- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Monday, 09 May 2016 13:15
- Hits: 4648
การเกษตรทันสมัยและความรับผิดชอบต่อสังคม
ในการบรรยายพิเศษหัวข้อ 'การเกษตรทันสมัยและความรับผิดชอบต่อสังคม'โดยคุณศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่งานสัมมนา'การเกษตรทันสมัยเพื่อความยั่งยืนในสังคม AEC' จัดโดย คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตรและศูนย์บ่มเพาะทางธุรกิจ สำนักบริการวิชาการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2559 ได้สะท้อนภาพปัญหาหลายมิติในภาคเกษตรกรรมไว้อย่างชัดเจน พร้อมเสนอทางออกของปัญหา รวมถึงทำให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนา ได้เห็นภาพ เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาภาคเกษตรอย่างยั่งยืนได้อย่างไร
หลายมิติปัญหาเกษตรกร
'ความยากจน' ยังคงเป็นปัญหาหลักของเกษตรกรในประเทศซึ่งมีมากกว่า 40 ล้านคน คนจนส่วนใหญ่อยู่ในเขตชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ราว กว่า 3 ล้านคน หรือร้อยละ 44.5 และในภาคเหนืออีกเกือบ 2 ล้านคน หรือร้อยละ 24 ของคนจนทั้งประเทศ คิดเป็นจำนวนรวมมากกว่า 5 ล้านคน ที่มีรายได้อยู่ในเส้นของความยากจน ซึ่งคุณศุภชัย เรียกอาชีพเกษตรกรว่าเป็น “ธุรกิจครอบครัว” เป็นธุรกิจที่มีขนาดเล็กสุด ไม่ใช่แค่แรงงาน เนื่องจากต้องมีการลงทุน อีกทั้งยังต้องเผชิญความเสี่ยงสารพัด เช่น ภัยแล้ง ภัยน้ำท่วม โรคระบาด ฯ ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถหลุดพ้นวงจรความยากจนไปได้คือการขาดใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ขาดองค์ความรู้ วิทยาการ และเทคโนโลยี 2. ขาดการบริหารจัดการ และ 3.ขาดความเข้าใจ ความต้องการของตลาดรวมไปถึงการสร้าง “แบรนด์” ของสินค้า
โลกเรียกร้องทุกฝ่ายช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม
นอกจากการขาด 3 องค์ประกอบสำคัญที่กล่าวแล้ว ยังมีความซับซ้อนในมิติปัญหาด้านอื่นๆ เช่น ปัญหา “ขาดสิทธิที่ทำกิน” (Use of Land) การที่เกษตรกรโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือไม่มีเอกสารสิทธิ์ ในที่ดินทำกิน ทำให้ขาดหลักประกันความั่นคงการประกอบอาชีพ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ถือครองที่ดินทำกินตกทอดมาแต่บรรพบุรุษ หรือการได้รับเอกสารสิทธ์จากรัฐ แต่นำที่ดินไปขายต่อ และทำการบุกรุกพื้นที่ใหม่ต่อไป ส่งผลต่อการบุกรุกป่า โดยมิติของปัญหามีที่มาจากการไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งการทำลายป่ายังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในระดับโลกว่าด้วยปัญหาโลกร้อน ( Global warming) และความยั่งยืน (Sustainable)
“โลกกำลังก้าวไปสู่การตรวจสอบ ทุกคนทุกภาคฝ่ายต้องมีส่วนรับผิดชอบในสิ่งแวดล้อม ในระบบสังคม และการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ inclusive คือพัฒนาไปด้วยกันไม่ได้พัฒนาแบบแยกจากกัน ถ้าอุตสาหกรรมไหนพัฒนาแล้วต้องดึงทั้งระบบไปด้วยกัน การพัฒนาระบบความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ ความมั่นคงชีวิต การพัฒนามิติทางสังคม คุณค่าทางสังคม ความปลอดภัยจากการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข รวมไปถึงสิ่งแวดล้อม ทั้ง3เรื่องนี้คือคีย์เวิร์ดที่สำคัญ จำกัดความของคำว่า ความยั่งยืน”
