WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1abangpo

สงคราม ความรุนแรง การประหัตประหาร ส่งผลให้ตัวเลขการพลัดถิ่นสูงสุดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

     สงคราม ความรุนแรง และการประหัตประหารที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้จำนวนผู้คนถูกบังคับให้พลัดถิ่นมจำนวนสูงมากกว่าที่เคย จากรายงานล่าสุดเปิดเผยโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR

       รายงานประจำปีของ UNHCR ฉบับล่าสุด หรือ Global Trends report ว่าด้วยเรื่องการสำรวจจำนวนผู้ที่ต้องถูกบังคับให้พลัดถิ่นฐานทั่วโลก ในปี 2559 พบว่ามีจำนวนมากขึ้นถึง 65.6 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าปีก่อนหน้านั้นกว่า 300,000 คน โดยตัวเลข 65.6 ล้านคนนี้ แสดงให้เห็นถึงความต้องการความคุ้มครองของผู้ที่ต้องลี้ภัยและพลัดถิ่นจำนวนมหาศาลทั่วโลก

       จำนวนตัวเลขกว่า 65.6 ล้านคนในปี 2559 นั้น ประกอบไปด้วยผู้ได้รับผลกระทบสามส่วนหลักๆ ได้แก่ผู้ลี้ภัย จำนวน 22.5 ล้านคน อันเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเท่าที่เคยปรากฎ ซึ่งในจำนวนนี้ 17.2 ล้านคน อยู่ในความรับผิดชอบของ UNHCR และที่เหลือคือผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ที่ขึ้นทะเบียนและได้รับความช่วยเหลือโดยตรงจากสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ หรือ UNRWA ซึ่งเป็นองค์กรพี่น้องของ UNHCR อีกทั้งจากการสำรวจล่าสุดซีเรียยังคงเป็นประเทศที่ก่อให้เกิดผู้ลี้ภัยมากที่สุดในโลก คือ 5.5 ล้านคน หากแต่ ในปี 2559 ยังมีปัจจัยใหม่ที่ใหญ่ที่สุดคือ ประเทศซูดานใต้ซึ่งในช่วงเดือนกรกฎาคม 2559 ความล้มเหลวในการสร้างสันติภาพในประเทศได้ก่อให้เกิดคลื่นผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่กว่า 739,000 คน ในช่วงสิ้นปี และมากกว่า 1.87 ล้านคนขณะนี้

       ในส่วนที่สองคือผู้ที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นภายในประเทศจำนวน 40.3 ล้านคน ลดลงจากปีก่อนหน้านั้นคือ 40.8 ล้านคน  ซึ่ง ซีเรีย อิรัก และโคลัมเบีย ยังคงติดอันดับสามประเทศหลักที่ต้องเผชิญสถานการณ์ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศจำนวนมากที่สุดในโลก โดยปัญหาผู้พลัดถิ่นภายในประเทศนั้นถือเป็น 2 ใน 3 ของสถานการณ์การพลัดถิ่นฐานทั่วโลก

       และอันดับสุดท้ายคือ ผู้ขอสถานะผู้ลี้ภัย ซึ่งคือผู้ที่จำเป็นต้องหนีออกจากประเทศของตน และต้องการความคุ้มครองระหว่างประเทศในฐานะผู้ลี้ภัย โดยในปลายปี 2559 มีจำนวนผู้ขอสถานะผู้ลี้ทั่วโลกมากถึง 2.8 ล้านคน

      จำนวนยอดรวมผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยกว่า 65.6 ล้านคนนั้น คือผลพวงมหาศาลจากสงครามและการประหัตประหารทั่วโลกที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ นั่นหมายความว่าประชากรทุก 1 ใน 113 คนทั่วโลกนั้นต้องถูกบังคับให้ออกจากบ้านของตนเอง อันมีจำนวนสูงกว่าประเทศที่มีจำนวนประชากรลำดับที่ 21 ของโลก นั่นคือ ประเทศอังกฤษ

     “ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ตัวเลขนี้ก็ไม่อาจยอมรับได้ และตัวเลขนี้บ่งบอกอย่างเด่นชัดกว่าครั้งใดๆว่าเราทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อป้องกันและแก้ไขวิกฤตการณ์ พร้อมสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ รวมถึงผู้ขอสถานะผู้ลี้ภัย ว่าพวกเขาจะได้รับความคุ้มครองและดูแล จนกว่าทางออกของปัญหาได้รับการแก้ไขนายฟิลิปโป กรานดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าว อีกทั้งเราต้องพยายามมากขึ้นเพื่อคนเหล่านี้ เพราะในสถานการณ์ความขัดแย้งระดับโลกนั้น สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยว ไม่ใช่ความหวาดกลัว

      ข้อมูลสำคัญจากรายงาน Global Trends Report 2016 ของ UNHCR คือจำนวนของผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นใหม่ ราว 10.3 ล้านคน ในปี 2559 โดยประมาณสองในสาม หรือ 6.9 ล้านคน คือผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ หมายความว่ามีคนที่ต้องถูกบังคับให้ออกจากบ้านของตนเอง 1 คน ในทุกๆ 3 วินาที ซึ่งน้อยกว่าเวลาที่ใช้ในการอ่านย่อหน้านี้เสียอีก  

