- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Monday, 13 November 2017 16:44
- Hits: 1673
ตรวจระบบข้อมูล การระบายน้ำ การเตือนภัยในเหตุการณ์ฝนถล่มข้ามคืน กทม. สู่ข้อเสนอการบริหารจัดการน้ำท่วมเมือง กับ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
จากเหตุการณ์ฝนตกหนักในช่วงกลางดึกของคืนวันที่ 13-14 ตุลาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหนักในหลายจุดในกรุงเทพมหานคร ประชาชนต้องเผชิญกับปัญหามากมายอย่างไม่ทันตั้งตัว โดยเฉพาะความเสียหายต่อยานพาหนะที่จอดใต้ถุนอาคารหรือบนพื้นราบ ทรัพย์สินและบ้านเรือน รวมทั้งปัญหาการเจราจรในเช้าวันรุ่งขึ้น
คุณกัมพล ปั้นตะกั่ว นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ได้ตรวจสอบระบบตรวจวัดข้อมูลต่างๆ ในช่วงคืนวันที่ 13 – 14 ต.ค. จาก เว็บไซต์สำนักการระบายน้ำ กทม. พบว่าปริมาณฝนสะสมเกินกว่า 100 มิลลิเมตรใน 32 เขต และข้อมูลจากสถานีวัดน้ำท่วมบนถนน 101 แห่งทั่ว กทม. พบว่ามีถนนอย่างน้อย 13 สาย ที่มีระดับน้ำท่วมกว่า 20 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระดับที่เกินกว่ารถยนต์ขนาดเล็กจะสัญจรได้
คำถามสำคัญ คือ กรุงเทพมหานคร เริ่มระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่ฝนตกหนักตั้งแต่เมื่อไร และประสิทธิภาพการระบายน้ำเป็นอย่างไร
ข้อมูลของ กทม.ช่วยตอบคำถามได้ เพราะ กทม.มีข้อมูลทันเวลา (เกือบ real time) เกี่ยวกับระดับน้ำบนถนนสายหลักและในคลองต่างๆ รวมทั้งสถิติการระบายน้ำในคลองต่างๆ ที่เป็นจุดรับน้ำฝนที่ระบายจากถนนผ่านท่อระบายน้ำ
สถิติดังกล่าว แสดงว่าเจ้าหน้าที่ของเขตต่างๆ ใน กทม. เริ่มสูบน้ำออกจากคลองหลังจากที่ฝนเริ่มตกหนักแล้ว สถานีสูบน้ำส่วนใหญ่เริ่มสูบน้ำหลังเวลาตีหนึ่งของวันคืนวันที่ 13 ตุลาคม (หรือ ชั่วโมงแรกของวันที่ 14 ตุลาคม) ข้อมูลนี้แสดงว่าเจ้าหน้าที่ของเขตต่างๆ มีความรับผิดชอบสูง และมีพนักงานที่ดูแลเครื่องสูบน้ำตลอดเวลา
แต่เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกหนักมากที่สุดในรอบ 25 ปี ตามคำแถลงของผู้ว่าราชการ กทม. และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ กทม. น้ำจึงท่วมหนักในหลายพื้นที่จนเกิดความเสียหายหนัก เพราะข้อมูลแสดงว่าระดับน้ำในคลองต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น อย่างรวดเร็วระหว่าง เวลา 21.40 – 01.50 น. ดังตัวอย่างรูปภาพกราฟแสดงระดับน้ำในคลองบริเวณรอบถนนในจุดที่น้ำท่วมสูงสุด 3 จุด
คือ (ภาพที่ 1) ถนนวิภาวดีขาออก ได้แก่ คลองนาของ คลองบางซื่อ คลองสามเสน (ภาพที่ 2) ถนนประชาสุขและประชาสงเคราะห์ ได้แก่ คลองนาของ คลองห้วยขวาง และ (ภาพที่ 3) ถนนรัชดา-ลาดพร้าว ได้แก่ คลองบางซื่อ คลองห้วยขวาง และ คลองน้ำแก้ว แต่กว่าการสูบน้ำจะสามารถลดระดับน้ำในคลองลงสู่ระดับที่ทำให้ระดับน้ำบนถนนและซอยต่างๆลดลงจนพอสัญจรได้ หรือเข้าสู่ระดับปกติก็ต้องใช้เวลา 6-36 ชั่วโมง เพราะขีดความสามารถในการพร่องน้ำจากคลองต่างๆ ไม่เท่ากัน คลองบางคลองสามารถพร่องน้ำให้ลดลงได้เพียง 3-4 เซ็นติเมตรในเวลา 24 ชั่วโมง เช่น คลองภาษีเจริญ/คลองราชมนตรี เป็นต้น
ข้อมูลระดับน้ำในคลองแสดงให้เห็นจุดอ่อน หรือจริงๆต้องเรียกว่า “ข้อบกพร่องสำคัญ” ของระบบการป้องกันอุทกภัยของระบบราชการไทย และ กทม.
