- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Wednesday, 12 April 2017 22:28
- Hits: 25028
ภาคธุรกิจกับการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน
คุณพัทธ์ธีรา วงศราวิทย์ และคุณวรางคณา ภัทรเสน ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ปัจจุบันการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การขยายตัวของเมือง และการเติบโตทางเศรษฐกิจ นำมาสู่ความต้องการใช้ทรัพยากรที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันทรัพยากรที่มีอยู่กำลังถึงขีดจำกัด จึงกลายเป็นความท้าทายในระดับโลกที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องเร่งให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิตไปจนถึงตลอดทั้งวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์
ระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน หรือที่เรียกว่าระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) ซึ่งมุ่งเน้นการนำทรัพยากรมาใช้เป็นปัจจัยการผลิต โดยไม่ได้เชื่อมโยงกันและเมื่อสิ้นสุดกระบวนการได้ก่อให้เกิดของเสียจำนวนมาก กำลังถูกตั้งคำถาม ขณะเดียวกันก็มีความพยายามในการแสวงหาระบบเศรษฐกิจที่ตอบโจทย์ทั้งด้านการเติบโตและด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน ระบบเศรษฐกิจแบบวงรอบ (Circular Economy) จึงเป็นแนวโน้มที่สำคัญ ซึ่งรัฐบาลและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคยุโรปกำลังร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้น
ระบบเศรษฐกิจแบบวงรอบมุ่งให้ความสำคัญกับการเลือกใช้วัสดุ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในกระบวนการที่เกี่ยวข้องตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เพื่อทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และนำมาสู่การปราศจากของเสียและมลพิษตลอดทั้งกระบวนการ ซึ่งระบบเศรษฐกิจดังกล่าวถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของการนำมาสู่ความยั่งยืนในด้านการผลิตและการบริโภคตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ในข้อที่ 12
การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจแบบวงรอบและ SDGs Goal 12 ไม่เพียงแต่จะเป็นความท้ายของภาคธุรกิจ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญและสามารถช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรได้ เช่น 1) ช่วยลดต้นทุน เนื่องจากทรัพยากรในแต่ละหน่วยจะถูกนำกลับมารีไซเคิลเพื่อใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าที่สุด รวมถึงลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากกระบวนการจัดการของเสีย ซึ่งถือเป็นต้นทุนสำคัญและมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต 2) ช่วยลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนทรัพยากรและความผันผวนของราคาวัตถุดิบ บริษัทสามารถลดการพึ่งพาทรัพยากรและวัตถุดิบที่มีอยู่อย่างจำกัด จากการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ 3) ก่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและสร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ บริษัทชั้นนำหลายๆ แห่งพบว่าการตั้งเป้าหมายในการขยายการเติบโตทางธุรกิจไปพร้อมกับลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดแรงผลักดันในการพัฒนานวัตกรรมภายในองค์กรเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ได้อีกด้วย
ภาคธุรกิจจะมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนได้อย่างไร
ตั้งเป้าหมายลดความเข้มข้นของการใช้พลังงานและการใช้ทรัพยากร (Energy and Resource Intensity) ในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการของบริษัท
ตระหนักถึงความเสี่ยงด้านความยั่งยืน เพื่อประเมินว่าประเด็นด้านความยั่งยืนที่เกิดขึ้นสามารถสร้างผลกระทบทั้งในด้านความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจให้กับบริษัทได้หรือไม่ และมีผลต่อกลยุทธ์ขององค์กรอย่างไรบ้าง
ประเมินค่าใช้จ่ายจากกระบวนการกำจัดของขยะและของเสียที่อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการธุรกิจในอีก 5-10 ปีข้างหน้า และพิจารณาว่าการพัฒนาปรับปรุงการออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการต่างๆ ตามโมเดลธุรกิจของระบบเศรษฐกิจแบบวงรอบ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มากน้อยเพียงใด
ร่วมมือกับเกษตรกร/ผู้ผลิต/คู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน ในการประเมินกระบวนการผลิต การขนส่ง ตลอดจนกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ว่าสามารถพัฒนาปรับปรุงเพื่อลดการสูญเสียทรัพยากร และลดของเสียได้อย่างไรบ้าง บริษัทอาจเป็นผู้นำในการใช้เทคโนโลยีและศักยภาพในการให้คำแนะนำแก่คู่ค้า เพื่อสร้างความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทานร่วมกัน
สร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภค ให้คำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ตลอดจนส่งเสริมการบริโภคทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ซึ่งจะนำไปสู่วิถีชีวิตที่ยั่งยืน (Sustainable Lifestyle)
กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่ชัดเจนและวัดผลได้ ตลอดจนมีผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อนเป้าหมายเหล่านั้นอย่างเป็นรูปธรรม และควรเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทราบด้วย
ข้อมูลอ้างอิง:
• สรุปประเด็นจากจากงานสัมมนา Responsible Business Forum on Sustainable Development 2016 ระหว่างวันที่ 22-24 พฤศจิกายน 2559 ณ ประเทศสิงคโปร์
• http://www<span< a=""> lang="TH">3.weforum.org/docs/WEF_ENV_TowardsCircularEconomy_Report_2014.pdf
• http://sdg.responsiblebusiness.com/news/sdg12-responsible-consumption-and-production/
• https://sustainabledevelopment.un.org/sdg12
ภาคธุรกิจกับการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน