557