      ในขณะเดียวกัน ปี  2559 ก็ยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ในส่วนของการเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดหรือประเทศของตนเอง รวมถึงการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม โดยกว่า 37 ประเทศทั่วโลก ยอมรับผู้ลี้ภัยกว่า 189,300 คนให้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศ  และผู้ลี้ภัยกว่าครึ่งล้านคนสามารถเดินทางกลับสู่ประเทศบ้านเกิด นอกจากนี้ ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศกว่า 6.5 ล้านคนยังได้กลับไปยังถิ่นฐานของตนเอง แม้ว่าจำนวนมากยังคงไม่แน่ใจกับสถานการณ์ที่พวกเขาหวังเอาไว้

     ทั่วโลก ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 84 พักพิงอยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ประมาณหนึ่งในสาม หรือ 4.9 ล้านคน ได้รับความคุ้มครองจากประเทศที่ด้อยพัฒนาที่สุดในโลก ความไม่สมดุลนี้สะท้อนปัจจัยหลายอย่างรวมถึงการขาดฉันทามติในระดับนานาชาติเกี่ยวกับปัญหาการให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัย ซึ่งประเทศข้างเคียงที่ให้การพักพิงส่วนมากมีฐานะยากจนและอยู่ในพื้นที่ของความขัดแย้ง อีกทั้งสิ่งนี้ยังชี้ให้เห็นถึงความต้องการทรัพยากร และการสนับสนุนเป็นอย่างมาก ของประเทศและชุมชนที่รองรับผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่น ซึ่งหากขาดสิ่งเหล่านี้ก็จะส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงต่อการทำงานด้านมนุษยธรรมเพื่อช่วยชีวิต รวมถึงอาจจะก่อให้เกิดการพลัดถิ่นเป็นครั้งที่สองอีกด้วย

      ทั้งนี้ หากพิจารณาในส่วนของประชากรผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัย ประเทศซีเรียก็ยังคงเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ผู้ลี้ภัย และผู้ขอสถานะผู้ลี้ภัยในต่างประเทศ มากที่สุดในโลกราว 12 ล้านคน หรือเกือบสองในสามของประชากร ซึ่งหากไม่นับสถานการณ์อันยาวนานของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ อัฟกานิสถานก็ยังคงเป็นอันดับสอง ราว 4.7 ล้านคน ตามด้วย อิรัก ประมาณ 4.2 ล้านคน และซูดานใต้ ซึ่งวิกฤตการณ์ผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยมีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยกว่า 3.3 ล้านคนได้ถูกบังคับให้ออกจากบ้านของตนเองเมื่อสิ้นปี 2559

       กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ลี้ภัยทั่วโลก คือ เด็ก ผู้ซึ่งเปราะบางและยังคงต้องแบกรับความไม่สมส่วนของความทุกข์ทรมานจากการลี้ภัย และเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ผู้ขอลี้ภัยกว่า 75,000 คน เป็นเด็กที่เดินทางคนเดียว หรือพลัดพรากจากพ่อแม่ ซึ่งจากรายงานกล่าวว่าตัวเลขนี้อาจจะยังน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับเหตุการณ์จริงที่กำลังดำเนินอยู่

      UNHCR ยังคาดการณ์อีกว่าอาจจะมีประชากรอย่างน้อย 10 ล้านคนที่ไม่มีสัญชาติหรือมีความเสี่ยงต่อการไร้สัญชาติ ในสิ้นปี 2562 อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่รัฐบาลหลายประเทศบันทึกและแจ้งต่อ UNHCR เกี่ยวกับจำนวนประชากรที่ไร้สัญชาตินั้นมีแค่เพียง 3.2 ล้านคน ใน 74 ประเทศทั่วโลก

       รายงาน Global Trends Report 2016 ของ UNHCR เป็นการรวบรวมสถิติของจำนวนผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยทั่วโลก โดยรายงานฉบับนี้ไม่ได้กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงและความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ผู้ลี้ภัยทั้งหมด อาทิ การนำประเด็นการขอลี้ภัยไปใช้ในทางการเมืองในหลายๆประเทศ และความเข้มงวดที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับการให้ความคุ้มครองในบางภูมิภาค ซึ่งแม้ว่าความเปลี่ยนแปลงและความเคลื่อนไหวส่วนมากจะเป็นไปในทางลบหาก แต่ในทางบวกก็ยังมีปรากฎอยู่บ้าง ยกตัวอย่างเช่น การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งประวัติศาสตร์เพื่อลงนามความร่วมมือปฏิญญานิวยอร์กว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ ตลอดจนการจัดทำมาตรการร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์ผู้ลี้ภัยโลก ซึ่งประกอบด้วยแผนรับมือสถานการณ์ผู้ลี้ภัยฉบับครอบคลุม ที่รู้จักกันในชื่อ Comprehensive Refugee Response Framework (CRRF) รวมไปถึงความเอื้อเฟื้ออันต่อเนื่องของหลายประเทศที่ให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัย รวมถึงรัฐบาลต่างๆที่บริจาคงบประมาณ สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นทิศทางอันดีในปี  2559 ต่อการช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัย

      UNHCR จัดทำรายงาน Global Trends report เป็นประจำทุกปี โดยรวบรวมข้อมูลภายในองค์กร ข้อมูลจากองค์กรพันธมิตรนั่นคือ ศูนย์ติดตามการย้ายถิ่นฐานภายในประเทศ (Internal Displacement Monitoring Centre) และข้อมูลที่ได้รับจากรัฐบาลหลายๆประเทศ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!