ภาพที่ 1 ถนนวิภาวดีขาออก ได้แก่ คลองนาของ คลองบางซื่อ คลองสามเสน
ภาพที่ 2 ถนนประชาสุขและประชาสงเคราะห์ ได้แก่ คลองนาของ คลองห้วยขวาง
ภาพที่ 3 ถนนรัชดา-ลาดพร้าว ได้แก่ คลองบางซื่อ คลองห้วยขวาง และ คลองน้ำแก้ว
นี่คือประเด็นหลักที่ทีมจัดการความรู้และสื่อสารสาธารณะ ทีดีอาร์ไอ ชวนดร.นิพนธ์ พัวพงศกรนักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ มาสนทนา เพื่อให้มุมมองต่อสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็นเรื่องกลไกและระบบการเตือนภัยล่วงหน้าในกรณีที่อาจจะเกิดฝนตกหนักผิดปกติเช่น ฝนในรอบ 25 ปี (หรือฝนพันปีในยุคผู้ว่ากทม.พลเอกจำลอง ศรีเมือง) พร้อมข้อเสนอถึงอนาคต เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาเชิงระบบและป้องกันปัญหาน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นกับกรุงเทพมหานครต่อไป
เมื่อฝนตกใน กทม. มีการติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำกันอย่างไร และระบบข้อมูลที่มี ถือว่ามีประสิทธิภาพดีพอต่อการจัดการหรือยัง?
ดร.นิพนธ์ – กรุงเทพมหานครมีการลงทุนในเรื่องระบบข้อมูลดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขสถิติเรามีระบบการติดตามดีขึ้นกว่าในปี 54 ค่อนข้างเยอะ มีการเตรียมตัวที่ดี ถึงแม้ว่ามีปัญหาเรื่องเทคโนโลยีนิดหน่อย แต่ระบบดีขึ้น มีเซนเซอร์ในถนนวัดระดับน้ำบนถนน วัดระดับน้ำในคลอง ขณะนี้จุดที่วัดระดับน้ำมีเยอะมาก เรามีสถานีวัดน้ำท่วมบนถนน 101 แห่ง สถานีวัดน้ำท่วมในอุโมงค์ 8 แห่ง สถานีวัดน้ำฝน 131 แห่ง สถานีวัดระดับน้ำ 151 แห่ง บางเขตมีสถานีวัดน้ำฝนถึง 5-6 แห่ง เราลงทุนเรื่องข้อมูลค่อนข้างมาก
นอกจากนั้น กทม. ก็ทุ่มงบประมาณมหาศาลสร้างอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำที่บางซื่อ และพระรามเก้า กทม.มีคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีคันป้องกันน้ำด้านตะวันออก สถานีสูบน้ำ 174 แห่ง ประตูระบายน้ำ 227 แห่ง ฯลฯ
แต่ระบบข้อมูลมีจุดอ่อนบางประการ คือ ข้อแรก เราเน้นแค่ถนนไม่ได้เน้นพื้นที่เสี่ยงในซอยที่เป็นที่อยู่อาศัยของคนจำนวนมาก ข้อสอง ในช่วงวันที่ 13-14 ตุลาคม สถานีสูบน้ำบางแห่งไม่มีข้อมูลบนเว็บไซต์ ซึ่งสันนิฐานว่ามีปัญหาด้านการส่งสัญญาณ และยังมีปัญหาการเชื่อมต่อสัญญาณข้อมูลระหว่างสำนักระบายน้ำกทม. กับเว็บไซต์ Thaiwater.net ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและเกษตร ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่คนส่วนใหญ่รู้จัก และนิยมเข้าไปสืบค้นข้อมูล ทำให้ไม่มีข้อมูลแบบกึ่ง real time
จุดอ่อนอีกประการหนึ่ง คือ ที่ตั้งของจุดวัดระดับน้ำบางแห่งในกทม. บน Google Map ก็ผิด เช่น คลองมหาสวัสดิ์แผนที่กลับแสดงว่าอยู่ที่ฝั่งพระนคร เป็นต้น
สรุปแล้วระบบข้อมูลของเราดี พร้อมแล้ว
แต่ที่ยังขาดอยู่คือการดึงข้อมูลเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในการเตรียมการรับมือ
แต่ต้องชื่นชมเจ้าหน้าที่ในเขตต่างๆ หลังฝนตกระดับน้ำจะสูงสุดตอนเที่ยงคืน ตีหนึ่ง สถานีสูบน้ำจะเปิดสูบน้ำ ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่ตื่นมาทำงานกันอย่างขยันขันแข็ง แต่ว่ามันสายเสียแล้ว เพราะฝนตกหนัก จนสูบไม่ทัน สถานีวัดระดับน้ำบางแห่งมีขีดความสามารถต่ำ เช่น เขตภาษีเจริญ คลองราชมนตรี ฝั่งธน สูบได้วันละ 3 ซม.
