- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Monday, 22 February 2016 13:39
- Hits: 3609
'ภาษีบุหรี่' ปรับขึ้นเต็มเพดาน ช่วย 'สิงห์อมควัน' ลด-ละ-เลิก ได้จริงหรือ?!...
บรรดาสิงห์อมควันต้องกระอัก! หลังจาก ราชกิจจานุเบกษา ประกาศใช้กฎกระทรวงขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่จาก 87% เป็น 90% โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบัน และเป็นการสนับสนุนนโยบายควบคุมการบริโภคยาสูบของรัฐ
เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยว่า ภาษีที่เก็บจากบุหรี่ หรือที่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า "ภาษีบาป" นั้น คืออะไร? และ มีที่มาอย่างไร? วันนี้ "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" จะมาไขข้อข้องใจเรื่องดังกล่าว...
ไม่สนับสนุนให้สูบบุหรี่ แต่ไม่ได้ใช้มาตรการรุนแรงถึงขั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
ภาษีบาป (Sin tax) เป็นคำเรียกอย่างไม่เป็นทางการของภาษีที่จัดเก็บจากสุราและยาสูบ อันเป็นกิจกรรมที่รัฐบาลหลายๆ ประเทศไม่ต้องการสนับสนุน และอยากให้ประชาชนละเลิก หรือลดอบายมุขดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้ใช้ไม้แข็งถึงขั้นสั่งให้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย เพียงแต่กำหนดให้เป็นมาตรการห้ามปรามแบบเบา
สำหรับ ประเทศไทย มีความพยายามที่จะควบคุมยาสูบมาตั้งแต่ ปี 2532 จากการตั้งคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ และตั้งสำนักควบคุมยาสูบ กระทรวงสาธารณสุขในอีก 2 ปี ถัดมา ก่อนจะออกกฎหมายควบคุมโฆษณา และส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ และการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะในปี 2535
แต่ปัญหาที่พบ คือ กระทรวงสาธารณสุข ขาดงบประมาณจัดสรรเพื่อนำมาควบคุม จนกระทั่งได้แนวคิดที่จะนำภาษียาสูบ มาเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมยาสูบและส่งเสริมสุขภาพในเรื่องอื่นๆ ประกอบกับเมื่อปี 2539 กระทรวงการคลังได้ริเริ่มนโยบายการเงินการคลังเพื่อสังคม จึงมีแนวคิดให้หลักประกันสุขภาพเมื่อประชาชนเจ็บป่วย บวกกับการจัดตั้งองค์กรอิสระ เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. นั่นเอง
ตามกฎหมายได้กำหนดให้บริษัทบุหรี่และสุรา จ่ายภาษีสรรพสามิตเพิ่มอีกร้อยละ 2 ทุกครั้งที่เสียภาษี เพื่อนำเข้า สสส. หรือถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพ คือ ถ้าปกติเก็บอยู่ 100 บาท ก็จะเก็บเพิ่มอีก 2 บาท รวมเป็น 102 บาท ซึ่งเงิน 2 บาท ก็จะเข้าสู่ สสส. ขณะที่รัฐก็รับ 100 บาทเท่าเดิม
จนมาถึงยุคของรัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้มีการตั้งสถานีวิทยุไทยพีบีเอส ขึ้นมา และบวกค่าภาษีในส่วนนี้เพิ่มอีก 1.5% เพื่อนำเข้าสู่สถานีวิทยุดังกล่าว และล่าสุดในรัฐบาลยุคนี้ได้จัดการตั้งกองทุนกีฬาขึ้นมา พร้อมผ่านกฎหมายเพิ่มค่าเก็บภาษีไปอีก 2% เพื่อสนับสนุนทุนกีฬาอีกด้วย
ภาษีเพิ่มพูน ลดจำนวนสิงห์อมควัน จริงหรือ?
