- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Monday, 28 July 2014 19:54
- Hits: 3539
เกาะติดเศรษฐกิจ : ปัญหาหนี้ครัวเรือน : ขอคืนความสุขให้เธอ...ประชาชน
ไทยโพสต์ : "เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา... แผ่นดินจะดี
ในไม่ช้า ความสุขจะคืนมาประเทศไทย'ผมชอบเพลงนี้นะ เพราะเป็นการแสดงวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ชัดเจนแบบง่ายๆ ตรงๆ ไม่ซับซ้อนว่าจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดีขึ้นแบบชายชาติทหาร แม้จะไม่บอกชัดๆ ว่าเมื่อไร แต่ที่คำในเนื้อเพลงที่บอกว่า'ในไม่ช้า'คงไม่เกิน 2 ปีตาม Roadmap ที่ คสช.ประกาศต่อสาธารณชน
สิ่งที่ คสช.มุ่งเน้นในช่วง 2 ปีข้างหน้านี้นอกจากการปฏิรูปการเมือง คงหนีไม่พ้นก็คือการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะสังเกตได้ว่าตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา คสช.พยายามดำเนินการให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นโดยเร่งโอนเงินที่ค้างจ่ายในโครงการจำนำข้าวให้ชาวนาจำนวน 9 หมื่นล้านบาท และพยายามวางมาตรการและนโยบายทางเศรษฐกิจต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและนักธุรกิจ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดี
สังเกตได้จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและในอนาคต และมั่นใจว่ารายได้จะเข้ามาในกระเป๋าของตนมากขึ้นในอนาคต ซึ่งน่าจะทำให้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมากำลังซื้อน่าจะปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ
ฟากฝั่งของผู้ผลิตหรือผู้ค้าขาย จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการทุกแหล่งทั้งการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ออกมาในทิศทางเดียวกันคือ ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจมากขึ้น และยอดขายตลอดจนคำสั่งซื้อเริ่มทยอยกลับฟื้นคืนมา
เรียกได้ว่าทั้งฝั่งอุปสงค์ (ผู้ซื้อ) และฝั่งอุปทาน (ผู้ขาย) มีมุมมองตรงกันคือ ภายหลังที่การเมืองกลับมามีเสถียรภาพ ภายให้การบริหารประเทศของ คสช. ตลอดจนแผนการดำเนินงานตาม roadmap 3 ระยะในช่วง 2 ปีนี้ที่ประเทศไทยกำลังมีรัฐบาลที่ได้รับการแต่งตั้งโดย สนช. ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่เพิ่งประกาศใช้ ยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองไทยดีขึ้นเป็นลำดับ ถ้าสังเกตจากคำให้สัมภาษณ์จากภาคส่วนต่างๆ ตามสื่อสารมวลชนทุกแขนง
อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ผมพยายามพูดคุยและสอบถามข้อมูลจากภาคธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะสมาชิกของหอการค้าไทย ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ กลางและเล็ก ว่ากำลังซื้อหรือยอดขายฟื้นจริงหรือไม่ ฟื้นขึ้นมากน้อยแค่ไหน และคิดว่ายังมีปัญหาอุปสรรคอะไรคงค้างอยู่หรือไม่ เพราะตรวจเช็กสภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและในอนาคตว่าสอดคล้องกับผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและหน่วยงานต่างๆ หรือไม่ ผลจากการสอบถามพูดคุยที่ผมได้รับและทำให้ผมแปลกใจมากก็คือคำตอบที่บอกว่า'ยอดขายยังไม่ฟื้น หรือฟื้นต่ำกว่าที่คาด'
ข้อสังเกตของนักธุรกิจที่รู้สึกว่ายอดขายที่ฟื้นตัวขึ้นไม่มากมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น'ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ การส่งออกยังไม่ฟื้น หรือเงินราชการยังไม่ลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจมากนัก'แต่ที่ได้ยินมานานและบ่อยครั้งที่สุดปัญหาหนึ่งก็คือ'หนี้ครัวเรือนของประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย'ทำให้ผู้บริโภคต้องสาละวนกับการหาเงินชำระหนี้แทนที่จะนำเงินมาซื้อของกินของใช้ และชาวนาเมื่อได้เงินจากโครงการจำนำข้าว ก็นำเงินส่วนหนึ่งไปใช้หนี้ทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ ซึ่งคำพูดของนักธุรกิจใหญ่หลายคนที่พูดในลักษณะนี้หาได้จากหนังสือพิมพ์ทางเศรษฐกิจและธุรกิจในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ครับ
นี่คือ เหตุผลที่หอการค้าโพลจึงได้ทำการสำรวจภาวะหนี้ครัวเรือนของคนไทยระหว่างวันที่ 14-20 กรกฎาคม 2557 ที่เพิ่งแถลงข่าวไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วเพื่อตรวจสอบข้อสันนิษฐานนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจพบว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนมีปัญหาหนักที่สุดนับตั้งแต่มีการสำรวจเมื่อปี 2549 หรือในรอบ 9 ปี โดยหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 219,158.20 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16.1%
ทั้งนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่รุนแรงขึ้นเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวเมื่อปีที่แล้ว โดยที่สถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทำให้ประชาชนกลุ่มคนมีรายได้น้อยจำเป็นต้องหาแหล่งเงินที่พร้อมปล่อยกู้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีระดับเงินเดือนไม่เกิน 1 หมื่นบาท ทำให้ปัญหาหนี้นอกระบบเพิ่มสูงขึ้น โดยพบว่าภาคครัวเรือนหันไปกู้เงินนอกระบบมากขึ้น ส่งผลให้การกู้ยืมเงินนอกระบบขยายตัวเพิ่มขึ้น 27.08% เติบโตสูงสุดในรอบ 6 ปี
ระดับปัญหาหนี้โดยเฉพาะหนี้นอกระบบที่รุนแรงขึ้นแม้ว่าจะไม่ทำให้เกิดปัญหาวิกฤติทางการเงินในระบบเศรษฐกิจโดยรวม เพราะเกิดขึ้นกับประชาชนเฉพาะกลุ่มไม่ใช่ทั้งหมดของประเทศ แต่จะเป็นตัวแปรสำคัญที่บั่นทอนกำลังซื้อและทำให้เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวยังขยายตัวไม่เต็มที่ เพราะทำให้ผู้บริโภคที่มีหนี้นอกระบบ อยู่ในวังวนของการชำระดอกเบี้ยเงินกู้สูงทำให้ไม่มีเงินมาใช้จ่ายเต็มที่นัก ขณะที่ภาครัฐจะต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นและประชาชนจะมีรายได้มากขึ้น มีการจ้างงานมากขึ้น
ทั้งนี้ คสช.และภาครัฐควรเร่งเข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มที่มีหนี้นอกระบบสูงให้แปลงหนี้นอกระบบเป็นในระบบแทน จัดหาแนวทาง จัดระเบียบเงินกู้นอกระบบให้มีความเป็นธรรมและอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมแทน ซึ่งในขณะนี้ธนาคารออมสินและหน่วยงานสนับสนุนต่างๆ กำลังรับเรื่องนี้จาก คสช.ไปดำเนินการแก้ไขปัญหาให้เกิดผลโดยเร็ว.