แนวทางแก้ปัญหาจากอดีตสู่อนาคต
ปัจจุบันเกษตรกรในยุโรปและสหรัฐอเมริกาคงเหลืออยู่ประมาณ 2% แต่ทั้งยุโรป และอเมริกา ต่างมีแนวทางที่ใช้แก้ปัญหาสำหรับเกษตรกรเพื่อตอบโจทย์ 3ข้อของปัญหาเกษตรกร คือ ทำให้เกิดองค์ความรู้ การบริหารจัดการ และความเข้าใจตลาด โดยยุโรปใช้ระบบสหกรณ์ ( co-op) มาตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมีชุมชนเป็นจุดเริ่มต้น และประสบความสำเร็จเริ่มจากประเทศเยอรมัน ซึ่งมีผู้อธิบายว่าความสำเร็จของระบบสหกรณ์เกิดขึ้นจากคำว่า entrepreneurship เกิดจากผู้นำชุมชนที่เป็นกึ่งเถ้าแก่และนักบุกเบิก มีศักยภาพ และมีความเป็นเจ้าของ จึงทำให้สหกรณ์ เป็นองค์กรที่มีความรู้ มีศักยภาพด้านการบริหารจัดการ และศักยภาพด้านการตลาด ส่งผลให้ระบบสหกรณ์เป็นที่ยอมรับและแผ่ขยายความสำเร็จไปใน สวิสเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และอีกหลายประเทศในยุโรปตะวันตก
ขณะที่สหรัฐอเมริกาเป็น Capitalist (ทุนนิยม) 100% ใช้ระบบ Contract Farming โดยหากเกษตรกรรายใดมีความเก่งก็สามารถขยายพื้นที่เกษตรออกไปได้ แต่รายใดที่ไม่มีความสามารถก็จะย้ายไปทำอย่างอื่น โดยที่สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของโลกสามารถรองรับการถ่ายเทเกษตรกรได้ ปัจจุบันสหรัฐอเมริกา ก้าวไกลเป็น Mega Farming โดยเป็นการบริหารพื้นที่เกษตรที่มีขนาดใหญ่มากโดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียมบังคับรถในการทำงานแทนกำลังคน เช่น การหว่านเมล็ดพันธุ์ การใส่ปุ๋ยในดิน
เมื่อกลับมามองในประเทศไทย ระบบสหกรณ์ไม่ประสบความสำเร็จเกือบทั้งหมดเพราะขาดความเป็นเจ้าของ และ สหกรณ์กลายเป็นเพียงแหล่งกู้เงินเท่านั้น ส่วน contract farming ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมไทย ดังนั้น social enterprise จึงเป็นทางออกอีกช่องทางหนึ่งในการแก้ปัญหาเกษตรกรโดยโครงสร้างต้องทำให้เกษตรกรร่วมเป็นเจ้าของธุรกิจ
Social Enterprise กับการแก้ปัญหาเกษตรกรไทย
“เราเรียกว่าเป็น “community based social enterprise” หมายความว่าเป็นองค์กรเอกชนแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อชุมชน มีฝ่ายบริหาร มีฝ่ายที่ลงทุนร่วมเป็นเจ้าของ เกษตรกรชุมชนเองมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดเพื่อให้เกิด Owner Ship (ความรู้สึกเป็นเจ้าของ) และ entrepreneurship (ผู้บุกเบิกกิจการ) สามารถจ่ายเงินเดือนสูงๆให้กับผู้บริหารที่ดี และการบริหารงานต้องทำให้มีกำไร คืนผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่ง ส่วนใหญ่ ก็เป็นเกษตรกรเองด้วย คือชุมชน”