แต่ข้อบกพร่องใหญ่ที่สุด คือ เราไม่มีการเตรียมพร่องน้ำล่วงหน้า เรื่องนี้โทษเขตต่างๆไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องการเตรียมตัวป้องกันล่วงหน้าในภาพรวม ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กทม. ต้องโทษรัฐบาลที่ไม่มีการวางระบบเตือนภัยเลย ทั้งๆที่ เรามีกฎหมาย ป้องกันสาธารณะภัยที่กำหนดระดับภัยพิบัติไว้ชัดเจน (ดูเพิ่มเติมด้านล่าง) แต่หลังจากน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 เราไม่ได้ทำอะไร เพิ่มเติมทั้งเรื่องการพยายากรณ์และเตือนภัยล่วงหน้า
เมื่อฝนตกหนักอย่างในคืนวันที่ 13 – 14 ต.ค. คนกรุงมักตั้งคำถามต่อการระบายน้ำผ่านอุโมงค์ยักษ์ ดังนั้นในส่วนการเตรียมรับมือด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐานการระบายน้ำของ กทม. มีการเตรียมการอย่างไร และยังมีจุดไหนที่ควรปรับปรุง?
ดร.นิพนธ์ – เรามีอุโมงค์ยักษ์แต่ใช้ประโยชน์ยังไม่เต็มที่ ก็เหมือนเวลาเราสร้างเขื่อนใหม่ ประโยชน์น้อยมากเพราะไม่มีคลองไส้ไก่ ส่งน้ำเข้าไปตามพื้นที่ต่างๆของเกษตรกร เช่นเดียวกันอุโมงค์ยักษ์จะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีคลองและท่อส่งน้ำเข้าไปในอุโมงค์ เชื่อมต่ออุโมงค์กับท่อและคลองจากจุดสำคัญต่างๆ ไม่เช่นนั้น ก็จะเป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตน
เพราะมีอุโมงค์แต่ไม่มีท่อส่งน้ำเข้ามา อุโมงค์จึงไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควร เรื่องนี้ กทม.ต้องทำเพิ่มเติม นอกจากนั้นอุโมงค์ขนาดใหญ่ที่มีมาก่อนปี 2550 จำนวน 6 แห่ง ก็น่าจะมีปัญหาประสิทธิภาพการระบายน้ำ เช่น แม้ถนนสุขุมวิทและพญาไทจะมีอุโมงค์ใหญ่เพื่อใช้ระบายน้ำ 4 แห่ง แต่ก็มีปัญหาน้ำท่วมหนักจนเกิดความเสียหาย ซึ่งร่วมทั้งรถของอดีตนายกรัฐมนตรี
แต่หากดูแยกเป็นฝั่ง ระบบระบายน้ำแถวฝั่งตะวันออกหลังสุวรรณภูมิไป ทำไว้แล้วดีมาก โดยมีท่อส่งน้ำยักษ์ลงทะเล แต่เมื่อปี 2554 มีปัญหาการเมืองทำให้ส่งน้ำไปไม่ได้
ขณะนี้เราลงทุนเรื่องเหล่านี้แล้ว แต่ไม่มีระบบเชื่อมให้น้ำส่งไป อย่างคลองที่จะส่งน้ำเข้ามา น้ำกลับส่งไปไม่ได้ เพราะมีการบุกรุกคูคลอง ทิ้งขยะในคูคลอง มีผักตบชวา เราก็สูบน้ำลงทะเลไม่ได้ ดังนั้นต้องมีการวางระบบการรักษาความสะอาดในคูคลอง แม้ กทม.จะพยายามแก้ปัญหาการบุกรุกคูคลองตามแนวทางของ พอช. (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) แต่ก็ยังมีข้อจำกัดมาก ฉะนั้นเมื่อเรามีระบบอยู่เท่าเดิม แต่น้ำไม่เท่าเดิมมันมามากกว่าเดิม น้ำก็ต้องท่วมแน่ๆ
ส่วนฝั่งตะวันตก เรื่องการวางท่อและระบบสูบน้ำยังสูบได้ช้ามาก ขีดความสามารถต่ำเราอาจจะต้องมีการปรับปรุงกันขนานใหญ่
ฝนถล่ม 13 – 14 ต.ค. อาจเรียกได้ว่าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับประชาชน เพราะไม่ทันได้เตรียมตัวรับมือ ดังนั้นระบบเตือนภัยล่วงหน้าและการจัดการที่ดีควรจะเป็นอย่างไร?
