- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Sunday, 10 April 2016 21:17
- Hits: 2464
สุขภาพดีช่วยสร้างความพึงพอใจในชีวิตของคนไทย
ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ความพึงพอใจในชีวิตและความสุขเป็นความรู้สึกที่วัดยาก และเปรียบเทียบระหว่างกันได้ยากลำบากนัก แต่ก็มิใช่ว่าจะไม่สามารถวัดได้เลย
ถ้าถามว่า การมีครอบครัวอบอุ่น ทำให้เรามีความสุขหรือความพึงพอใจในชีวิตเพิ่มขึ้นไหม แทบทุกคนจะตอบว่าแน่นอน ทำให้ความพึงพอใจในชีวิตดีขึ้น และย่อมดีกว่าการมีครอบครัวแตกแยก หรือมีแต่การทะเลาะเบาะแว้ง
ความพึงพอใจในชีวิตไม่มีขายตามท้องตลาด แต่เราสามารถซื้อสินค้าบางอย่างในท้องตลาด และสินค้านั้นได้เพิ่มความพึงพอใจในชีวิตให้แก่เรา เช่น ผู้หญิงใช้เงินซื้อเสื้อผ้าเพื่อตกแต่งให้ตนเองดูดี และสร้างความพึงพอใจในการสวมใส่ พ่อแม่จ่ายเงินค่าเล่าเรียนให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ลูกก็มีความสุขและความพึงพอใจในชีวิตวัยเด็ก
แต่สินค้าและบริการบางอย่างหาซื้อไม่ได้ แต่เมื่อได้บริโภคก็สร้างความสุขและความพึงพอใจในชีวิต เช่นดังที่ยกตัวอย่าง การมีครอบครัวอบอุ่น ต้องใช้เวลาที่มีคุณภาพของทุกคนในครอบครัว ครอบครัวอบอุ่นไม่มีขาย ถึงแม้ว่าสินค้าหรือบริการบางอย่างที่ช่วยสร้างให้เกิดครอบครัวอบอุ่นนั้นมีขาย
การสำรวจความพึงพอใจในชีวิตของคนไทยปี 2555 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สอบถามคนไทยจำนวนกว่า 5 หมื่นคน ในการให้คะแนนความรู้สึกพึงพอใจในชีวิต จาก 1 (น้อยที่สุด) ถึงคะแนน 10 (มากที่สุด) ผลการสำรวจพบว่าคนไทยมีคะแนนความพึงพอใจในชีวิตเฉลี่ย 7.6 คะแนน คนไทยในภาคใต้มีคะแนนความพึงพอใจในชีวิตสูงสุด (7.8 คะแนน) และคนกรุงเทพมีคะแนนต่ำสุด (7.3 คะแนน)
เมื่อให้คนไทยให้คะแนนความสำคัญของมิติทางสุขภาพและสังคม ปรากฏว่า การมีสุขภาพดีมีความสำคัญต่อชีวิตมากที่สุด และชีวิตครอบครัวดีมีความสำคัญต่อชีวิตเป็นอันดับสอง
การวิจัยโดย ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงศ์ และดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ใน Valuing social relationships and improved health condition among Thai population ได้พยายามเทียบเคียงความพึงพอใจในชีวิตจากหลายๆ กิจกรรมและมิติด้านสุขภาพและสังคม กับหน่วยวัดที่เป็นตัวเงิน โดยใช้ข้อมูลการสำรวจความพึงพอใจในชีวิตของคนไทยปี 2555
งานวิจัยพบว่า การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เช่น การพูดคุยกับเพื่อนบ้าน การร่วมกิจกรรมในชุมชน การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางศาสนา การเล่นกีฬาในชุมชน ทำให้คนไทยมีความพึงพอใจในชีวิตเพิ่มขึ้น การมีสุขภาพดีและการได้ช่วยเหลือผู้อื่น ทำให้คนมีความพึงพอใจในชีวิตเพิ่มขึ้น แต่การได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่น กลับทำให้ความพึงพอใจในชีวิตลดลง ทั้งนี้ คนรับความช่วยเหลือจากผู้อื่นมักจะเป็นผู้ขาดแคลน หรือผู้ที่รู้สึกขาดแคลนหรือรู้สึกว่าตนเองมีไม่พอจึงต้องรับจากผู้อื่น
เมื่อเทียบความพึงพอใจที่ได้จากการมีสุขภาพดี การมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม และการให้ความช่วยเหลือผู้อื่น กับหน่วยวัดที่เป็นเงิน ปรากฏว่า การมีสุขภาพดีให้ความพึงพอใจในชีวิตมากที่สุด ถ้าเทียบเป็นเงินก็ให้ความพึงพอใจเท่ากับการได้รับเงินรายได้ทั้งเดือน การช่วยเหลือผู้อื่นสร้างความพึงพอใจในชีวิต เทียบได้กับการมีเงินรายได้ 35% ของเงินรายได้ต่อเดือน การร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมกับคนในชุมชนให้ความพอใจกับชีวิตเท่ากับ 46% ของเงินรายได้ต่อเดือน การได้เล่นกีฬาร่วมกับคนในชุมชนสร้างความพึงพอใจในชีวิตเท่ากับการได้รับเงิน 30% ของเงินรายได้ทั้งเดือน
การวัดความพึงพอใจนี้ใช้วิธีเทียบความรู้สึกโดยใช้หน่วยวัดของเงิน แต่มิได้ให้หมายความว่าเอาเงินมาแลกเปลี่ยนกับความพึงพอใจในชีวิต กล่าวคือ ในที่นี้เราใช้เงินเป็นหน่วยวัด มิได้ใช้เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยน
ผลการวิจัยนี้พอจะบอกได้ว่า คนไทยให้ความสำคัญและให้คุณค่ากับการมีสุขภาพดีสูงมาก ถ้าการได้รับประกันสุขภาพและการได้รับการส่งเสริมสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนไทยมีสุขภาพดี ขึ้น นโยบายสาธารณะที่มุ่งเน้นเรื่องสุขภาพย่อมได้รับการตอบรับที่ดีจากคนไทยแน่นอน
เผยแพร่โดย ทีมสื่อสารสาธารณะ-ทีดีอาร์ไอ
http://tdri.or.th/tdri-insight/valuing-social-relationships-and-improved-health-condition/