WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 01:15 น. ข่าวสดออนไลน์


เก็บ'ภาษีมรดก-ที่ดิน''หินลองทอง'รบ.ใหม่ วัดใจนายกฯประยุทธ์

ข่าวสด เศรษฐกิจ

    การเดินหน้า "ปฏิรูปโครงสร้างภาษี" ครั้งใหญ่ของกระทรวงการคลัง ในช่วงนาทีทองที่ปลอดแรงกดดันทางการเมือง และเสียงคัดค้านจากคนรวย เป็นประเด็นที่คนทั้งประเทศต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

       ขณะเดียวกันก็มีเสียงสะท้อนจากภาคราชการ หรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ชี้ให้เห็นว่า "การจัดเก็บรายได้" จากการรีดภาษีเข้าหลวง ใกล้จะถึงทางตัน เมื่อพิจารณาจากฐานผู้เสียภาษีเงินได้ทั้งบุคคลธรรมดา ที่ตีตัวเลขกลมแค่กว่า 10 ล้านราย เงินได้นิติบุคคลเฉลี่ย 4 แสนราย

       อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีทั้ง 2 ตัว นับวันก็ต้องยิ่งต้องลดลง เพื่อรับมือการแข่งขันในเวทีโลกให้ได้

      แม้แต่ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เขียนเสือให้วัวกลัว ประกาศเพดานจัดเก็บที่ 10% ทันทีที่สิ้นก.ย. 2558 ภายหลังจากที่คงอัตราภาษีไว้ที่ 7% ออกไปอีก 1 ปี

       อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพอถึงเวลาเข้าจริง ก็ไม่มีใครกล้าผ่าทางตันปรับขึ้นสักครั้ง

      ส่วนที่เหลือเป็นรายได้ที่ผันแปรไปตามภาวะเศรษฐกิจ ทั้งการส่งออก การนำเข้า การบริโภค หรือกระทั่งภาคการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจดี รายได้เข้ารัฐก็ดีเป็นเงาตามตัว แต่ไม่มีความแน่นอน ยิ่งยามวิกฤตเศรษฐกิจลากซึมยาวการหวังน้ำบ่อหน้าส่งผลให้ประเทศเกิดความเสี่ยง

      ขณะที่งบประมาณรายจ่ายประจำต่างๆ ยังต้องจ่ายให้กับข้าราชการ ใช้ในนโยบายเพื่อปากท้อง การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ สวัสดิการต่างๆ รวมถึงงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

      การไม่หารายได้เพิ่ม หรือปรับโครงสร้างภาษีให้เข้าที่เข้าทาง อาจทำให้ภาคการคลังเกิดภาวะตึงมือได้ในไม่ช้า
     ทันทีที่ฝ่ายบริหารเปลี่ยนหน้ามาเป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจเด็ดขาดในการบริหาร จึงไม่แปลกที่กระทรวงการคลัง จะสบโอกาสชงแผนการปฏิรูปภาษีที่เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง โดยเฉพาะภาษีทรัพย์สิน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และขยายฐานภาษีสร้างรายได้ให้แก่รัฐบาล

กล่าวคือเพื่อใช้กลไกด้านภาษีหักคอคนรวยจ่ายภาษีเพื่อดูแลสังคมมากขึ้น ซึ่งล่าสุดที่มีความชัดเจนแล้วในส่วนของ "ร่างพ.ร.บ.ภาษีมรดก"

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า สำหรับร่างพ.ร.บ.ภาษีมรดก ได้ผ่านการพิจารณาของ คสช.มาตั้งแต่เดือนก.ค. และอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

หลังจากพิจารณาแล้ว จะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เพื่อพิจารณาข้อเสนอกฤษฎีกาอีกครั้ง

หากครม.เห็นชอบเสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อออกเป็นกฎหมายบังคับใช้

อย่างไรก็ดีในข้อกฎหมายดังกล่าว มีประเด็นต้องพิจารณาใน 3 เรื่องคือ 1.วิธีการเก็บภาษี ที่ต้องพิจารณาว่าจะเก็บจากกองมรดกหรือจากผู้รับมรดก 2.อัตราภาษีสุดท้ายแล้วควรเป็นเท่าใด และ 3.กลุ่มที่ต้องดูแลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ

ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า ข้อเสนอในการเก็บภาษีมรดก จะอยู่ในอัตรา 5-30% เป็นผลการศึกษาเก่าที่เก็บแบบขั้นบันใด แต่ข้อเสนอล่าสุดที่สรรพากรเสนอไปยัง คสช.และอยู่ในการพิจารณาของกฤษฎีกาคือเก็บภาษีจากกองมรดกในอัตราเดียวคือ 10%

มีข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่มีมรดกที่ไม่ถึง 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี เพื่อไม่ให้กระทบคนจน

คาดว่าจะสามารถบังคับใช้กฎหมายได้ในช่วงปี 2558 ต้องเร่งทำก่อนที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะหมดอายุลง เนื่องจากกฎหมายนี้ผลักดันมากว่า 20 ปี แต่ยังไม่เคยสำเร็จเลยซักครั้งหากไม่เร่งดำเนินการในช่วงรัฐบาล คสช. คงยากที่จะผลักดันอีกครั้ง



นเรื่องนี้ รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต ระบุว่า หากมีการจัดเก็บภาษีมรดก ต้องมีกระบวนการตรวจสอบข้อมูลของผู้ที่เข้าข่ายจะต้องเสียภาษีอย่างรัดกุม ชัดเจน

