- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Monday, 18 April 2016 23:59
- Hits: 5602
บทความพิเศษเรื่อง กักเก็บน้ำผิวดินในแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน
เมื่อมีเวลาแล้วนึกย้อนกลับไปในอดีต ยุคที่ปู่ย่า ตายายของเราทำอาชีพเกษตรกรรมในรูปแบบที่ยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยเหมือนกับปัจจุบันนี้ ไม่มีปุ๋ยเคมี ไม่มียาฆ่าแมลง ไม่มียาฆ่าหญ้า ไม่มีรถแทรกเตอร์ แต่ท่านก็ทำของท่านมาได้ สามารถเลี้ยงบุตรหลานให้เติบโตมาเป็นเจ้าคนนายคน สืบสานวัฒนธรรมการเกษตรไทยโดยที่ยังมีความสุขมากกว่าผู้คนหรือสังคมปัจจุบันด้วยซ้ำ
การทำการเกษตรในยุคเก่านั้น ส่วนใหญ่ก็จะมีเพียงจอบ เสียม พลั่วเป็นหลัก ไม่มีเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ น้ำหนักมากมากดทับดิน ดินในอดีตจึงไม่แน่นแข็ง โดยเฉพาะดินชั้นล่างที่ลึกลงไปประมาณ 30-50 เซนติเมตร จากการไถพรวนของรถไถ รถแทรกเตอร์ทำให้ดินร่วนซุยแต่เฉพาะด้านบน แต่ดินชั้นล่างถูกน้ำหนักของรถกดทับจนแน่นเป็นชั้นดาน ก่อให้เกิดการระบายถ่ายเทน้ำไม่ดีจนสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการไม่ใช้ยาฆ่าหญ้าจึงทำให้ไม่มีสารพิษที่สะสมอยู่ในดินคอยควบคุมการเจริญเติบโตของพืช เพราะอย่าลืมว่ายาฆ่าหญ้าที่คุมหญ้า ก็สามารถส่งผลกระทบกับพืชหลักได้ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะหญ้าก็จัดว่าเป็นพืชชนิดหนึ่งเหมือนกัน ถึงแม้ว่าจะส่งผลกระทบได้ไม่มากในระยะแรก แต่ในระยะยาวการสะสมที่มากขึ้นก็สามารถทำให้พืชอานชะงักงันได้เช่นเดียวกัน
การย้อนกลับมาทำการเกษตรแบบเก่าตามภูมิปัญญาชาวบ้านก็น่าจะดีไม่น้อยกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้ที่มีโซนพอเพียงของตนเองแค่ 1 ถึง 2 ไร่ก็เพียงพอ ไม่ว่าจะมีพื้นที่มากมายเป็น 100 ไร่ 1,000 ไร่ก็ไม่สำคัญ ขอเพียงแบ่งมาทำโซนพอพียงแก่ตนเองสัก 1 ไร่ เพื่อให้ความสุขแก่ตนเอง โดยอาศัยหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือ 30% สำหรับสระน้ำ 30% สำหรับนาข้าว 30% สำหรับป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และ 10% สำหรับที่อยู่อาศัย แล้วลองใช้ทรัพยากรทั้งหมดโดยไม่ต้องมีเงินเข้าเกี่ยวข้อง ลองดูว่าจะมีความสุขอยู่หรือไม่ หิวก็กินข้าว กินไข่ กินปลา กินผัก ผลไม้ที่ปลูกเอาไว้
แต่ที่เขียนมาทั้งหมดอาจจะยังไม่ตรงกับประเด็นของชื่อเรื่อง เพียงแต่อยากเชิญชวนให้พ่อแม่พี่น้องเกษตรกรลองมาปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรแบบง่ายกันบ้าง สำหรับการแก้ไขปัญหาการกักเก็บน้ำผิวดินแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยให้เริ่มทำจากแปลงเล็กๆ ด้วยการกำจัดหญ้าแบบไม่ใช้ยาคุมและยาฆ่าหญ้า แต่ใช้วิธีการตัดหรือดาย ตัดเพียงครึ่งเดียวไม่ให้รกเกะกะจนทำงานไม่ได้ แล้วนำเศษซากหญ้านั้นไปสุมรวมกองที่โคนต้น เพื่อลดการสูญเสียน้ำจากผิวดิน ที่อาจจะถูกสายลม แสงแดด พัดระเหยไป และอีกวิธีหนึ่งการใช้จอบเสียมพรวนดินด้านบนเพื่อตัดขาดท่อแคปปิลารี (ไส้ตะเกียง) ที่เป็นตัวเอาความชื้นชั้นใต้ดินขึ้นมาสู่อากาศเสียหมด ถ้าเราพรวนดินเพื่อทำลายไส้ตะเกียงของดิน ผิวดินที่ติดกับท่อแคปปิลารีที่ถูกตัด จะเป็นตัวกักเก็บรับความชื้นจากไส้ตะเกียงของน้ำที่ระเหยขึ้นมาบนพื้นผิวที่พรวนดิน ทำให้มีน้ำผิวดินในแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน
การเลี้ยงหญ้าให้เขียวรำไรทั้งแปลง การใช้เศษซากหญ้า อินทรียวัตถุ ตอซังฟางข้าวคลุมผิวดิน การใช้จอบพรวนดินทำลายตัดขาดท่อแคปปิลารีไม่ให้ขึ้นมาสู่ผิวดินด้านบน ให้ดินที่พรวนเป็นตัวดักกดทับน้ำที่ปลายท่อแคปปิลารีด้านล่าง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อการกักเก็บรักษาความชื้นในดินให้คงอยู่กับต้นไม้ให้ได้นานๆ ด้วยสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้งและหนาวเย็น อากาศจะเป็นตัวพัดพาความชื้นในดินไปจนหมด แต่หากใช้วิธีดังกล่าวนี้ ก็จะเป็นการประหยัดต้นทุนเรื่องน้ำให้แก่พืช และช่วยประคองให้ดินกักเก็บน้ำจนกว่าฝนจะตกได้ในแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน
สำหรับ ผู้ที่มีข้อสงสัยหรือต้องการคำปรึกษา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้โดยตรงที่ 02 986 1680-2
สนับสนุนบทความโดยนายมนตรี บุญจรัส
กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด (ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ)
สอบถามข้อมูลข่าวได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทรศัพท์ 0 2000 8499 , 081 732 7889