สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจในต่างประเทศอันดับแรก จะต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เพื่อใช้กำหนดทิศทางเดินไปข้างหน้า ทำให้บรรลุภารกิจที่องค์กรตั้งไว้ ซึ่งหากเปรียบเป็นการรบ ก็ต้องรู้ว่าจะเข้ายึดเนินไหน และจะยึดเนินนั้นอย่างไร เพื่อให้ชนะสงคราม ไม่ใช่ต่างคนต่างเข้ายึดเนินซึ่งไม่บูรณาการ อันจะทำให้มีโอกาสพ่ายแพ้กลับมา
สำหรับ ยุทธศาสตร์ ถือเป็นศาสตร์ของผู้นำองค์กร ดังนั้นวิสัยทัศน์ของผู้นำ จะเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จ อย่างซีพีกำหนดวิสัยทัศน์เป็นครัวของโลก ก็จะต้องดำเนินธุรกิจอย่างมีเป้าหมายและยุทธศาสตร์ โดยเริ่มจากการนำเอาปรัชญา 3 ประโยชน์มาใช้เป็นหลักในการทำธุรกิจคือ 1. ประเทศได้ประโยชน์ (เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ) 2. ประชาชนได้ประโยชน์ (คนมีรายได้) 3. บริษัทได้ประโยชน์ (ซีพีมีกำไรตามสมควร) รวมทั้งจะต้องนำแนวคิดของคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ มาใช้เป็นแนวทางคือ'เกษตรกรต้องอยู่ได้ ซีพีจึงจะอยู่ได้ เราต้องทำกระเป๋าเกษตรกรให้โตเสียก่อน แล้วจึงค่อยแบ่งรายได้จากกระเป๋านั้น' ซึ่งการจัดการอย่างมียุทธศาสตร์แบบนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า ซีพีประสบผลสำเร็จในการทำธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากจะต้องมีการจัดการเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Management) แล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากนั่น ก็คือ ต้องมีสมรรถนะ (Competencies) หรือพูดง่ายๆ ก็คือ'หากมองเห็นโอกาสแล้ว เราจะไปหยิบโอกาสนั้นอย่างไร'ซึ่งสมรรถนะนี้ เราจะต้องสร้างขึ้นมา เช่น ซีพีทำธุรกิจอาหารสัตว์, พันธุ์สัตว์, ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และอาหารแปรรูปแล้ว สมรรถนะของซีพีก็คือการมีเครือข่ายการขายที่เข้มแข็ง เช่น 7-11, แม็คโคร, ซีพีเฟรชมาร์ท ซึ่งอยู่ภายใต้กลุ่มธุรกิจการตลาดและการจัดจำหน่าย เรื่องนี้คู่แข่งคิดไม่ได้ หรืออาจจะคิดได้แต่คิดได้ช้ากว่า
สำหรับ ยุทธศาสตร์การลงทุนในพม่า บังกลาเทศ ปากีสถาน และรัสเซีย มีความแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ที่เหมือนกันก็คือ การทำให้'กิจการของเครือฯ เป็นครัวของประเทศนั้นๆ'ตามวิสัยทัศน์ของผู้นำซีพี อย่างในพม่าก็ต้องทำให้กิจการเป็น 'ครัวของชาวพม่า'เพราะซีพีเริ่มทำธุรกิจที่พม่าตั้งแต่'ต้นน้ำ' คืออาหารสัตว์และไก่พันธุ์ ส่วน'กลางน้ำ'คือฟาร์มไก่เนื้อและไข่ไก่ ปิดท้ายที่'ปลายน้ำ'คืออาหารแปรรูป มีทั้งไส้กรอก ลูกชิ้น ไก่ย่างห้าดาว และไก่ทอด โดยอาหารสัตว์ ไก่พันธุ์ และไส้กรอก วันนี้เราเป็นเบอร์ 1 ในพม่า