WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

10อตสาหกรรมเปาหมาย

10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย : กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต

    คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบในหลักการสำหรับข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรมในเรื่อง “10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย: กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต” เพื่อเป็นมาตรการระยะยาวที่จะกำหนดทิศทาง “การปรับโครงสร้างด้านการผลิต ทั้งเกษตร-อุตสาหกรรม-บริการ” ของประเทศให้มีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน มีการสร้างงานคุณภาพ และมีการสนับสนุนเศรษฐกิจภูมิภาคอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และยั่งยืน

     ข้อเสนอ “10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย: กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต” ได้ผ่านการพิจารณาร่วมกันใน “คณะทำงานส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน” ที่จัดตั้งโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งกรรมการประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานอื่น รวม 15 หน่วยงาน ทั้งนี้ คณะทำงานฯ มีหน้าที่ที่จะวิเคราะห์สถานภาพและศักยภาพของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะมีบทบาทต่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคต พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านั้น

      ข้อเสนอดังกล่าวได้เสนอผ่านความเห็นชอบของ รมว.กระทรวงการคลัง (คุณอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์) รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม (คุณอรรชกา สีบุญเรือง) รองนายกรัฐมนตรี (คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) และนายกรัฐมนตรี (พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา) และนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. โดยได้มีมติเห็นชอบในหลักการ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการต่อไป

สาเหตุ: เศรษฐกิจอ่อนแอเพราะการลงทุนน้อยมาก จึงต้องมีอุตสาหกรรมเป้าหมาย

เหตุผลสำคัญที่ต้องใช้อุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางการปรับโครงสร้างเพราะ

1) ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การแข่งขันในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้นมาก แต่ประเทศไทยปรับตัวช้า ทำให้เรามีการเจริญเติบโตเป็นไปในลักษณะถดถอย ขณะที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียได้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จาก

• อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยต่ำที่สุดในอาเซียนใน 2 ปีติดกัน (2556-57) และกำลังแย่งอันดับต่ำสุดกับสิงคโปร์ในปีนี้

• มูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวลดลงจากร้อยละ 14 ต่อปี ในช่วงปี 2541-2550 เหลือเพียงร้อยละ 5 ต่อปีในช่วงปี 2551-2557 และคาดว่าจะหดตัวประมาณร้อยละ 5 ในปี 2558

2) ความถดถอยนี้มีสาเหตุสำคัญมาจาก ประเทศไทยขาดความมุ่งมั่นอย่างจริงจังและต่อเนื่องที่จะเร่งลงทุน ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขันกลายเป็นปัญหาหลักในโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย

• เมื่อก่อน ประเทศไทยขยายการลงทุนประมาณร้อยละ 9-10 ต่อปี ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 5 หรือมากกว่า

• แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราขยายการลงทุนเพียงร้อยละ 2 ต่อปี จึงไม่น่าแปลกใจว่าเศรษฐกิจขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2 ในช่วงดังกล่าว เอกชนไทยขยายการลงทุนเพียงร้อยละ 3 จากร้อยละ 14 ต่อปีที่เคยทำมา

3) การลงทุนของไทย ในระยะหลังมีลักษณะต่างคนต่างทำ กระจัดกระจายทั่วไป ไม่ได้มีจัดเน้นให้เกิดพลังเหมือนสมัยทำเขตเศรษฐกิจพิเศษชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เมื่อ 32 ปีที่แล้ว

เราต้องผลักดันการลงทุนให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปีเหมือนในอดีต จึงจะเพียงพอที่จะขยายตัวเต็มศักยภาพ และมีความสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้อีกครั้งหนึ่ง

10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพที่จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engine) ของประเทศ เสนอต่อกระทรวงอุตสาหกรรม และสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจากที่เป็นอยู่ให้สูงขึ้น รวมทั้งมั่นใจว่า 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านี้เป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก

ทั้งนี้ 10 อุตสาหกรรม สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มดังนี้

1. การต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิม ประกอบด้วย

1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-generation Automotive)

2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics)

3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism)

4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology)

5) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future)

กลุ่มนี้ เราเข้าใจดีกันอยู่แล้วว่ามีฐานที่แข็งแรง แต่ต้องต่อยอดการลงทุนในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้มีการวิจัยและพัฒนา เพื่อยกอุตสาหกรรมสู่ระดับนานาชาติ