เห็นได้ว่า เมื่อปี 2524 ภาษีบุหรี่ได้มีการปรับขึ้นไปอีกหลายเท่า ซึ่งเป็นผลมาจากช่วงเริ่มต้นการรณรงค์ควบคุมการบริโภคยาสูบในไทย ในปี 2525 บุหรี่มีราคาเฉลี่ยจากซองละ 7 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 10 บาท และเป็น 12 บาท ภายในเวลา 2 ปี และผลที่ได้คือยอดจำหน่ายบุหรี่ลดลงจาก 1,493 ล้านซอง เป็น 1,037 ล้านซอง แสดงให้เห็นถึงอัตราคนสูบบุหรี่ที่ลดลง
ต่อมา ระหว่างปี 2526-2529 ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยตกต่ำอย่างหนัก ยอดขายบุหรี่ก็โดนผลกระทบไปไม่น้อยเช่นกัน แต่หลังจากที่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว นับตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา ยอดจำหน่ายบุหรี่ก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นตาม ถึงแม้ในปี 2533 จะมีการปรับราคาบุหรี่ เพิ่มขึ้นเป็นซองละ 13 บาท
ขณะที่ ในปี 2534 จำนวนผู้สูบบุหรี่เอง ก็มีค่าเฉลี่ยการสูบต่อวันเพิ่มขึ้น เป็นวันละ 12 มวน จากเดิมวันละ 10 มวน และมีจำนวนร้อยละ 60 สูบ ที่สูบต่ำกว่าวันละ 10 มวนต่อวัน
ระยะหลัง ยอดจำหน่ายบุหรี่ที่ผลิตโดยโรงงานยาสูบ มีอัตราการเติบโตที่ลดลง ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลขึ้นภาษี เมื่อช่วงปลายปี 2536 จนถึงกลางปี 2537 ประกอบกับ บุหรี่ต่างประเทศได้เข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดไปอีกส่วนหนึ่ง ทำให้โรงงานยาสูบเริ่มหันไปจับตลาดบุหรี่ต่างประเทศ เพื่อรองรับบุหรี่ไทยในยุโรปตะวันออกและประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น
ปรับภาษีบุหรี่ จากเดิมคิดที่ 87% ก็ขึ้นเต็มเพดานที่ 90%
กระทั่ง ในวันที่ 9 ก.พ.2559 ได้มีการประกาศใช้ กฎกระทรวง กําหนดอัตราค่าแสตมป์ยาสูบ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในช่องรายการและช่องอัตราภาษีของ (1) ในรายการ 2 ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าแสตมป์ยาสูบ พ.ศ. 2555 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"(1) บุหรี่ซิกาแรต 90 หนึ่งกรัม เศษของหนึ่งกรัมให้นับเป็นหนึ่งกรัม 1.10"
ข้อ 2 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
พร้อมทั้งได้มีการปรับภาษีทั้งสองขา คือ ในส่วนการคิดภาษีจากราคา จากเดิมคิดที่ 87% ก็ขึ้นเต็มเพดานที่ 90% และการคิดภาษีในส่วนปริมาณ จากเดิมเก็บ 1 บาทต่อกรัม ขึ้นเป็น 1.1 บาทต่อกรัม ซึ่งจะส่งผลให้บุหรี่ที่ขายในประเทศปรับขึ้นราคาอีก 5-10 บาทต่อซอง เช่น บุหรี่กรองทิพย์ปัจจุบันขายอยู่ 60 บาทต่อซอง และการปรับครั้งนี้มีผลให้ราคาขายปลีกปรับขึ้นอีก 10 บาทต่อซอง หรือราคาจะอยู่ที่ 70 บาทต่อซอง ส่วนบุหรี่ที่นำเข้าจากจีน ที่มีราคาขาย 20-30 บาทต่อซอง จะปรับขึ้นประมาณ 5-10 บาท
นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยกับ "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" ด้วยว่า หลักการขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่นั้น เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการให้ผู้บริโภคลดจำนวนการสูบลง โดยเฉพาะจำนวนผู้สูบหน้าใหม่ ส่วนรายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นผลพลอยได้ คาดว่า จะได้รายได้จากการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ประมาณ 1.2 หมื่นล้าน ถึง 1.5 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แม้การขึ้นภาษีบุหรี่ในครั้งนี้ จะสร้างรายได้ให้กรมสรรพสามิตถึงหมื่นกว่าล้านบาท แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า? รัฐบาลต้องจ่ายปีละกว่าแสนล้านบาท สำหรับค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มีต้นเหตุมาจากบุหรี่ ซึ่งไม่ว่าจะคิดมุมไหน ก็ดูเป็นตัวเลขที่ก็หาคำว่า "คุ้มค่า" ไม่เจอ
ฉะนั้นแล้ว ยิ่งทำให้คนเลิกสูบบุหรี่ หรือสูบน้อยลงได้มากเท่าไร ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ส่งผลดีต่อสุภาพคนไทย ช่วยลดความสูญเสียจากภัยของบุหรี่มากขึ้นเท่านั้น.
