เริ่มก้าวสู่ไตรมาส 3 เศรษฐกิจโลกยังคงแนวโน้มของการฟื้นตัวที่ชัดเจน จากเศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่น ในขณะที่การขยายตัวของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนายังทรงตัวจากช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการในประเทศที่ชะลอลง IMF ประมาณการว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโตร้อยละ 3.6 ขณะที่การค้าระหว่างประเทศปี 2557 ปรับตัวดีขึ้น โดย WTO คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.7 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าปีที่ผ่านมา
หากดูความเคลื่อนไหวเศรษฐกิจโลก ในระยะครึ่งปีจะพบว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้ฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น จากการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่ดีขึ้น อัตราการว่างงานปรับลดลงต่อเนื่อง โดย IMF คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวร้อยละ 2.8 จากร้อยละ 1.9 ในปี 2556 (ประมาณการเมื่อเดือนเมษายน 2557)
เศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่การฟื้นตัวยังไม่สมดุลกันระหว่างประเทศในกลุ่ม ประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น เยอรมนี ขยายตัวได้ดีกว่าประเทศอื่น และปีนี้ยุโรปมีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำยาวนาน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ IMF คาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัวร้อยละ 1.2 ในปีนี้ จากเดิมที่หดตัวร้อยละ 0.5 ในปี 2556
เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะยังขยายตัวจากมาตรการการเงินและการคลัง และส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งมีผลกระทบน้อยจากการขึ้นภาษีการบริโภค
ในขณะที่เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตช้าลง จากผลของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อของรัฐบาลที่ชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลต้องพยายามสร้างความสมดุลระหว่างการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่จะมีผลระยะยาวควบคู่ไปกับการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ
เศรษฐกิจอาเซียน 5 ชะลอตัวลงจากเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างอินโดนีเซียและไทยเป็นสำคัญ เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และแรงส่งจากการส่งออกไปเอเชียโดยเฉพาะจีนและอินเดียลดลง เศรษฐกิจ CLMV ยังเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง จากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลก และการเร่งปฏิรูปประเทศ
สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2557 ในครึ่งปีแรกปัญหาความไม่สงบทางการเมืองกระทบเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนหดตัว การท่องเที่ยวที่เคยขยายตัวสูงในช่วงที่ผ่านมาก็หดตัว โดยในช่วง 5 เดือนแรกหดตัวร้อยละ 5.9 จากการลดลงของนักท่องเที่ยวจีน มาเลเซียและญี่ปุ่น ส่วนการส่งออกไม่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยหดตัวร้อยละ 1.2 ในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ ทั้งนี้ การส่งออกไปยังตลาดสำคัญยังหดตัว ยกเว้นสหรัฐฯ และยุโรปที่ปรับดีขึ้น และเป็นการฟื้นตัวกระจุกอยู่ในหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเท่านั้น ขณะที่สินค้าหมวดอื่นหดตัว ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมไม่ขยายตัวในครึ่งปีแรก โดยหดตัวร้อยละ 0.2
อย่างไรก็ดี คาดว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นหลังการปฏิวัติ และปัญหาการเมืองได้คลี่คลายลง หากการเมืองมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้ร้อยละ 4.4 ในครึ่งปีหลัง ซึ่งหากเสถียรภาพการเมืองเป็นไปอย่างต่อเนื่องเศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ระดับปรกติโดยอาจขยายตัวได้ร้อยละ 5.9 ในครึ่งปีแรกของปีหน้า เนื่องจากแรงขับเคลื่อนของอุปสงค์ในประเทศ การท่องเที่ยว และการส่งออก รวมทั้งระดับฐานการขยายตัวที่ต่ำในปีก่อน
ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปีนี้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้นต่อเนื่องตามราคาพลังงานโดยเฉพาะค่ากระแสไฟฟ้าผันแปร และการส่งผ่านต้นทุนราคาก๊าซหุงต้มไปยังราคาอาหารสำเร็จรูปต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดเดือนมิถุนายน 2557 อยู่ที่ร้อยละ 2.35 และทั้งปีจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.2 เมื่อปี 2556 ขณะที่อัตราว่างงานล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2557 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 และทั้งปีจะอยู่ที่ร้อยละ 1.2
ประเด็นเศรษฐกิจที่น่าสนใจ การเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งอาจได้ผู้นำใหม่ที่ไม่ได้มาจากกลุ่มอำนาจเดิม และเน้นนโยบายปฏิรูปประเทศ เรื่องที่นักลงทุนกังวลใจบ้างคือ ผู้สมัครประธานาธิบดีทั้ง 2 คน มีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายในลักษณะชาตินิยมมากขึ้น เช่นจะลดการพึ่งพาด้านอาหาร และพลังงานมากขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องรอรายละเอียดของนโยบายเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว
โดย… ทีมงานสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน เครือเจริญโภคภัณฑ์
|