- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Friday, 01 January 2016 14:03
- Hits: 3682
'สมาคมเกษตรกร' พัฒนาภาคการเกษตรไทยสู่เวทีโลกอย่างยั่งยืน ยึดไต้หวันโมเดลเป็นต้นแบบการจัดการสินค้าเกษตรอย่างเป็นระบบ ยกระดับเกษตรครัวเรือน สร้างอนาคตเกษตรกรไทยเข้มแข็ง
ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรติดอันดับโลก แต่ปัจจุบันระบบการจัดการด้านการเกษตรของไทยมีปัญหา เกษตรกรไทยยากจน ในขณะที่ไต้หวันซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กกว่าไทยถึง 14 เท่ากลับได้ชื่อว่าเป็นประเทศต้นแบบและผู้นำเทคโนโลยีการเกษตรอันดับต้นของโลก เกษตรกรมีรายได้ดี ทั้งนี้เนื่องจากไต้หวันมีระบบการบริหารจัดการด้านการเกษตรที่ดี ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไต้หวันประสบความสำเร็จในด้านการเกษตรก็คือ การพัฒนาสมาคมเกษตรกร หรือ Farmers’s associations ซึ่งภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และถือเป็นองค์กรในชนบทที่สำคัญที่สุด ด้วยเหตุนี้ทำให้ไต้หวันไม่มีปัญหาเรื่องสินค้าเกษตรล้นตลาด เกษตรกรเข้มแข็ง มีรายได้มั่นคง มีความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งประเทศไทยควรนำมามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาภาคเกษตรกรไทย เพราะเป็นโมเดลต้นแบบที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร สร้างรายได้ให้เกษตรกรไทยอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
จากการศึกษาการพัฒนาภาคเกษตรของไต้หวันในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ไต้หวันให้ความสำคัญต่อการพัฒนาภาคการเกษตรตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงการปฏิบัติ โดยมีการวางแผนอย่างครบวงจร ทำให้เกิดการบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการภาคเกษตรกรรมที่เชื่อมโยงตั้งแต่ในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศในรูปแบบสมาคมเกษตรกร ซึ่งเป็นลักษณะรวมกลุ่มของเกษตรกรคล้ายสหกรณ์ในประเทศไทย แต่ภาระหน้าที่ต่างกัน ทั้งนี้เพราะสหกรณ์ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเน้นการให้สินเชื่อเป็นหลักมากกว่าการดูแลเกษตรกรอย่างครบวงจร
ในขณะที่ Farmers’s associations ของไต้หวันเป็นสมาคมเกษตรกรองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร (Non-benefit organization) รับนโยบายโดยตรงจากรัฐบาลแต่มีการบริหารจัดการเหมือนเอกชน จ้างผู้บริหารมืออาชีพมาบริหาร ดูแลสินค้าเกษตรอย่างเป็นระบบครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบชลประทาน เงินทุน การให้สินเชื่อ การหาปัจจัยการผลิต จัดหาเทคโนโลยีใหม่ให้กับเกษตรกร รวมถึงการประกันราคาพืชผล การกระจายสินค้าเกษตร การให้บริการข้อมูลข่าวสาร และจัดหางานในภาคอุตสาหกรรมให้แก่เกษตรกรในช่วงนอกฤดูกาลเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ และเรียนรู้ภาคอุตสาหกรรม จนสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาผลผลิตของตนเองให้มีมูลค่าสูงขึ้น และที่มากกว่านั้นยังมีการจูงใจให้คนรุ่นใหม่สนใจเข้ามาทำงานในธุรกิจเกษตร
รัฐบาลไต้หวันมองถึงความต้องการของตลาด และมีความเข้าใจธรรมชาติของภาคเกษตรกรรมในแต่ละช่วงเวลา จึงได้มีการวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในระดับอุตสาหกรรม เช่น เมื่อมีการเปิดเสรีทางการค้า สินค้าเกษตรบางชนิดแข่งขันในตลาดโลกสูง รัฐบาลจะมีนโยบายให้ลดการปลูกพืชเกษตรชนิดนั้นและให้เงินชดเชย พร้อมส่งเสริมให้ปลูกพืชทางเลือกอื่นแทน แนวทางนี้หากนำมาใช้กับประเทศไทยก็จะช่วยเกษตรกรได้มาก เศรษฐกิจและสังคมไทยก็จะดีตามไปด้วย
โดย CP Group /นายมนตรี คงตระกูลเทียน รองประธานกรรมการ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ / คณบดีคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์