- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Tuesday, 30 May 2017 23:26
- Hits: 14761
คณะบัญชีฯ จุฬาฯ ชี้แนวโน้มที่สร้างผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงภาคธุรกิจ เทคโนโลยี ประชากร การขยายเมือง และความยั่งยืน
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ผู้นำธุรกิจต้องปรับแนวคิดพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมถึงความหลากหลายเจเนอเรชั่นของประชากร และการขยายตัวเมืองที่รวดเร็ว พร้อมกระแสสังคมที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย UN SDGs : Sustainable Development Goals ที่องค์กรใหญ่หลายแห่งนำมาใช้ อาทิ Google, IBM, UPS, Chevron, Pfizer รวมถึงคณะบัญชีฯ จุฬาฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยส่งผลให้ได้รับการจัดอันดับจาก QS World University Rankings by Subject ประเทศอังกฤษ ในสาขาด้านบัญชีและการเงิน โดยจุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยเพียงสถาบันเดียวของไทยที่ได้รับการจัดอันดับอยู่ใน 150 อันดับแรกของโลก และสาขาด้านธุรกิจและการจัดการ โดยจุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยเพียงสถาบันเดียวที่ได้รับการจัดอันดับอยู่ใน 200 อันดับแรกของโลก ซึ่งถือเป็นอันดับ 1 ของไทย
รศ.ดร พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า “ความล้ำหน้าที่ทันสมัยของเทคโนโลยีสร้างผลกระทบและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ภาคธุรกิจ ทำให้หลายองค์กรต้องรับมือกับเทคโนโลยีที่กำลังรุดหน้า โดยมีงานวิจัยพบว่าอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบ ได้แก่ ธนาคาร, คอนซูมเมอร์ โปรดักส์, ไอที, ธุรกิจค้าปลีก เป็นต้น ภาคธุรกิจหลายๆ แห่งจึงต้องมีการตั้งรับเกี่ยวกับเรื่องของเทคโนโลยี ในขณะเดียวกันความหลากหลายเจเนอเรชั่นของประชากรที่แต่ละองค์กรต้องประสบ ทำให้องค์กรต้องพร้อมรองรับความหลากหลายนี้อย่างไร รวมถึงการสร้างสรรค์งานให้กับผู้สูงวัย เมื่อประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบในปี 2562 เพื่อให้คนกลุ่มนี้รู้สึกมีคุณค่า ไม่เพียงเท่านี้ การขยายตัวของเมืองที่เติบโตเร็วขึ้น ทำให้มีคนชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น มีรายได้ประจำที่มากขึ้น จึงเป็นโอกาสการขยายตัวของธุรกิจ เช่น โรงพยาบาล โมเดิร์นเทรด นอกจากนี้การพัฒนาที่ยั่งยืนยังตอบโจทย์กระแสสังคมที่ให้ความสำคัญ จึงทำให้หลายองค์กรใหญ่ได้นำ UN SDGs : Sustainable Development Goals มาปฏิบัติ ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดขึ้น โดยในปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเริ่มกำหนดให้บริษัทต่างๆ ต้องทำรายงานแผนการพัฒนาที่ยั่งยืน ควบคู่กับการเผยรายงานประจำปี
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาใช้ ได้แก่ ขจัดความยากจน (No Poverty) ที่ให้นิสิตจัดตั้งชมรมขึ้นเพื่ออกไปช่วยเหลือเกษตรกรยังท้องถิ่นในชนบท ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาอาชีพ พัฒนา SME โดยทำเป็นโครงการต่อเนื่องอย่างยั่งยืน เช่น SIFE และ STEP, การศึกษาที่เท่าเทียม (Quality Education) ในอนาคตจะเปิดให้มีการเรียนการสอนผ่านระบบ
ออนไลน์ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ได้, การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Decent Work and Economic Growth) ขับเคลื่อนภาพรวมเศรษฐกิจระดับประเทศ ผ่านโครงการวิจัยชี้นำสังคม อาทิ โครงการสุดยอดแบรนด์ทรงพลัง (The Most Powerful Brands of Thailand), ผลงานวิจัยองค์กรธุรกิจที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุด (Thailand’s Top Corporate Brands) และโครงการวิจัยเรื่องการออมสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งอยู่ในระหว่างการพัฒนาเป็นแอปพลิเคชั่นและเกมส์ และอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน (Industry, Innovation, and Infrastructure) เน้นเรื่องการสร้างผู้ประกอบการใหม่ ผ่านการเรียนวิชาการจัดการสำหรับการเป็นผู้ประกอบการ รวมทั้งชมรมธุรกิจต่างๆ
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าบทบาทของคณะบัญชีฯ จุฬาฯ ไม่เพียงผลิตผลงานทางวิชาการที่เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ แต่ยังมุ่งเน้นทางด้านสังคม โดยเฉพาะการสร้างความยั่งยืนให้แก่สังคมไทย”