ดร.นิพนธ์ – คนอาศัยในกรุงเทพเริ่มชินถ้ากลางวันเห็นฝนตกก็เตรียมตัวเตรียมใจได้ แต่ถ้าตกกลางคืนหนักๆ คาดการณ์ไม่ได้ และกทม. มักเตือนภัยแต่บนถนน แต่จริงๆคนไม่ได้เดือดร้อนแค่บนถนน แค่รถติด ยังมีบ้านเรือน คอนโดที่เสียหาย รัฐบาลและกทม.ต้องร่วมมือกันอย่างเร่งด่วนในการจัดทำระบบเตือนภัยล่วงหน้าตั้งแต่วันนี้ เพราะระบบดังกล่าวต้องใช้ทั้งข้อมูล ความรู้ และการสร้างขีดความสามารถในการพยากรณ์อากาศที่ต้องใช้เวลานานนับปี
กทม. มีเครื่องมือ มีคลอง มีระบบวัดน้ำ แต่เราไม่มีระบบเตือนภัย ในคืน วันที่ 13-14 ได้พิสูจน์แล้วว่าเราไม่เคยวางระบบเตือนภัยเลยตั้งแต่ปี 54
ทั้งที่เรามีกฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ระบุขั้นตอนการประกาศภาวะฉุกเฉิน แบ่งระดับการเตือนภัยพิบัติ 3 ระดับ คือภัยในจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้ดูแล หรือถ้ากระทบหลายจังหวัด อำนาจจะอยู่ที่รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย หากใหญ่กว่านั้นก็เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี
แต่ที่เราไม่เคยวางระบบเพื่อให้หน่วยงานรัฐสามารถประกาศเตือนภัย และภาวะฉุกเฉินตามระดับความรุนแรงของภัยพิบัติก็เพราะ เราไม่เคยมีหน่วยงานกลางรับผิดชอบเรื่องเตือนภัยพิบัติและวางแผนป้องกัน หน่วยงานนี้จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลด้านอากาศและภัยพิบัติต่างๆ จากหน่วยงานรัฐ เพื่อนำมาวิเคราะห์และพยากรณ์ภูมิอากาศ รวมทั้งนำผลวิเคราะห์ส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ รมว.มหาดไทย หรือนายกรัฐมนตรีประกาศเตือนภัยล่วงหน้า
กรณีน้ำท่วม หากเราสามารถเตือนภัยให้ประชาชนรู้ตัวล่วงหน้าเพียง 6-12 ชั่วโมง ก็สามารถความเสียหายและความสูญเสียต่างๆเป็นมูลค่าจำนวนมาก ตัวอย่างรูปธรรม คือ อำเภอหาดใหญ่มีกลไกเตือนภัยล่วงหน้า นอกจากสงขลาจะลงทุนในระบบโทรมาตร และเตรียมแผนป้องกันภัยของหมู่บ้านต่างๆแล้ว มอ. (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) ยังรับผิดชอบทำพยากรณ์ปริมาณน้ำที่ไหลจากอำเภอสะเดา เข้ามาสู่หาดใหญ่ ในปี 2555 และส่งข้อมูลให้ผู้ว่าราชการจังหวัดออกประกาศเตือนภัยล่วงหน้า 3-4 ชั่วโมงทำให้ประชาชนในหาดใหญ่สามารถเก็บของขึ้นที่สูง ลดความเสียหายได้
กรุงเทพขณะนี้มีความเสี่ยงที่จะฝนตกหนักมากขึ้น[1] ดังนั้นการพยากรณ์เรื่องนี้ต้องมีรายละเอียด ไม่ใช่ให้คำพยากรณ์แบบกว้างๆ เหมือนปัจจุบัน เช่น ฝนจะตกหนัก 70% ของพื้นที่ แต่ต้องเป็นการให้คำพยากรณ์ที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นว่าฝนจะตกหนักระดับใด พายุจะเคลื่อนผ่านเขตใดในกทม. โอกาสสูงหรือต่ำเพียงใด ดังตัวอย่างการพยากรณ์การเกิดเฮอร์ริเคนที่สหรัฐ จะมีการพยากรณ์จากหลายสำนักว่าจะเกิดที่ไหน พอมีข้อมูลเรื่องนี้ คนในพื้นที่ก็พร้อมจะเตรียมตัว แต่ตรงนี้เราไม่มี เราไม่สร้างระบบเตือนภัยขึ้นมา เราปล่อยให้หน่วยงานต่างๆทำงานตามปกติ เรามีเครื่องมือมีอุปกรณ์ แต่ใช้ประโยชน์จากมันแค่ 10 เปอร์เซ็น
