WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aGUNKUL

ไฟฟ้าแสงอาทิตย์เทรนด์โลกที่น่าจับตามอง

       ไทยโพสต์ : ในยุคที่โลกกำลังพัฒนา หลายๆ ประเทศที่ล้าหลังก็เร่งเดินเครื่องให้ทันกับประเทศชั้นนำของโลก หวังเป็นที่ยอมรับและก้าวขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค "ไฟฟ้า" จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญ ที่เป็นพื้นฐานในการช่วยพัฒนาหลายๆ ด้าน และเป็นอีกสิ่งชี้วัดว่า ประเทศไหนมีการเจริญก้าวหน้ามากกว่ากัน

    อีกสิ่งหนึ่งที่เรามักจะพูดถึงกันเป็นประจำ ก็คือวิธีการที่จะทำให้ไฟฟ้ากำเนิดขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันนั้นมีมากมายหลากหลายวิธีไปหมด ไม่ใช่แค่การใช้ก๊าซธรรมชาติ การใช้น้ำมันเตา หรือการจะปล่อยน้ำให้ไปหมุนกังหันเพื่อให้เกิดกระแสไฟฟ้าแล้ว ซึ่งในยุคที่โลกกำลังพัฒนา นวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น จากสมัยก่อนที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นค่าของพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่รอบตัวเรา แต่สมัยนี้ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด

       แต่สิ่งที่กำลังได้รับความนิยมและถือว่าเป็นเทรนด์ของโลกในปัจจุบัน คงจะหนีไม่พ้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยอาศัยเซลล์แสงอาทิตย์ หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในนามของ "แผงโซลาร์เซลล์" นั้นเอง

       ประเทศไทยมีหลายๆ บริษัทเอกชนชั้นนำที่เบนเข็มธุรกิจหันมาจับด้านพลังงานแสงอาทิตย์กันมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่หน่วยงานของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจเองที่หันไปเริ่มทำธุรกิจดังกล่าวกันอย่างมาก และรัฐบาลเองก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยทำการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับหลายๆ หน่วยงาน จนธุรกิจด้านนี้เป็นที่สนใจอย่างแพร่หลาย

      ขนาดบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของประเทศไทย อย่าง บมจ.ปตท. ยังให้ความสนใจกับธุรกิจไฟฟ้าแสงอาทิตย์ จึงผุดบริษัทลูกอย่าง บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือจีพีเอสซี เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท พีทีที ยูทิลิตี้ จำกัด และบริษัท ผลิตไฟฟ้าอิสระ (ประเทศไทย) เพื่อเป็นแกนนำในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. ในการพัฒนา ลงทุน และดำเนินการด้านธุรกิจไฟฟ้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

      ซึ่งปัจจุบันได้แตกไลน์เพื่อไปดูแลกิจการโซลาร์แล้วกว่า 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท ไทย โซลาร์ รีนิวเอเบิล จำกัด ลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 80 เมกะวัตต์ ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีและกาญจนบุรี บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด ไฟฟ้า ลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 5 เมกะวัตต์ ในพื้นที่อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี และล่าสุด บริษัท อิชิโนเชกิ โซลาร์ พาวเวอร์ 1 จีเค โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) ที่ตั้งอยู่ในเมืองอิชิโนเซกิ จังหวัดอิวาเตะ ทางตอนเหนือของเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจีพีเอสซีถือหุ้น 99% โดยพร้อมจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในไตรมาส 4 ปี 2560 นี้

      อีกองค์กรยักษ์ใหญ่ต่อมาที่มีความใกล้ชิดกับการผลิตไฟฟ้าอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว แต่ก็ยังให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนอยู่เหมือนกันคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.

      นายวิวัฒน์ ชาญเชิงพานิช รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ยังมีแผนงานสร้างพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นอีก 1,500-2,000 เมกะวัตต์ รวมกับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะเกิดขึ้น โดยพลังงานทดแทนที่จะทำส่วนใหญ่จะเป็นโซลาร์ ซึ่งมองไว้เป็นพื้นที่ตามเขื่อนทั้งหมดของ กฟผ. โดยจะทำเป็นโซลาร์ลอยน้ำ ซึ่งจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปว่าจะให้เป็นการเปิดแบบพิเศษนอกเหนือจากโควตาที่มีอยู่ในประเทศได้หรือไม่

         นอกจากนี้ กฟผ.ยังมีโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนทับสะแก อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดกำลังผลิต 5 เมกะวัตต์