2. การเติม 5 อุตสาหกรรมอนาคต ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน และมีผู้สนใจลงทุน ประกอบด้วย

1) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics)

• เพราะโลกมีความต้องการสูง เชื่อว่าจะใหญ่กว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ในอนาคต

• เรามีความต้องการใช้การเพิ่มประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ

• รวมทั้งเรามีฐานอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและไฟฟ้าดีมาก ซึ่งนักลงทุนทั่วโลกเห็นว่า

2) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)

• จำนวนเครื่องบินที่มากขึ้นต้องการการซ่อมแซม และมีการขนส่งทางอากาศมากมากขึ้น

• เรามีสนามบินอู่ตะเภา และสนามบินอื่นๆ ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างอุตสาหกรรมการบินได้

3) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals)

• เพราะโลกกำลังต้องการความยั่งยืน และทั่วโลกกำลังกำหนดมาตรฐานด้านชีวภาพเข้ากับการค้า คือถ้าการผลิตไม่หันมาใช้เคมีชีวภาพ เช่น ไบโอพลาสติก ในการหีบห่อ ก็อาจจะส่งออกไม่ได้

• เรามีฐานการเกษตรใหญ่ที่สุดในอาเซียน ถ้าเราไม่ลงทุน ประเทศอื่นก็จะลงทุน

4) อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital)

• ความต้องการสูงมาก และเป็นมาตรการฐานใหม่ในการดำรงชีพ โดยเฉพาะ อีคอมเมิร์ซ

• เอกชนไทยก็พร้อม ต่างชาติก็พร้อมจะมาลงทุนต่อยอดเทคโนโลยี

5) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)

• ในด้านการรักษาพยาบาล เรามีหมอ พยาบาล ที่เก่งมาก ทำได้ดีเป็นที่รู้จักทั่วโลก

• ต่อไปต้องเพิ่มการลงทุนในการผลิตยา อุปกรณ์การแพทย์ และระบบการรักษาพยาบาลระยะไกล เพราะมีผู้สูงอายุเยอะขึ้นทั่วเอเชีย คือต้องทำให้ครบวงจรการแพทย์

มาตรการสนับสนุนและเร่งรัดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ที่ผ่านมา ครม. ได้อนุมัติมาตรการส่งเสริมการลงทุนคลัสเตอร์ 6 คลัสเตอร์ซึ่งตรงกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย อันนี้ใช้ได้ และ ครม. ได้สั่งให้สำนักงานส่งเสริมการลงทุนจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้ครบทั้ง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายข้างต้นโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม จากผลการประมวลความเห็นของนักลงทุนและเจ้าของเทคโนโลยีรายสำคัญทั่วโลกกว่า 70 ราย ได้ข้อสรุปว่า

1. “การส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทยไม่เพียงพอ” ที่จะดึงดูดการลงทุนรายสำคัญๆ ที่มีผลที่ประเทศสูง ดังนั้น ในทางปฏิบัติจำเป็นต้องมี “การเจรจาต่อรองเฉพาะรายที่สำคัญ” และเป็นที่ต้องการโดยเฉพาะผู้ลงทุนที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี หรือเป็นบริษัทชั้นนำของโลกที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก

2. การเจรจาต้องสามารถ “ปรับ/เพิ่มสิทธิประโยชน์” ตามความสำคัญและผลประโยชน์ที่ได้จากโครงการลงทุนนั้นๆ

เช่น ถ้าสร้างฐานการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศได้มาก หรือความสามารถในการสร้างความรู้ให้กับภาคเกษตรที่เรายังไม่มาก่อน ก็ควรจะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มพิเศษ

ดังนั้น ในการผลักดันการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายข้างต้น จำเป็น “ต้องมีมาตรการเสริม” นอกเหนือจากการส่งเสริมการลงทุนโดยปรกติ ดังนี้

1. ต้องมีแผนกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ชัดเจน

• ให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นแม่งาน ในการจัดทำแผนปฏิบัติการของของอุตสาหกรรมเป้าหมายแต่ละอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการสร้างตลาดภายในประเทศ เช่น ต้องการส่งเสริมการใช้ไบโอพลาสติกในประเทศ การปรับใช้หุ่นยนต์ในสายการผลิตอุตสาหกรรม เป็นต้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนถึงความมุ่งมั่นของประเทศในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านั้น

