ธุรกิจ SMEs หรือ Small and Medium Enterprises หรือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นธุรกิจที่เป็นอิสระมีเอกชนมาเป็นเจ้าของ ดำเนินการโดยเจ้าของเอง มีต้นทุนในการดำเนินการต่ำ และมีพนักงานจำนวนไม่มากในปัจจุบันมีความสำคัญและมีบทบาทต่อเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะในปี 2558 ไทยร่วมอยู่ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC
ความสำคัญของธุรกิจ SMEs ต่อเศรษบกิจไทยในปัจจุบัน
การก้าวเข้าสู่การเป็น AEC ทำให้การทำธุรกิจ SMEs ในปัจจุบันไม่ใช่แค่เล็กๆในท้องถิ่นอีกต่อไป แต่ต้องพร้อมรับมือในการแข่งขันธุรกิจกับนานาชาติอย่างเลี่ยงไม่ได้ ความจริงแล้ว SMEs มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก คือเป็นแหล่งสร้างงานแหล่งใหญ่ เศรษฐกิจจะมั่นคงหรือไม่ ต้องอาศัยธุรกิจ SMEs เหล่านี้ แล้วในโลกธุรกิจ ธุรกิจ SMEs ก็จะไป Plug in กับธุรกิจใหญ่ในบางเรื่อง เช่น รับเป็นโลจิสติกให้ เป็นคลังสินค้าให้ หรือขยายวัตถุดิบบางอย่างให้ เพราะฉะนั้นธุรกิจนั้นธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้กับธุรกิจใหญ่นั้นผูกพันกันจนแยกไม่ออก
AEC กระตุ้นการแข่งขัน SMEsสู่นานาชาติ
ปัจจุบันการใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อการทำธุรกิจในยุคนี้อย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการบริโภคการเติบโตทางธุรกิจ และ AEC ที่กำลังมา ทำให้รูปแบบธุรกิจเป็นการแข่งขันแบบนานาชาติ SMEs ขนาดอาจจะเล็กแต่การให้บริการเป็นระดับนานาชาต ตอนนี้ไม่ใช่แค่แข่งขันระดับตำบลหรือจังหวัดอีกต่อไปแล้ว ขนาดอาจจะเล็กแต่มาตรฐานต้องเป็นระดับชาติ เราอาจมีลูกค้าต่างชาติมากขึ้น
ความท้าทายของ SMEs
ปัญหาสำคัญของธุรกิจก็คือเรื่องของคน หากมีปัญหามากๆ ในการจัดการคน ก็เป็นตัวแปรสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้าของธุรกิจอย่างมาก ปกติเจ้าของ SMEs มักเก่งเรื่องของตลาด เก่งผลิต เก่งเรื่องบริการ ถึงได้ก่อร่างสร้างตัวได้ แต่ที่ขาดอยู่คือทักษะการบริหารจัดการ รวมถึงการจัดการเรื่องคน ด้วยความเป็น SME ก็ยากในการดึงคนที่มีความสามารถเข้ามาทำงาน ในขณะที่ SMEs ต้องการคนเก่งๆเข้ามาทำงาน แล้วถึงมีคนเก่งๆร่วมงานก็รักษาไว้ได้ยากมากๆ
วิธีบริหารคน
เจ้าของ SMEs นอกจากทักษะในเรื่องการตลาด การผลิต การบริการที่มีอยู่แล้ว ถึงเวลาแล้วที่ต้องมาเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการคนหรือทีมงาน วึ่งมีอยู่ 5 เรื่องใหญ่ๆ
1. การสรรหาการคัดเลือกคน (Recruitment)
ด้วยการที่ SMEs ต้องการคนเก่งๆเข้ามาทำงาน SMEs ต้องสามารถสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักขึ้นมาได้ในสังคมไทยเรามีความสัมพันธ์แบบ connection มีเพื่อนมีพี่มีน้อง พี่ Internal Employer Brand ในความหมายก็คือ คุณภาพสร้างการทำงานให้มีความสุข ให้คนบอกต่อ ให้ชวนญาติมาทำงานด้วย ไม่ใช่แค่ขายของอย่างเดียวเพราะสำหรับคนรุ่นใหม่ บางครั้งไม่จำเป็นต้องเป็นองค์กรที่ใหญ่ แต่ป็นองค์กรที่ทำดีให้สังคม ก็จะทำให้คนอยากมาร่วมงานด้วยได้ ส่วนการใช้ Social Media ให้มากๆจะได้ดึงคนในรุ่นเจนวาย (Gen Y) เข้าทำงานอีกทั้งต้อมีเครื่องมือที่คัดเลือกคน คุณก็ต้องมีความรู้ว่าจะสัมภาษณ์คนยังไง ซึ่งมีศาสตร์มีวิธีการของมัน
2. วิธีการจูงใจ (Motivation)