นั่นคือ social-enterprise ในความหมายที่คุณศุภชัยกล่าวถึง ทั้งนี้ ความสำคัญของธุรกิจดังกล่าวคือการเป็นธุรกิจขนาดกลางที่สามารถทำงานร่วมกับเกษตรกรควบคู่ไปกับบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้เกิดมุมมองการสร้างโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน และปรับตัวเองได้จากการมีองค์ความรู้ มีนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งประสิทธิภาพ คุณภาพและ สามารถมองเห็นความเปลี่ยนแปลงในตลาดยุค AEC ได้อย่างชัดเจนนำไปสู่การวางแผนบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม โดย social- enterprise จะทำให้เกษตรกรสามารถเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ กับเอกชน อันเป็นมิติสำคัญที่จะเปลี่ยนระบบโครงสร้างของภาคเกษตรของไทย
นอกจากการบริหารจัดการรูปแบบ social enterprise จะทำให้เกิดการสร้างโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนแล้ว การมีองค์ความรู้ในด้านอื่นๆ เช่น เกษตรอุตสาหกรรม ความรู้ทางภูมิศาสตร์ เงื่อนไขของสิ่งแวดล้อมและองค์ประกอบของพื้นที่ เงื่อนไขของน้ำ ฯ เหล่านี้จะช่วยให้เกิดการวิเคราะห์และกำหนดเป็น “ภูมิยุทธศาสตร์” ในระดับมหภาค ของการทำเกษตรอุตสาหกรรม สามารถกำหนดพื้นที่ทำการเกษตรให้เหมาะสม เช่น พื้นที่ภาคเหนือที่เป็นภูเขาสูง เหมาะแก่การปลูกกาแฟ และตลาดยังมีความต้องการสูง เป็นการพลิกจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็งได้
“เราต้องมองตลาดในประเทศและตลาดโลก และต่อยอดไปยังสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม สินค้าที่มีแบรนด์ดิ้ง มีความต้องการระดับโลกก็จะได้ราคาดี พัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง ต่อไปต้องรู้จักแหล่งที่มาที่ไป และเรื่องความปลอดภัยของอาหาร (Food safety) ต้องมีการบริหารจัดการเรื่องของสุขภาพเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลก”
เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาภาคเกษตรอย่างยั่งยืน
ในช่วงท้ายของการบรรยายพิเศษ คุณศุภชัยได้สะท้อนกับผู้เข้าร่วมการสัมมนา ว่า ต่อไป เกษตรกรอาจเรียกตนเองได้ว่าเป็น landlord (เจ้าของที่ดิน) โดยสามารถบริหารจัดการพื้นที่เกษตรได้ด้วยตนเองโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ร่วมกับองค์ความรู้ที่มี เกิดเป็น Smart Farming หรือ Cloud Farming อันเป็นเรื่องการบริหารข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตร เช่น ข้อมูลของพื้นที่ดินมีค่าเท่าไร อุณหภูมิเป็นอย่างไร เงื่อนไขของน้ำ ข้อมูลด้านตลาด ฯ ซึ่ง ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปเก็บรวบรวมไว้ในระบบcloud เป็นข้อมูลหลากหลายที่สามารถแบ่งปันกันได้ โดยเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ จะสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลผล และวิเคราะห์ เพื่อการบริหารจัดการในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร เกิดเป็นecosystem (ระบบนิเวศ) ที่สำคัญ
อย่างไรก็ตาม คุณศุภชัยยังได้กล่าวทิ้งท้ายฝากเป็นข้อคิดแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาว่า “การเชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยี ยังไม่ใช่การเชื่อมโยงที่แท้จริงบางทีเราฝันไปไกลเราเก่งในเรื่องเทคโนโลยีจะสามารถทำอะไรได้มากมายให้โลกใบนี้ หากแต่การเชื่อมโยงที่แท้จริงอยู่ที่ใจ รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเราไม่เห็นแก่ตัว อันเป็นมิติสำคัญในด้านสังคม”