ที่ผ่านมาเราไม่กล้าใช้คำพยากรณ์มาเตือนภัยเพราะการพยากรณ์มีการผิดพลาดค่อนข้างเยอะ แต่เราต้องไม่กลัว เราต้องกล้าทำ การคาดคะเนผิดไม่เป็นไร ถ้าเราทำไปเรื่อยๆ ปรับแบบจำลองไปเรื่อยๆ การพยากรณ์จะค่อยๆดีขึ้น
ในวันเกิดเหตุ สสนก.(สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร) คาดคะเนว่าจะตกกลางวัน แต่ไปตกกลางคืน ซึ่งไม่เป็นไร ถ้าทำและติดตามไปเรื่อยๆ ปรับแบบจำลองไปเรื่อยๆ นอกจากกรมอุตนิยมวิทยาจะต้องปรับปรุงแบบจำลองของตนแล้ว รัฐบาลก็ควรให้ทุนวิจัยสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆ ทำแบบจำลองพยากรณ์หลายๆแบบจำลองแข่งกับกรมอุตุฯ เหมือนกับ NOAA ของสหรัฐอเมริกาที่จ้างสถาบันวิจัยหลายแห่งช่วยกันทำแบบจำลองพยากรณ์ ในที่สุดผลการพยากรณ์จะค่อยๆดีขึ้น และจะช่วยลดความเสียหายจากภัยพิบัติได้คุ้มกับเงินงบประมาณ
เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่ซ้ำรอยน้ำท่วม กทม.จากฝนถล่ม เราควรแก้ปัญหาในระยะสั้น และในระยะยาวอย่างไร และใครควรทำอะไรบ้าง?
ดร.นิพนธ์ – ในระยะสั้น คือ เรื่องการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เรามีหน่วยงานที่มีข้อมูลอยู่แล้วมากมาย รวมทั้งมี สสนก. ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล แต่เราขาดบุคคลากรที่จะเข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลในระยะยาว เพื่อวางแผน วิเคราะห์ และสร้างระบบเตือนภัย
เราต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน และเราขาดหน่วยงานวิชาการส่วนกลาง ต้องมีหน่วยงานอิสระที่ทำงานภายใต้สำนักนายกฯ เก็บข้อมูลน้ำท่วมวันนี้เพื่อนำไปทำแผน สรุปว่าพลาดตรงไหน มีแบบจำลองตรงไหนที่พลาด เพื่อปรับปรุง เตรียมรับมือครั้งต่อไป และข้อมูลเก่าจะช่วยให้เราสามารถสร้างระบบเตือนภัยได้ แล้วยังประโยชน์ต่อการวางแผนโลจิสติกส์ เมื่อทำในกรุงเทพได้แล้ว เราก็ขยายไปต่างๆจังหวัด ไปภาคเกษตรได้
อีกอย่างคือ ขณะนี้เราเฝ้าดูน้ำแต่ในถนน เรามีเซนเซอร์ แต่เราไม่รู้ว่าซอยไหนบ้างที่เสี่ยง เราต้องมีข้อมูลแผนที่ภูมิประเทศแสดงเส้นชั้นความสูงว่าพื้นที่ในกทม.แต่ละท้องที่มีความสูงต่ำเพียงใด (digital elevation model) ถ้าจะลงทุนต้องดูว่าจุดไหนที่สำคัญ อย่างจุดที่น้ำท่วมชั้นใต้ดินคอนโด เพราะแต่ก่อนพื้นที่เป็นคลอง ต่อมาถมคลอง ทำถนน สร้างตึก พอฝนตกลงมาจากเดิมที่ไม่เสี่ยงมันจะเสี่ยง เพราะไม่มีพื้นที่รับน้ำ เป็นปัญหาการใช้ที่ดินในระยะยาว ถ้าฝนตกน้ำก็ไหลลงถนนไหลลงท่อระบายน้ำ ต่อให้ท่อระบายน้ำใหญ่แค่ไหนก็รับไม่อยู่ ยิ่งฝนตกหนักแบบปีนี้ที่เราเห็นแล้ว เมื่อมีข้อมูลพื้นที่เสี่ยงต่างๆ กทม. ก็สามารถวางแผนควบคุมการก่อสร้างอาคารได้ในระยะยาว เช่น การบังคับให้อาคารใหญ่ต้องมีบ่อพักน้ำไว้รองรับน้ำฝน ไม่แข่งกันระบายลงท่อระบายน้ำในช่วงที่ฝนกำลังตก เป็นต้น
