- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Monday, 25 August 2014 00:06
- Hits: 5809
รายงานพิเศษ: ท่าเรือติลาวา-ย่างกุ้ง ประตูการค้าไทยสู่เมียนมาร์
ไทยโพสต์ : อีกครั้งกับการเดินทางร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เพื่อศึกษาดูการพัฒนาแนวเส้นทางเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่ประเทศเมียนมาร์ หรือพม่า การเดินทางครั้งนี้ถือว่าสุดคุ้ม แม้ว่าจะเหนื่อยแต่ได้ทั้งความรู้และความสนุกสนาน จากการบอกเล่าเรื่องราวของไกด์ท้องถิ่น ‘อาหลง’
เมียนมาร์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศ แม้กระทั่งประเทศไทยเอง ซึ่งขณะนี้มีนักธุรกิจหลายรายที่ได้เข้าไปลงทุน และเพื่อรองรับการค้าเสรีจึงต้องเตรียมพร้อมในด้านการคมนาคม ซึ่ง นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้พาคณะสื่อมวลชนไปศึกษาดูงานการพัฒนาแนวทางเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเส้นทางที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้ข้อตกลงอาเซียนในด้านการขนส่งสินค้าผ่านชายแดน หรือมีชื่อทางการว่า "ถนนหมายเลข 9" ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการตามเส้นทางภูมิศาสตร์และประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ว่า East-West Economic Corridor (ถนนสาย EWEC)
เริ่มจากเช้าวันแรกบินลัดฟ้าจากท่าอากาศยานดอนเมือง ถึงท่าอากาศยานย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ หลังจากรับประทานอาหารเช้าและยืดเส้นยืดสายกันเสร็จ ก็ออกเดินทางสู่เมืองหงสาวดี ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าแก่ของอาณาจักรมอญโบราณ พร้อมนมัสการเจดีย์ชเวมอ ดอว์ หรือที่คนไทยมักเรียกกันว่า เจดีย์มุเตา ซึ่งเป็นเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองของหงสาวดี จากนั้นก็เดินทางสู่เมืองมะละแหม่ง หรือเมืองเมาะลำเลิง เพื่อศึกษาดูเส้นทางเชื่อมโยงจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ออกไปประเทศเมียนมาร์
เมืองมะละแหม่ง ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของเมียนมาร์ และปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของรัฐมอญ ซึ่งในอดีตเคยเป็นเมืองท่าที่สำคัญในยุคอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งจากย่างกุ้งสู่เมืองมะละแหม่งระยะทางเกือบๆ 300 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางกว่า 7 ชั่วโมง พอถึงจุดหมายก็ค่ำเสียแล้ว
มาวันที่ 2 ตื่นแต่เช้าออกไปชมบรรยากาศของตัวเมือง สัมผัสบรรยากาศ พร้อมมองดูผู้คนที่ออกมาค้าขายและขนส่งในยามเช้า ในสภาพที่คับคั่งไปด้วยผู้คนที่ออกมาจับจ่ายซื้อของ ณ จุดนี้มีท่าเรือเล็กริมแม่น้ำสาละวินอยู่หลายแห่ง ซึ่ง นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ ผู้อำนวยการ สนข.เล่าให้ฟังว่า เส้นทางที่มาดูกันนั้น คือถนนหมายเลข 9 ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการตามเส้นทางภูมิศาสตร์ และประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ว่า EastWest Economic Corridor (ถนนสาย EWEC)
ซึ่งถือเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่ง (Infrastructure Logistics) ที่สำคัญในอนาคต เพราะได้เชื่อมโยงกับเส้นทาง North-South Economic Corridor ซึ่งมาจากการเชื่อมโยงกับประเทศจีนตอนใต้ คือ ตั้งแต่เมืองคุนหมิงในแคว้นยูนนานกับประเทศมาเลเซียตอนเหนือและสิงคโปร์