       ด้าน บมจ.ผลิตไฟฟ้า หรือ เอ็กโก ที่เป็นบริษัทลูกของ กฟผ. ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว จำนวน 23 แห่ง กำลังผลิตรวมกว่า 4,041 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้มีโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในโครงการลพบุรี โซลาร์ ขนาด 73 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่จังหวัดลพบุรี ใช้เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์แบบฟิล์มบาง โครงการนี้ถือเป็นโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกของประเทศไทยที่มีขนาดใหญ่ติดอันดับโลก รวมถึงยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของเอ็กโก กรุ๊ป อีกมากมายหลายแห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ

               อีกหนึ่งบริษัทที่แยกตัวมาจากกลุ่มธุรกิจค้าน้ำมันอันดับต้นๆ ของประเทศอย่าง บมจ.บางจากปิโตรเลียม นั้นก็คือ บมจ.บีซีพีจี ตามนโยบายการปรับโครงสร้างธุรกิจไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียนของบางจาก เพื่อประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในหลากหลายรูปแบบ

               บีซีพีจีเป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผู้ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตติดตั้ง 182 เมกะวัตต์ในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตติดตั้ง 236 เมกะวัตต์ในญี่ปุ่น และมีเป้าหมายที่จะลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก รวมทั้งสิ้น 1,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2563

               นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บีซีพีจี มองว่าธุรกิจโซลาร์เซลล์กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากของทั่วโลก ขณะที่การผลิตไฟฟ้าภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยระยะยาว (PDP 2015) ปี 2558-2579 กำหนดเป้ารับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ตามแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ไว้ที่ 6,000 เมกะวัตต์ ในปี 2579 ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่มากกว่าพลังงานหมุนเวียนชนิดอื่น

               "โซลาร์เซลล์มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้า ประกอบกับต้นทุนที่ลดลง และใช้ระยะเวลาก่อสร้างไม่นานนั่นเอง แต่ปัจจุบันยังติดที่นโยบายของภาครัฐไม่เอื้อต่อผู้ผลิตแผงเซลล์ของไทยมากนัก เนื่องจากยังไม่กำหนดให้ใช้สินค้าในประเทศก่อน รวมถึงการส่งเสริมการผลิตแผงเซลล์ของไทยก็ถดถอยลง ดังนั้นการผลิตแผงเซลล์ในประเทศจึงมีต้นทุนสูงกว่าการนำเข้า จึงอยากให้มีการสนับสนุนในด้านนี้เพิ่มมากขึ้น" นายบัณฑิตกล่าว

               นายฟรานซิส แวนเบลเลน กรรมการผู้จัดการ บมจ.ผาแดง อินดัสทรี หรือ PDI กล่าวว่า ในสิ้นปี 2560 บริษัทจะยุติธุรกิจสังกะสี ดังนั้นจึงตัดสินใจเร่งรัดโครงการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนบริษัทให้เข้าสู่ธุรกิจที่มีความยั่งยืน เช่น ธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจรีไซเคิล ธุรกิจการจัดการกากของเสีย และธุรกิจผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มจากโลหะต่างๆ หลายโครงการในกลุ่มธุรกิจที่กล่าวมานี้อยู่ในช่วงศึกษาความเป็นไปได้ขั้นสุดท้าย และจะดำเนินการสร้างรายได้และผลกำไรโดยเร็ว

               ล่าสุดเข้าซื้อกิจการโซลาร์ฟาร์มแม่ระมาด จังหวัดตาก ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 6.3 เมกะวัตต์ รวมมูลค่า 477 ล้านบาท หลังจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ญี่ปุ่นแห่งแรกของบริษัทได้เปิดดำเนินการไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

               นอกจากนี้ยังตั้งเป้าขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในโรงไฟฟ้า โซลาร์ฟาร์ม ซึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นมีความคืบหน้าอย่างมาก โดยโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มแห่งที่ 2 ที่โนกาตะ ขนาด 10.5 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าจะเปิดดำเนินการในไตรมาสที่ 2 ของปี 2560

               ซึ่งเป็นอีกเสียงยืนยันหนึ่งว่า ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์ เป็นเทรนด์ใหม่สำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้าจริงๆ ไม่ใช่ได้การยืนยันจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว นักธุรกิจในประเทศไทยเองก็มองเห็นแนวทางความก้าวหน้าในส่วนนี้ด้วย

               นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่ผนวกการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เข้ากับธุรกิจเดิมของตนเองได้อย่างยอดเยี่ยม คงหนีไม่พ้น บริษัท เสนา โซลาร์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด ที่อยู่ในความดูแลของ บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ หรือ SENA บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็สนใจธุรกิจพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์เช่นเดียวกัน จึงเกิดโครงการ "บ้านเสนาโซลาร์" ที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์พร้อมกับตัวบ้าน เพื่อให้บ้านแต่ละหลังผลิตไฟใช้เองได้ในบางส่วน