สรรพสามิต ไม่พบกักตุนบุหรี่ ผู้ค้า โอด ศก.ไม่ดี แย่หนักปรับขึ้นราคา
สรรพสามิต ยันไม่พบกักตุนบุหรี่ ก่อนปรับขึ้นภาษี ประสาน ตร.-ทหาร เข้มแนวชายแดน ป้องกันบุหรี่เถื่อนทะลัก คาดเก็บรายได้เพิ่มอีกหมื่นล้าน ขณะที่สมาคมการค้ายาสูบฯ โอด ทำโชว์ห่วย เดี้ยงหนัก ในภาวะ ศก.ไม่ดี สิงห์นักสูบหันพึ่งของเถื่อนที่ถูกกว่า...
นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวถึงการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ทั้งราคาและปริมาณ มีผลตั้งแต่วันนี้ (10 ก.พ.) ว่า การปรับขึ้นภาษีดังกล่าว ยังไม่พบสัญญาณการกักตุนบุหรี่ ซึ่งวัดจากข้อมูลช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาที่มีการสั่งซื้อแสตมป์เป็นไปอย่างปกติ
นอกจากนี้ ยังได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ลงพื้นที่ตรวจสอบตามชายแดนอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันบุหรี่เถื่อนหนีภาษีเข้ามาขายในประเทศ เนื่องจากเป็นบุหรี่ที่ผิดกฎหมายและไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ประเมินว่าการปรับขึ้นอัตราภาษีบุหรี่ จะทำให้การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต เพิ่มขึ้น 1 หมื่นล้านบาท จากปีงบประมาณ 2558 สามารถจัดเก็บภาษีบุหรี่ได้ราว 6 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไม่ดีอยู่แล้ว เมื่อมีการปรับขึ้นอัตราภาษีบุหรี่ ทำให้บรรดาโชว์ห่วย 1,300 ราย ซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมฯ รับผลกระทบ และยังส่งผลให้คนไปซื้อบุหรี่เถื่อน ซึ่งปกติก็มีอยู่แล้ว อีกทั้งในความเป็นจริงคนจะสูบก็จะสูบ ในเมื่อของที่เคยซื้อ 100 บาท เมื่อมีการขึ้นราคาก็จะพยายามควานหาของที่ถูกกว่า
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ครม.(9 ก.พ.) ได้มีมติอนุมัติการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ทั้งฝั่งราคาและปริมาณ โดยฝั่งของราคาได้ปรับขึ้นจาก 87% เป็น 90% ของราคา CIF (ราคานำเข้า) หรือเต็มเพดาน ส่วนฝั่งปริมาณได้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 1 บาท/กรัม เป็น 1.1 บาท/กรัม มีผลตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ.59 เป็นต้นไป ส่งผลให้บุหรี่ที่ขายในประเทศปรับขึ้นราคาอีก 5 - 10 บาทต่อซอง เช่น บุหรี่กรองทิพย์ปัจจุบันขายอยู่ 60 บาทต่อซอง ราคาจะปรับขึ้นอยู่ที่ 70 บาทต่อซอง ส่วนบุหรี่นำเข้าจากจีน ราคาขาย 20 - 30 บาทต่อซอง จะปรับขึ้นประมาณ 5-10 บาท
ที่มา : www.thairath.co.th วันที่ 14 Feb 2016 - 15:12