WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

   2.5 3.2

เศรษฐกิจโลก ปี 58 มีแนวโน้มขยายตัวลดลงเหลือร้อยละ 3.1 ส่วนปีหน้าคาดว่าจะโตร้อยละ 3.6 ด้านเศรษฐกิจไทยปี 58 ขยายตัวได้จากแรงขับเคลื่อนของภาครัฐและการท่องเที่ยว ปรับตัวดีขึ้นจากปีที่แล้ว คาดโตร้อยละ 2.5-3.2

      กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมิน (ณ ต.ค. 58) ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้ จะขยายตัวร้อยละ 3.1 ชะลอตัวลงจากปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 และต่ำกว่าร้อยละ 3.3 จากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ (ก.ค.58) โดยเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่และกำลังพัฒนาจะขยายตัวลดลง โดยเฉพาะจีน ในขณะที่เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความเสี่ยงของความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุน อย่างไรก็ตาม IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2559 จะเติบโตที่ร้อยละ 3.6

       ในปีนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในช่วงวัฏจักรขาขึ้น จากการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง อันเป็นผลจากการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้นมาก โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะยังคงนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้  ซึ่ง IMF คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวร้อยละ 2.6 ในปี 2558 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.4 ในปี 2557  

     ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปปรับตัวดีขึ้นเช่นกันในทุกภาคส่วน จากการขยายตัวของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น อิตาลีและสเปน  โดยมีความเสี่ยงจากกรีซลดลง ทั้งนี้ปัจจัยที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของยูโรโซนคือราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ มาตรการ QE ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) (Asset Purchase Programme: APP) ที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องของสินเชื่อในภาคธุรกิจและครัวเรือน รวมทั้งทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่า ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกของยูโรโซนปรับตัวดีขึ้น

     ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่น ยังคงขยายตัวช้า แต่มีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งเป็นผลจากค่าจ้างที่แท้จริงได้ปรับสูงขึ้นและเงินเยนอ่อนค่าลง รวมถึงจากการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลด้วยมาตรการ QE จากธนาคารกลางญี่ปุ่น (Quantitative and Qualitative Monetary Easing: QQE) การเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐและการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างด้านแรงงาน ส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งนโยบายเหล่านี้จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมากขึ้นต่อจากนี้ ทั้งนี้ IMF คาดว่า ปีนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวดีขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 0.1 ในปี 2557 ที่ผ่านมา 

      สำหรับเศรษฐกิจจีนนั้น ชะลอความร้อนแรงลงอย่างต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยขยายตัวร้อยละ 7.0 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 เป็นผลจากการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนที่ต้องการชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ดี เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวลงมาก รัฐบาลจีนจึงออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายลงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 7 ในปีนี้ 

      อย่างไรก็ตาม ความผันผวนอย่างรุนแรงของตลาดเงินและตลาดทุนจีนในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้  ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดในภูมิภาคเอเชีย โดย IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของจีนในปีนี้จะเติบโตที่ร้อยละ 6.8 ลดลงจากปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.3 ในขณะที่เศรษฐกิจอาเซียน (10 ประเทศ) โดยรวมจะชะลอตัวลงจากปี 2557 ที่ผ่านมา ยกเว้น ไทย ลาว และ เวียดนาม ที่ขยายตัวดีขึ้น และคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นทุกประเทศในปี 2559 ยกเว้นมาเลเซีย

       ทางด้านเศรษฐกิจไทยปี 2558 จะยังคงขยายตัวช้า เพราะขาดแรงขับเคลื่อนสำคัญ มีเพียงการใช้จ่ายของภาครัฐและการท่องเที่ยวเท่านั้น ขณะที่ความต้องการอื่นๆ โดยเฉพาะการส่งออกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในระยะ 2 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรวม 4 กลุ่มมาตรการ ในวงเงินรวมมากกว่า 312.3 พันล้านบาท (ร้อยละ 2 ของ GDP)  ได้แก่ (1) มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อยและมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ (2) มาตรการการเงินการคลังเพื่อช่วยเหลือ SMEs (3) นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ และ (4) มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในระดับล่างที่กระจายตัวอยู่ทั่วไป

      นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้รวบรวมและเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ผ่านการลงทุนระบบขนส่งของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงไปทั้งสิ้น 2.0 ล้านล้านบาท (ประมาณร้อยละ 15 ของ GDP) และคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนรวมของประเทศให้ขยายตัว ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สถาบันต่างๆ ในไทยและต่างประเทศ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 2.5-3.2 และร้อยละ 3.2-3.7 ในปีหน้า


โดย CP Group /สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน เครือเจริญโภคภัณฑ์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!