แน่นอนว่า แรงจูงใจที่สำคัญคือ ค่าตอบแทน การสร้างค่าตอบแทนที่มีระบบบรรยากาศการทำงานและสถานที่ทำงานที่ดี บ่อยครั้งที่เจ้าของ SMEs ละเลยในบางเรื่องที่สำคัญ เช่น ระบบของการทำค่าตอบแทน เพราะค่าตอบแทนเป็นทุนก้อนใหญ่ที่ธุรกิจต้องแบกรับ การทำค่าจ้างต้องเป็นระบบ มีโครงสร้างและวิธีการอยู่ ซึ่งตรงนี้มีเรียนรู้ได้ไม่ยากแต่ต้องทำ เมื่อเรามีเงินไม่มากแต่จ่ายผิดที่ ผิดคน ผิดเวลา แทนที่จะได้จ่ายคนเก่ง กลายเป็นจ่ายคนไม่เก่ง เวลาบริหารค่าตอบแทนต้องอิงตามผลงานให้มาก ก็คือต้องมีระบบประเมินผลงานอาจจะมีการจ่ายค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น แต่ต้องผูกกับผลประกอบการอย่างชัดเจนนอกจากเรื่องของเงินแล้ว การสร้างวัฒนธรรมการทำงาน สร้างได้โดยเจ้าของธุรกิจนั้นเอง ซึ่งสามารถดึงคนที่เป็นคนเก่งๆอยู่กับองค์กรได้
3. การบริหารผลงานและการพัฒนา (Performance Development)
เมื่อมีคนทำงานแล้ว การพัฒนาคนก็เป็นสิ่งสำคัญต่อธุรกิจที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การเตรียมคนให้พร้อมเป็นสิ่งสำคัญ บางธุรกิจคิดว่าการพัฒนาคนเป็นภาระ เป็นการลงทุนสูง เพราะแต่ก่อนเราแยกส่วนการทำงานให้มีผลงานกับการพัฒนา คือการจัดการเทรนนิ่งในระหว่างการทำงานมักคิดกันว่าทำให้เสียงาน เสียรายได้ เสียโอกาส จริงๆต้องมองการทำงานและการพัฒนาคนเป็นเรื่องเดียวกัน ต้องมีโปรแกรมพัฒนาที่ไม่แยกจากการทำงานอย่างสิ้นเชิง มันควรจะเป็นเนื้อเดียวกันด้วยอย่างเข้ามาทำงานวันแรกก็ควรมีการปฐมนิเทศให้เขารู้จักองค์กร รู้จักตัวเรา แล้วมีโปรแกรมที่ต่อเนื่อง ในระหว่างการทำงานก็มีพี่เลี้ยงสอนงานประจำตัวเขา เพื่อให้ปรับตัวเข้ากับ SMEs ได้ แล้วในการทำงานให้เขามีอำนาจการตัดสินใจสอดคล้องกับตำแหน่งและความสามารถไม่ใช่การตัดสินใจไปอยู่ที่เจ้าของคนเดียวทุกอย่าง
4. การรักษาคน (Retention)
การย้ายเข้าย้ายออกของบุคลากรเกิดขึ้นบ่อยมากในองค์กร คนเก่ง คนที่มีแวว เราอาจจะสูญเสียเขาไปหรือกลายเป็นคู่แข่งเราในอนาคต เราหาวิธีการจัดการยังไงดี บางธุรกิจสามารถขยายสาขาของเขาเองได้ จดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ในเครือเดียวกัน โดยให้คนเก่งก้าวขึ้นมาดูแลสาขาหรือตั้งบริษัทใหม่ในเครือเดียวกัน ส่วนเจ้าของกลายเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ CEO ลูกน้อง ที่เก่งๆก็ขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการเพราะบางคนมีทักษะความสามารถในการทำงาน แต่ถ้าเราไม่มีเวทีให้เขาโต อยู่ในองค์กรไม่ได้แล้ว เขาอาจต้องออกไป เราต้องหาเวทีใหม่ให้เล่น เติมความสามารถในการจัดการให้เขา วิธีการเติบโตแบบเครือข่ายแบบนี้จะทำให้ธุรกิจของเราเข้มแข็ง
5. การจัดการความรู้ (Knowledge Management)
เราไม่รู้ว่า อนาคตจะเกิดอะไรขึ้น สูตรลับเคล็ดลับที่เป็นจุดเด่นของสินค้าจะต้องจัดการอย่างไร การจัดการความรู้ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการบริหารคน เราต้องวิเคราะห์ให้ดีกว่า อะไรคือความรู้ของ Core Business ของเรา เช่น ในการทำขนม สูตรการทำขนมเหล่านี้แยกเป็นส่วน แบ่งเป็น 2-3 คนดูแลแล้วมารวมกันได้ขนม1อย่างไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ลูกน้องรู้ แต่ให้รู้ในภาคส่วนที่เราควบคุมได้ เมื่อวันหนึ่งเขาเป็นบริษัทย่อยของเรา เขาค่อยรู้ทั้งหมด เพราะผูกพันด้วยการถือหุ้นแล้ว เจ้าของธุรกิจต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลาเช่นกัน เจ้าของต้องเรียนรู้มากขึ้น นอกจากเป็น CEO แล้วต้องเป็น CPO (Chief People Officer) ด้วยในการแสวงหาความรู้เรื่องคน เรื่องการจัดการ พัฒนาหัวหน้างานให้มีความเป็นผู้นำแล้วเมื่อองค์กรโตขึ้น ใหญ่ขึ้น ต้องสร้างระบบใหม่ ต้องพัฒนาองค์กรสู่มาตรฐานเพื่อความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจที่ยั่งยืน
โดย ดร.เลิศชัย สุธรรมนนท์ ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายวางแผนและพัฒนาและผู้อำนวยการหลักสูตร MBA S-HRM
จากหนังสือ MBA Connected by PIM Jun-Aug 2014
|