2. ต้องมีมาตรการการเงินเสริม

• ให้จัดตั้ง “กองทุนพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม” เพื่อทำหน้าที่ให้เงินสนับสนุน ให้เงินกู้ยืมหรือชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ หรือให้เป็นทุนสำหรับโครงการการลงทุนพิเศษที่เป็นที่ต้องการอย่างสูงที่สามารถทำให้อุตสาหกรรมเป้าหมายนั้นๆ ทั้งนี้ ให้กองทุนฯ จัดตั้งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม

• ในการใช้เงิน ให้มี “คณะอนุกรรมการเร่งรัดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย” จัดตั้งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำหน้าที่ “คัดเลือก-ชี้ชวน-เจรจา” ผู้ลงทุนรายสำคัญ บริษัทเจ้าของเทคโนโลยี ก่อนนำเข้าสู่คณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษระดับชาติ (นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) เพื่ออนุมัติ

3. ต้องมีมาตรการการคลังเสริม

กระทรวงการคลัง รับไปดำเนินการในหลายเรื่อง ที่สำคัญ ได้แก่

• เพิ่มสิทธิประโยชน์พิเศษยกเว้นอัตราภาษีนิติบุคคลเป็นเวลา 10-15 ปี สำหรับโครงการที่มีความสำคัญสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมาย จากสูงสุด 8 ปี ตามการส่งเสริมการลงทุนทั่วไป

• เพิ่มสิทธิประโยชน์พิเศษยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

– สำหรับผู้เชี่ยวชาญอยู่ในระดับไม่เกิน 15% อัตราภาษีรายได้บุคคลธรรมดาของผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับนานาชาติ และ

– ไม่เกิน 15% สำหรับผู้เชี่ยวชาญระดับสูง และผู้บริหารระดับสูงที่จำเป็นในโครงการลงทุน และสามารถสร้างประโยชน์ให้ประเทศ

• ให้เร่งแก้ไขโครงสร้างอากรขาเข้าชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตหรือให้บริการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในกรณีอัตราอากรของชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์สูงกว่าผลิตภัณฑ์

• ให้ยกเว้นอากรขาเข้าของที่นำเข้ามาเพื่อทำการวิจัย พัฒนาหรือทดสอบ

4. มีมาตรการอำนวยความสะดวกเสริม

กระทรวงอุตสาหกรรมจะประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ เร่งรัดเรื่องการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่

• ให้สิทธิประโยชน์การเข้าออก และการทำงานของผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากต่างประเทศเทียบเท่าคนไทย ครั้งละ 5 ปี ตลอดช่วงอายุการส่งเสริมการลงทุน

• ให้มีการถือหุ้นสำหรับนักลงทุนต่างชาติ 100% ในระยะเริ่มต้น หรือกรณีที่เป็นการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร ซึ่งนักลงทุนไทยไม่มีความเชี่ยวชาญ

• ให้สิทธิประโยชน์พิเศษให้ผู้ลงทุนต่างชาติการถือครองที่ดิน 99 ปี

เขตเศรษฐกิจพิเศษและอุตสาหกรรมเป้าหมาย

รัฐบาลต้องการให้ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งครอบคลุม เกษตร-อุตสาหกรรม-บริการ เป็นพลังในการผลักดันเศรษฐกิจสู่อนาคตที่ดีขึ้น เพื่อให้ประเทศมีรายได้สูงขึ้น ชาวบ้านมีรายได้สูงขึ้น มีงานที่มีคุณภาพรองรับเด็กจบใหม่ และที่สำคัญคือ ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันขึ้น การขยายตัวของเศรษฐกิจสูงขึ้น โดยมีสมดุลทั้งเศรษฐกิจภายในประเทศและการส่งออก

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมาย อยู่ที่ความต่อเนื่องของนโยบายและการปฏิบัติ การให้ความสะดวกแก่นักลงทุน และมีการคุ้มครองการลงทุนที่ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ลงทุน ซึ่งโครงสร้างการกำกับดูแลและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยในการผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น ครม. เห็นชอบในหลักการดังนี้

1) คณะกรรมการเร่งรัดการลงทุนคลัสเตอร์เป้าหมาย

• ให้มี “คณะกรรมการเร่งรัดการลงทุนคลัสเตอร์เป้าหมาย” ทำหน้าที่กำหนดแผนอุตสาหกรรม เร่งรัดการแก้ไขอุปสรรคนอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ทั่วไปภายใต้การส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์พิเศษนอกเหนือจากการส่งเสริมการลงทุนทั่วไป เพื่อให้เกิดการลงทุนตามเป้าหมาย

2) กองทุนพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

• ให้มี “กองทุนพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม” เพื่อสนับสนุนโครงการลงทุนรายสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมเป้าหมายนั้นๆ ก้าวเข้าสู่ระดับนานาชาติ โดยมีเงินสนับสนุน (Grant) มีเงินกู้ยืม (Loan) หรือมีเงินชดเชยดอกเบี้ย หรือให้เป็นทุนสำหรับผู้ขอส่งเสริมการลงทุนที่เป็นที่ต้องการอย่างสูงและสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดย

– ให้กองทุนนี้จัดตั้งขึ้นภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม

– ให้มี “คณะอนุกรรมการเร่งรัดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย” (ภายใต้ พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่จะมีการจัดตั้งขึ้น) ให้ทำหน้าที่ “คัดเลือก-เจรจา” โครงการลงทุนรายสำคัญของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามเจตนารมณ์ของกองทุน และเสนอให้ คณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งชาติ (นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) พิจารณาอนุมัติ

3) คณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษ

• ให้เร่งรัดการจัดตั้ง พ.ร.บ. “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” หรือ “เขตเศรษฐกิจการลงทุนพิเศษ” เพื่อให้มีการกำหนดพื้นที่ใดๆ ที่มีความได้เปรียบจากการลงทุนของหลายคลัสเตอร์ที่เชื่อมโยงกัน เพื่อให้มีเป้าหมายการพัฒนาในเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (เช่น ท่าเรือ สนามบิน รถไฟ โรงเรียน มหาวิทยาลัย) ควบคู่กับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ควรมีกลไกการกำกับดูแลดังนี้

o คณะกรรมการระดับชาติ (นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) ทำหน้าที่อนุมัติแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ อนุมัติงบประมาณ และประสานงานเชิงนโยบายภายในและระหว่างประเทศ

o คณะอนุกรรมการเร่งรัดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ

– มีองค์ประกอบสำคัญคือ มีรองนายกรัฐมนตรี (เป็นประธาน) มีกรรมการประกอบด้วย รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม รมว.กระทรวงการคลัง และเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการลงทุน และผู้แทนจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

– มีหน้าที่ “คัดเลือก-เจรจา” ผู้ลงทุนรายสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมเป้าหมายเกิดขึ้นได้ และ ก้าวหน้าสู่ระดับนานาชาติได้ โดยใช้กลไกของ “กองทุนพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่เพิ่มเติมขึ้นนอกเหนือสิทธิประโยชน์การลงทุนภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน

– มีหน้าที่เสนอผลการเจรจาให้กับคณะกรรมการระดับชาติ (นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) เพื่อการพิจารณาอนุมัติต่อไป

– มีคณะอนุกรรมการอื่นๆ ตามความจำเป็น

• สำนักงานบริหารเขตเศรษฐกิจการลงทุนพิเศษ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการให้บริการแบบครอบคลุมเบ็ดเสร็จ (End-to-End) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน

สรุป

5+5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้ถูกวางไว้เป็นกลไกหลัก ของการปรับโครงสร้าง ภาคการผลิต ทั้งเกษตร-อุตสาหกรรม-บริการให้ ก้าวไปข้างหน้า โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมกิจกรรมเพื่อเพิ่มการลงทุนของประเทศ และสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะ 10 ปีข้างหน้า

การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เมื่อรวมกับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ นอกจากจะเป็นกลไกในการสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจแล้ว ยังจะมีส่วนในการกระจายความเจริญไปอยู่พื้นที่ที่เหมาะสมอย่างเป็นระบบ ภายหลังจากที่ประเทศไทยมีโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกมา 32 ปี ประเทศต่างๆ ได้นำแนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษไปปรับปรุงและขยายผลจนประสบความสำเร็จ ในขณะที่ประเทศไทยไม่มีโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีพลังเช่นนั้นอีกเลย การควบรวมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายเข้ากับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจึงเป็นการย้อนอดีตให้สร้างความสำเร็จให้กับอนาคต

ที่มา : Thaipublica

โดย ดร.คณิศ แสงสุพรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!