คนไทยไม่มี sense ของการป้องกันภัย เราจะเห็นได้ว่าผู้หลักผู้ใหญ่ชอบพูดถึงเรื่องฝน 25 ปี ฝนพันปีที่นานๆทีจะเกิด มันทำให้ไม่รู้สึกตัวว่าต้องระวังภัย
สิ่งที่ผู้บริหาร กทม.พูดไม่ผิด แต่เราควรเปลี่ยนทัศนคติ ผมเสนอว่าแทนที่เราจะมานั่งคอยแก้ตัวว่าเป็นพายุฝนพันปี เราหันมาสร้างระบบเตือนภัยเพื่อช่วยลดความเสียหายจะดีกว่า
จากเหตุการณ์ฝนถล่มมัน พิสูจน์แล้วว่าเราต้องมีระบบเตือนภัย ทำแผนล่วงหน้า ต้องมีการดึงข้อมูลจากหลังฝนตกมาวิเคราะห์ต่อ เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าใครผิด แต่เป็นเรื่องระบบการจัดการที่ต้องปรับปรุงเรื่องสำคัญในระยะยาวอีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องการบรรเทาสาธาณภัย ที่ผ่านมาทุกครั้งที่เกิดอุทกภัย รัฐบาลใช้วิธีตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจรับผิดชอบ โดยมีนายกรัฐมนตรีนั่งสั่งการที่หัวโต๊ะ มีรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงนั่งเป็นกรรมการ พอวิกฤติจบลง ต่างคนต่างก็แยกย้ายกลับกรมกองของคน ไม่มีการสร้าง “ความจำของสถาบัน” ไม่มีการรวบรวมข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ในการแก้ปัญหาและบริหารจัดการมาศึกษาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางป้องกัน และการบรรเทาสาธารณภัยที่ดีขึ้นกว่าเดิม
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 นายกรัฐมนตรีได้ใช้มาตรา 44 จัดตั้งสำนักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จึงควรมีการจัดโครงสร้างเรื่องการจัดการอุทกภัยและภัยพิบัติแบบรวมศูนย์อย่างจริงจัง นอกจากนี้รัฐบาลควรตั้งคณะทำงานที่เป็นข้าราชการมืออาชีพและมีความชำนาญในการจัดการด้านภัยพิบัติเป็นผู้รับผิดชอบ โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายอำนาจให้สั่งงานด้านกรมกอง และกระทรวงต่างๆได้ไม่ควรให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซง เพราะจะเกิดปัญหาการแทรกแซงเพื่อปกป้องเฉพาะพื้นที่ในเขตของนักการเมืองเหมือนที่เคยเกิดขึ้น ในปี 2554 ที่ทำให้มวลน้ำก้อนใหญ่ไม่อาจไหลผ่านเข้าไปในพื้นที่ตะวันออกของ กทม.ที่มีระบบระบายน้ำขนาดใหญ่ลงสู่ทะเล ทำให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อฝั่งตะวันตกของ กทม. และจังหวัดที่อยู่เหนือกรุงเทพฯ
[1] นักวิทยาศาสตร์ไทยเชื่อว่ากรุงเทพจะมีฝนตกหนักมากขึ้น สาเหตุหลัก คือ ฝุ่นละอองในบรรยายกาศ