               น.ส.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SENA กล่าวว่า บริษัทต่อยอดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วยการเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนในรูปแบบพลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่ง ที่มีการขยายตัวอย่างมากทั่วโลก เพราะเป็นพลังงานสีเขียวและแนวโน้มต้นทุนต่ำลงเมื่อเทียบกับการซื้อไฟจากภาครัฐ ดังนั้นเป้าหมายทุกโครงการพัฒนาบ้านของเสนาฯ จะติดตั้งแผงผลิตไฟจากแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือที่เรียกว่าโซลาร์ รูฟท็อป

               พร้อมยังได้ร่วมทุนกับ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด สร้างโซลาร์ฟาร์มที่มีกำลังการผลิตทั้งหมด 46.5 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นในจังหวัดนครปฐม กำลังการผลิตรวม 24 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 8 เมกะวัตต์ 3 โครงการ และในจังหวัดสระบุรี กำลังการผลิตรวม 22.5 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 8 เมกะวัตต์ 2 โครงการ และ 6.5 เมกะวัตต์ 1 โครงการ และขายไฟฟ้าให้กับรัฐ ในวันที่ 31 ธ.ค.2558 ตามแผน และมองว่าการลงทุนไม่ได้จำกัดเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนในประเทศญี่ปุ่น เพื่อขยายโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทนของบริษัทเพิ่มเติม

               นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ เปิดเผยว่า สำหรับแผนงานในอนาคตที่คาดว่าจะทำให้บริษัทดำเนินการได้ตามเป้า จำนวน 5,000 เมกะวัตต์ บริษัทได้ศึกษาความเหมาะสม และพิจารณาการลงทุนเพิ่มเติมในประเทศที่มีศักยภาพรอบบ้านเรา อาทิ ลาว อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา และฟิลิปปินส์ เป็นต้น คาดว่าในอนาคตจะมีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานหมุนเวียนจาก 10% เป็น 25-30% ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมและพลังงานน้ำ

               เชื่อว่าธุรกิจโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ยังเติบโตได้อีกมาก เพราะถ้าดูจากแผนงานของบริษัทชั้นนำที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น ไม่มีความคิดที่จะหยุดลงทุนเลยแต่บริษัทเดียว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ที่ตั้งเป้าหมายภายในปี 2579 หรือ 20 ปีข้างหน้า ผลักดันการใช้พลังงานทดแทนภายในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 30% จากการใช้พลังงานทั้งหมดของประเทศ ภายใต้แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว ที่มุ่งเน้นการดำเนินงานที่สำคัญ 3 ด้าน ประกอบด้วย พลังงานมั่นคง เศรษฐกิจมั่งคั่ง และสังคมไทยยั่งยืน

               นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.ได้ทยอยออกประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในช่วงครึ่งหลังปี 2559 ที่คิดเป็นตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่ปี 2561-2562 และจะทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุนประมาณ 60 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ โดยนำร่องการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อย่างเสรี (โซลาร์เสรี) กำลังผลิต 100 เมกะวัตต์ แบ่งขายไฟให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 50  เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อีก 50 เมกะวัตต์

               รวมถึงการเปิดโครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) ของกลุ่มสหกรณ์ภาคการเกษตรจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (ซีโอดี) ภายในกำหนด 30 ธันวาคม 2559 นี้ ปริมาณ 800 เมกะวัตต์ ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

               นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) กล่าวว่า เหตุผลที่โครงการดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมโครงการต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้มาก เนื่องจากเป็นโครงการที่ไม่จูงใจนักลงทุน เพราะกำหนดให้ผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้เองเท่านั้น ห้ามจำหน่ายไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้ เข้าระบบสายส่งของการไฟฟ้า ทำให้กลุ่มอาคารพาณิชย์มาสมัครร่วมโครงการน้อยกว่าที่คาดไว้

               นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอยู่หลายด้าน เนื่องจากการลงทุนย่อมมีความต้องการที่จะได้รับผลตอบแทน นั่นก็คือสามารถขายไฟที่ผลิตออกมาได้ โดยรัฐบาลต้องเป็นผู้รับซื้อ เมื่อความต้องการมีมากเกินความจำเป็น ก็ย่อมเกิดการแข่งขันเป็นธรรมดา รวมถึงโควตาของรัฐบาลเองก็อาจจะเปิดให้เข้าร่วมน้อยกว่าความต้องการของนักลงทุน จึงทำให้การพัฒนาสะดุดไป

               อีกปัญหาที่เกิดขึ้น คือไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นไฟฟ้าที่ไม่ค่อยมีความเสถียรในการผลิตเท่าไหร่ ถ้าไม่มีแดด ก็ไม่มีไฟ จึงเป็นภูเขาปัญหาลูกใหญ่ที่ทำให้ไม่เกิดการพัฒนา.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!