ทั้งนี้ เส้นทางหมายเลข 9 เป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญ ที่จะเชื่อมโยงท่าเรือดานังของเวียดนาม กับท่าเรือเมาะลำไย (Maw Lam Yine) ของเมียนมาร์ เริ่มจากเมืองท่าเรือดานังของเวียดนามผ่านเมืองเว้ และเมืองลาวบาวอันเป็นเมืองชายแดน (Lao Bao) อยู่ในจังหวัดกวางจิ (Quang tri) ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของเวียดนาม ติดกับชายแดน สปป.ลาว ระยะทางในประเทศเวียดนามประมาณ 83 กิโลเมตร จากนั้นเส้นทางถนนหมายเลข 9 จะผ่านเข้าไปในประเทศ สปป.ลาว เป็นระยะทางประมาณ 210 กิโลเมตร เป็นเส้นทางคอนกรีตมาตรฐานรถสวนสองเลน สร้างเสร็จตั้งแต่ต้นปี 2547 เส้นทางนี้ผ่านแขวงสะหวันนะเขต และข้ามสะพานข้ามแม่น้ำโขง ที่จังหวัดมุกดาหาร ผ่านกึ่งกลางของภาคอีสานจากจังหวัดมุกดาหาร ผ่านจังหวัดขอนแก่น และพิษณุโลกที่อำเภอวังทอง (ซึ่งจะกลายเป็นสี่เหลี่ยมอินโดจีน) และเส้นทางนี้จะไปสุดที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ออกไปประเทศเมียนมาร์ ที่อ่าวเมาะตะมะ ที่เมืองเมาะลำไย เป็นการเชื่อมไปสู่มหาสมุทรอินเดีย
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ ผู้อำนวยการ สนข.ได้เล่าให้ฟังอีกว่า สนข.ได้ลงพื้นที่สำรวจการพัฒนาท่าเรือของประเทศในภูมิภาคนี้ เพื่อเตรียมพร้อมและรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปี 2558 เช่น ท่าเรือมะละแหม่งที่อยู่ระหว่างการพัฒนา โดยจะเปิดเป็นท่าเรือเพื่อการขนส่งสินค้า จากปัจจุบันเป็นเพียงท่าเรือเฟอร์รี ซึ่งไทยก็สามารถเชื่อมโยงการขนส่งผ่านด่านแม่สอด จ.ตาก โดยเส้นทางถนนระยะทางประมาณ 120 กม. และเชื่อว่าจากการตื่นตัวของรัฐบาลเมียนมาร์ ในการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จะได้รับการแก้ปัญหาอุปสรรคด้านการขนส่ง ปรับปรุงถนนได้ดีขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับไทยในการขนส่งสินค้าจากภาคเหนือไปยังประเทศเมียนมาร์ และใช้ประโยชน์จากท่าเรือมะละแหม่งในการขนส่งสินค้าในอนาคตได้
อย่างไรก็ตาม ที่นี่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาท่าเรือ จะเห็นได้จากตั้งแต่ด้านเหนือติดทางอินเดีย มีท่าเรือจ้าวผิ่ว ซึ่งจีนเป็นผู้รับสัมปทานเพื่อขนส่งพลังงาน,ก๊าซ และมีแผนพัฒนาอุตสาหกรรมครบวงจรในอนาคต, ท่าเรือติลาวา แห่งที่ 1 ปัจจุบันบริษัท ฮัทชิสัน จากฮ่องกงรับสัมปทาน จึงมีศักยภาพในการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมเบา เช่น อะไหล่รถยนต์, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากเมียนมาร์มีนโยบายส่งเสริมให้มีพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษหลังท่าเรือ โดยมีพื้นที่รองรับประมาณ 15,000 ไร่
ซึ่งในปีที่ผ่านมา ได้ให้สัมปทานแก่นักลงทุนจากญี่ปุ่นเข้าบริหารท่าเรือและพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษไปแล้วประมาณ 2,400 ไร่ จึงถือได้ว่าท่าเรือแห่งนี้จะเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต นอกจากท่าเรือย่างกุ้งในปัจจุบัน ยังมีท่าเรือทวาย ให้สัมปทานบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ของไทย, ท่าเรือมะละแหม่งกำลังหาผู้ลงทุน
หลังจากศึกษาดูงานกันเรียบร้อย 'อาหลง'ก็พาเหล่าลูกทัวร์เดินสายไหว้พระ เริ่มจากเดินทางไปวัดป่าวินเส่งตอว์ยะ เพื่อสักการะพระนอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากนั้นเดินทางไปวัดไจ๊ตาลาน วัดเก่าแก่ที่เป็นสถานที่ประดิษฐานของพระเจดีย์ไจ๊ตาลาน หรือเจดีย์สยามพ่าย ซึ่งถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.875, พระเขี้ยวแก้ว, เจดีย์กาบาเอ, พระนอนตาหวาน และที่พลาดไม่ได้คือ เทพทันใจ หรือนัตโบโบยี และพระมหาเจดีย์ชเวดากอง พระมหาเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองของเมียนมาร์.