สิ่งที่สะท้อนถึงสมรรถนะของซีพีในพม่าคือ เราเห็นโอกาสการลงทุนก่อนคู่แข่ง เพราะซีพีเข้าไปลงทุนมานานกว่า 10 ปีแล้ว รวมทั้งยังพบโมเดลทำธุรกิจในต่างประเทศด้วยคือ การสร้างทีมการตลาดมืออาชีพเข้าไป'ทำตลาด'ในประเทศนั้นๆ ไม่ใช่ทำหน้าที่ไป'เดินขายสินค้า'โดยทีมการตลาด ต้องมีหลักการสำคัญคือ 1. ต้องเข้าใจผู้บริโภคเป้าหมายเป็นอย่างดี (Marketing Research) 2. วางกลยุทธ์การตลาดสู้กับคู่แข่งขันในประเทศนั้นๆ 3. คิดโปรแกรมการตลาด เพื่อสร้าง Brand และทำ Marketing Promotion และ 4. พัฒนาสินค้าตัวใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการทำธุรกิจในพม่าอย่างมียุทธศาสตร์ ทำให้ตลาดพม่าให้ความไว้วางใจเราและเราก็ประสบความสำเร็จ
เช่นเดียวกับการทำธุรกิจในบังกลาเทศ ซึ่งซีพีลงทุนตั้งแต่ต้นน้ำคืออาหารสัตว์และพันธุ์สัตว์, กลางน้ำคือฟาร์มไก่เนื้อและไข่ไก่, ปลายน้ำคืออาหารแปรรูป โดยวางวิสัยทัศน์เป็น'ครัวของบังกลาเทศ'เราได้สร้างโรงงานอาหารสัตว์ที่ทันสมัยที่สุด และผลิตลูกชิ้นไก่เป็นเจ้าแรก เป็นที่ชื่นชอบของชาวบังกลาเทศอย่างมาก ทำให้ซีพีมีแต้มต่อ นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะพัฒนาอาหารฮาลาลที่บังกลาเทศเชื่อมโยงกับปากีสถาน เพราะประชากร 2 ประเทศนี้เป็นมุสลิมเกือบ 100% และมีโอกาสที่จะพัฒนาตลาดไปยังตะวันออกกลางได้ในที่สุด ส่วนธุรกิจในปากีสถานเองยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นคือ อาหารสัตว์และพันธุ์สัตว์ ธุรกิจตั้งอยู่ในแคว้นปัญจาบ ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจและการค้า
ปิดท้ายที่การลงทุนในรัสเซีย มีการผลิตสุกรครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงกลางน้ำ ส่วนปลายน้ำที่จะเน้นต่อไปคือการทำตลาดเนื้อสุกรชำแหละผ่าน Systemized Outlet ที่ทันสมัย และการทำตลาดผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรแปรรูปในที่สุด
สรุปยุทธศาสตร์ที่จะทำให้ธุรกิจซีพีในต่างประเทศประสบความสำเร็จมี 3 ข้อคือ 1. ทำให้กิจการของเครือฯ ในแต่ละประเทศเป็นครัวของประเทศนั้นๆ 2. เน้นต่อยอดธุรกิจปลายน้ำที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าธุรกิจต้นน้ำและกลางน้ำ และ 3. สร้างทีมการตลาดมืออาชีพลงไปพัฒนาตลาดในประเทศที่เข้าไปลงทุน
หมายเหตุ : รวบรวมจากการบรรยายในงานซีพีวิวัฒน์ On-Stage ครั้งที่ 2 Go Global : ยุทธศาสตร์การพัฒนาธุรกิจของซีพี หัวข้อ “เจาะลึก : ธุรกิจของซีพีในพม่า บังกลาเทศ ปากีสถาน รัสเซีย” เมื่อวันที่ 17 กรกฏาคม 2557 ที่โรงแรมอิสติน แกรนด์สาทร กรุงเทพฯ
โดย รองศาสตราจารย์บุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนากลยุทธ์และธุรกิจ กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์
|