เมื่อถึงขั้นตอนของการจัดเก็บภาษีเข้ารัฐไปแล้วเงินที่เรียกเก็บจากประชาชนไป ก็จะต้องนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ให้ความสำคัญเพียงจะเก็บภาษีอย่างเดียว จนละเลยถึงศักยภาพในการจ่ายเงินเพื่อพัฒนาประเทศ เพราะการเรียกเก็บภาษีมรดกนั้นไม่ต่างอะไรกับการรีดเงินจากประชาชน

ปัญหาที่ตามมาจากการจัดเก็บภาษีมรดก คือ อาจเกิดข้อถกเถียงขึ้นได้ เนื่องจากก่อนผู้ตายจะเสียชีวิต ทรัพย์สินที่เป็นมรดกทิ้งไว้ให้แก่ลูกหลานได้เสียภาษีให้แก่รัฐบาลมาโดยตลอด และเมื่อผู้รับได้รับมรดกจากผู้ตายก็จะต้องเสียภาษีอีก ซึ่งจะเป็นปัญหาในเรื่องของความซ้ำซ้อนเกิดขึ้น

รวมทั้งเกิดการเคลื่อนย้ายทรัพย์สิน เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีขึ้นได้

ท้ายที่สุดต้องดูว่าภาษีมรดกจะเกิดขึ้น และตอบโจทย์ทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างสมเหตุสมผลหรือไม่

เช่นเดียวกับภาษีทรัพย์สินอีกประเภทหนึ่งที่มีการพูดกันมาโดยตลอด ล้มลุกคลุกคลานมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สอดรับกับ คสช.ที่ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นเช่นกัน นั่นคือ "ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง"

ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะนำมาใช้แทนภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนเดิม จากปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายภาษีอยู่ 2 ฉบับ ที่ใช้ในการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวกับโรงเรือนและที่ดิน

คือพ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และพ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508

กฎหมายภาษีทั้ง 2 ฉบับนี้ มีวิธีการจัดเก็บที่แตกต่างกัน มีผลให้รัฐขาดรายได้ที่ควรได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่ประชาชนครอบครองหรือเป็นเจ้าของ

ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่กระทรวงการคลังเสนอให้ คสช.นั้น มีฐานภาษีจัดเก็บจากราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม โดยมีอัตราภาษีที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาไม่เกินเพดาน ประกอบด้วย 1.กรณีที่ใช้ประโยชน์ทั่วไป ลักษณะเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์ ให้จัดเก็บภาษีในอัตราไม่เกิน 0.5% ของฐานภาษี

2.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยไม่ประกอบการเชิงพาณิชย์ ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา 0.1% ของฐานภาษี

และ 3.ที่ดินเพื่อการเกษตร ให้จัดเก็บภาษีในอัตราไม่เกิน 0.05% ของฐานภาษี



ภาษีตัวนี้ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการตราข้อบังคับกำหนดอัตราภาษีสูงกว่าที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่เกินที่กำหนดในพ.ร.บ.

ทั้งกำหนดให้ลดหย่อนภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้อยู่อาศัย หรือประกอบเกษตรกรรมสำหรับตัวเอง ลดภาษีสำหรับทรัพย์สินบางประเภทเพื่อให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ และยกเว้นกรณีที่ดินได้รับความเสียหายหรือถูกทำลายให้เสื่อมสภาพ

ส่วนที่ดินที่ไม่ได้ทำประโยชน์หรือทิ้งไว้ว่างเปล่าจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นทุก 3 ปี เพื่อกระตุ้นให้มีการใช้ประโยชน์

กล่าวคือหากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพบว่า ที่ดินว่างเปล่าดังกล่าวไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์เป็นเวลาติดต่อกัน ก็ให้เพิ่มภาษีอีกหนึ่งเท่าในทุกๆ สามปี แต่จำนวนภาษีที่เสียต้องไม่เกิน 2% ของราคาประเมิน

สอดคล้องกับนายอิสระ บุญยัง ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ที่ระบุว่าภาษีดังกล่าวจะเป็นกลไกสำคัญ ที่จะทำให้รัฐบาลลดภาระภาษีจากส่วนกลางและทำให้ท้องถิ่นพึ่งพาตัวเองได้ หากมีขั้นตอน หรือกระบวนการที่ทำให้ผู้เสียภาษีทำความเข้าใจ มีเวลาในการปรับตัว ขณะที่รัฐบาลกำหนดอัตราภาษีเบื้องต้นให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ เชื่อว่าน่าจะได้รับการยอมรับ

ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เชื่อว่าส่วนใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะจะหาซื้อที่ดินแล้วพัฒนาโครงการเลย ไม่ได้ทยอยซื้อที่เก็บไว้เหมือนอดีต

เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปก็ไม่ได้รับผลกระทบกับภาษีทั้ง 2 ตัวนี้มากนัก

จะมีก็แต่บรรดาเศรษฐี-มหาเศรษฐี หรือแลนด์ลอร์ด เจ้าของที่ดินมากมายนั่นแหละที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง

แม้บุคคลเหล่านี้จะมีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นคนที่"เสียงดัง"และมีอิทธิพลในทุกๆ วงการ

และนี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาไม่กล้าออกกฎหมายดังกล่าว แม้แต่บางรัฐบาลที่ใช้เรื่องนี้หาเสียงเมื่อถึงเวลาจริงๆ ก็ทำเป็นนิ่งเฉย

เพราะไม่เพียงกระทบผู้ทรงอำนาจทางการเงิน และเศรษฐกิจระดับชนชั้นนำของเมืองไทยเท่านั้น หากแต่ยังกระทบถึงตัวเองและพวกพ้องอีกด้วย

การเก็บภาษีมรดก และภาษีที่ดิน จึงเป็น"หินลองทอง"ที่ท้าทายรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเมืองไทย

ว่าจะกล้าทำในสิ่งที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ไม่กล้าแตะต้องหรือไม่!?

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!