- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Friday, 20 May 2016 19:19
- Hits: 5163
แฉคนไทยป่วยโรคเบาหวานพุ่ง 4.8 ล้านคนหนุน สปท.ชงขึ้นภาษีเครื่องดื่มผสมน้ำตาล
บ้านเมือง : ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีสำหรับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง โดยหวังว่าภาษีนี้จะกระตุ้นให้คนลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล และทำให้ ผู้ผลิตปรับเปลี่ยนสูตรการผลิตให้ใช้น้ำตาลน้อยลง ซึ่งมี 2 กุญแจสำคัญที่จะทำให้การจัดเก็บภาษีนี้บรรลุวัตถุประสงค์คือ 1.ภาษีนี้ต้องครอบคลุมเครื่องดื่มทุกประเภทที่มีน้ำตาลสูง ไม่ว่าจะเป็น ชาเขียว กาแฟ นม หรือน้ำผลไม้ 2.อัตราภาษีต้องสูงเพียงพอที่จะทำให้ผู้บริโภครู้สึกได้ และควรจัดเก็บเป็นขั้นบันได โดยเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากควรถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่า
ด้าน ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี หัวหน้าโครงการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย รายงานผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยฯ ครั้งล่าสุดปี 2557 ว่าความชุกของโรค เบาหวานในประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปในขณะนี้ มีร้อยละ 8.9 หมายความว่าประชาชนไทย กว่า 4.8 ล้านคน เป็นเบาหวาน ในจำนวนนี้ 4 ใน 10 คนไม่ทราบว่าตัวเองเป็นเบาหวานแล้ว นอกจากนี้ยังพบคนที่เสี่ยงต่อเบาหวาน คือ น้ำตาลในเลือดสูงอีกร้อยละ 15.6 หรือคิดเป็น 7.7 ล้านคน มีโอกาสเสี่ยงเข้าคิวเป็นเบาหวานในอนาคตอันใกล้ โดยผู้ป่วยเป็นเบาหวานนี้น่าเป็นห่วงเพราะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 3.3 ล้านคน ในปี 2552 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านคนภายใน 5 ปี ซึ่งเป็นภาระมหาศาลของประเทศชาติและครอบครัว ในการรักษาโรคเบาหวาน และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่ตามมาได้แก่ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะไตวาย และโรคอื่นๆ ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนไทย ซึ่งการแก้ปัญหานั้นต้องทำให้ประชาชนมีการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก ที่สำคัญคือต้องมีการจัดสภาพแวดล้อม เช่นควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มพื้นที่ออกกำลังกาย เป็นต้น นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังแนะนำว่าเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยควรบริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ 25 กรัมหรือ 6 ช้อนชา และให้ข้อแนะนำว่ามาตรการด้านภาษีและราคา เป็นหนึ่งในนโยบายที่ได้ผลในการลดปัญหาภาวะอ้วน
ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ปัญหาเรื่องโรคเบาหวานและความอ้วนเพิ่มสูงขึ้นมาก ผลมาจากการบริโภคที่เปลี่ยนไปเนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร การบริโภคน้ำตาลจำนวนมาก รวมไปถึง ผลไม้หวานและเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ที่มีน้ำตาลผสมอยู่ในปริมาณมาก ซ้ำเติมด้วยการขาดการออกกำลังกาย ซึ่งพบว่าเด็กที่มีโรคอ้วนสูงขึ้นมาก และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในเอเชียพบว่าอัตราการเป็นเบาหวานของประชากรไทยสูงกว่าประเทศอื่น
ด้าน น.พ.เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ขอสนับสนุนเรื่องการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ เพื่อป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงด้านอาหารและโภชนาการ จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันแพทย์ในโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องรับภาระดูแลผู้ป่วยเบาหวานและโรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก ทั้งผู้ป่วยและญาติต้องสูญเสียเงินทองในการรักษายาวนาน เบาหวานเป็นเหมือนประตูที่นำไปสู่การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังอื่นๆ ตามมา การป้องกันจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้มีมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เรื่องการป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านอาหารและโภชนาการในประเด็นการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ เมื่อวันที่ 26 เม.ย.59 โดยให้นำความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศปรับปรุงก่อนส่งรายงานไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป