เหรียญมีลักษณะ 2 ด้าน เรื่องทุกเรื่องก็ดำเนินไปอย่างมีลักษณะ 2 ด้าน "เผยแสดง" ให้เป็นที่ปรากฏเสมอ
กรณี "ข่มขืน" บนขบวน "รถไฟ"ก็เช่นเดียวกัน
ทาง 1 นำไปสู่การสะท้อนให้เห็นระบบภายในของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กระทั่งนำไปสู่การรุกไล่ผู้ว่าการ
คสช.ฟันฉับ ปลด นายประภัสร์ จงสงวน
ขณะเดียวกัน ทาง 1 จากการเปิดเผยของ นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ปลัดกระทรวงซึ่งทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ร.ฟ.ท.ขาดทุนสะสมรวมหนี้สินอยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท
เรื่อง "ขาดทุน" มิได้เป็นข่าวใหม่ รับรู้กันมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุค นายอาหมัด ขามเทศทอง เป็นผู้นำแรงงานมาแล้ว
แต่ไม่นึกว่าจะหนักหนาสาหัสระดับนี้
ไม่เพียงแต่ ร.ฟ.ท.เท่านั้น หาก ขสมก.ก็ขาดทุนสะสมรวมหนี้สินประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาท การบินไทยก็ขาดทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
เป็น "หาบ" หนักที่ คสช.จะต้องเข้าไป "แบก"
น่าเห็นใจ คสช.อย่างยิ่ง น่าเห็นใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และโดยเฉพาะพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ซึ่งรับผิดชอบภาระทางด้าน "เศรษฐกิจ"
มิใช่ว่า ผบ.เหล่าทัพจะไม่มี "บทเรียน"
กล่าวสำหรับกองทัพบกก็ต้องยอมรับว่า ก่อนหน้านี้เคยถือหุ้นใหญ่ในธนาคารทหารไทยตั้งแต่แรกก่อตั้งในยุค จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
แล้ว ณ วันนี้ ธนาคารทหารไทยเป็นอย่างไร
ในห้วงแรกๆ ของการก่อตั้ง "รัฐวิสาหกิจ" ไม่ว่ายุค จอมพล ป.พิบูลสงคราม ไม่ว่ายุค จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่ว่ายุค จอมพล ถนอม กิตติขจร
ก็มีการแบ่ง "เค้ก" จาก "รัฐวิสาหกิจ" กัน
กองทัพบกก็ต้องเอาการที่อยู่บนบก อย่างเช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย อย่างเช่นบริษัท ขนส่ง จำกัด อย่างเช่นองค์การขนส่งพัสดุภัณฑ์ เป็นต้น
กองทัพเรือมุ่งไปทางน้ำ อย่างเช่น การท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นต้น
กองทัพอากาศมุ่งไปในแบบเหาะเหินเดินหาว อย่างเช่น การบินไทยเดินอากาศไทย เป็นต้น
แม้ในยุครัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 และในยุครัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 จะมีความพยายาม "ฟื้นคืน" วันเวลาอันเลิศแต่หนหลัง
แต่ก็ยอมรับกันว่า ยากและยากส์ อย่างยิ่ง
ความพยายามของกองทัพในการเข้าไปบริหารจัดการ "วิน" มอเตอร์ไซค์ และ "คิว"รถตู้เป็นเรื่องน่าสรรเสริญ
แต่พอแตะเข้ากับ "สลากกินแบ่ง" ก็รู้ว่าเป็นเรื่อง "ร้อน"
ร้อนตั้งแต่ยุค จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นประธานกองสลาก ร้อนตั้งแต่เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ยื่นมือเข้าไปสัมผัส
เพราะรู้กันว่า "แบงก์" ที่ประดา "อนุ" ทั้งหลายได้ไป เอามาจากไหน
เพียงแต่ คสช.ร้องขอให้ลดราคาขายจากที่เคยเกิน 100 บาทขึ้นให้มาเหลือเพียงใบละ 80 บาท
ก็ต้องร้องเพลงของ อ้อม สุนิสา "ถอย ถอยดีกว่า"
คำถามก็คือ คสช.จะทำความเข้าใจต่อกระบวนการเสื่อมและทรุดลงเป็นลำดับของหน่วยงาน "รัฐวิสาหกิจ" อย่างไร จะอาศัย "บทเรียน" ใดมาเป็นเครื่องนำทางเพื่อมิให้ก้าวเดินไปบนความผิดพลาด
ร.ฟ.ท.ขาดทุนสะสมนับ 1 แสนล้านบาทนี่ย่อมไม่ธรรมดา
การบินไทยขาดทุนสะสมร่วม 2 หมื่นล้านบาท องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพขาดทุนสะสมร่วม 8-9 หมื่นล้านบาทก็ไม่ธรรมดาเหมือนกัน
จะทำอย่างไรจึงจะลดการ "ขาดทุน" ลงได้
ความเด็ดขาดในแบบ "ทหาร" จะทำให้อัตราการขาดทุนสะสมแปรเปลี่ยนไปในทางที่ดีได้หรือไม่
มองจากอดีตอาจเห็นแต่ความอับเฉา ขณะเดียวกัน ความอับเฉาจากยุค จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ความอับเฉาจากยุค จอมพล ถนอม กิตติขจร ก็น่าจะเป็น "บทเรียน"
บทเรียนตาม 12 ค่านิยม ตาม 9 ยุทธศาสตร์