- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Friday, 01 January 2016 13:59
- Hits: 3430
กุญแจสู่ความยั่งยืนของธุรกิจในประชาคมอาเซียนตามแบบฉบับ CPF
จากวิสัยทัศน์อันยาวไกลของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) ที่ต้องการเห็นธุรกิจในเครือซีพี (CP Group) สามารถเติบโตเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลก โดยการเข้าไปลงทุนในประเทศต่างๆ ตลอดระยะเวลากว่า 94 ปีที่ผ่านมา และได้ยึดหลักปรัชญาการดำเนินธุรกิจแบบ '3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน' ด้วยการลงทุนและขยายธุรกิจที่คำนึงถึง 1) ประโยชน์ที่จะเกิดต่อประเทศชาติที่บริษัทเข้าไปลงทุน 2) เกิดประโยชน์ต่อประชาชนของประเทศนั้นๆ รวมทั้งประเทศไทย และ 3) เกิดประโยชน์ต่อบริษัทในลำดับสุดท้าย ซึ่งเป็นปรัชญาที่สร้างการเติบโตที่ครอบคลุมมิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสังคม และมิติด้านด้านความยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เป็นองค์กรหนึ่งในเครือซีพี และดำเนินธุรกิจตามปรัชญา 3 ประโยชน์ของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ข้างต้นด้วยการกำหนดโมเดลการผลิตอาหารครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ (อาหารสัตว์) กลางน้ำ (การเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม) และที่ปลายน้ำ (การแปรรูปอาหาร รวมทั้งการขายและการขนส่ง) โดยเน้นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ประชากรโลก สร้างงานและอาชีพให้กับประชาชนของทุกประเทศที่ไปลงทุน โดย Forbe ได้จัดให้ CPF เป็นบริษัทอันดับที่ 1,454 ใน Forbe 2000 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วย Market Cap จำนวน $US 5.4 พันล้าน ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของ CPF ที่ได้มาจากวิสัยทัศน์อันเลิศล้ำของผู้นำระดับสูง และได้รับความร่วมมือจากบุคลากรของบริษัทในทุกระดับเป็นอย่างดี ดังนั้น CPF จึงตระหนักถึงความสำคัญของบุคลากร และถ้ามองถึงความยั่งยืนของธุรกิจที่ต้องก้าวต่อไปในอนาคต จำเป็นอย่างที่ CPF ต้องสร้าง “คนรุ่นใหม่” ขึ้นเสริมกำลังอย่างต่อเนื่อง
ต้นน้ำของการสร้างคน
CPF จึงร่วมมือกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ PIM ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้สายงานธุรกิจซีพี ออลล์ (CP ALL) ในเครือซีพี ในการจัดตั้ง 'คณะอุตสาหกรรมเกษตร'ขึ้นเพื่อผลิตบุคลากรเข้าเสริมทัพของ CPF ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการผนึกกำลังความเป็นเลิศของสององค์กร คือ CPF ที่มีความชำนาญในสาขาเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารในระดับโลก และ PIM ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการศึกษาแบบ Corporate University เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ได้ร่วมกันสร้างคณะอุตสาหกรรมเกษตร ให้มีโครงสร้างการเรียนการสอนในมิติใหม่เพื่อผลิตบัณฑิต ให้เป็นทั้ง 'คนดี' และเป็น 'คนเก่ง' ที่มีความรู้ มีความสามารถ มีความเป็นผู้นำ และพร้อมที่จะร่วมขับเคลื่อน CPF ให้ก้าวไกลต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
คณะอุตสาหกรรมเกษตร PIM ได้รับการรับรองวิทยฐานะจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (สกอ.) ให้เปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2558 โดยมีนักศึกษารุ่นแรกเข้าศึกษาหลักสูตร 'การจัดการเทคโนโลยีฟาร์ม'จำนวน 50 คน เป็นหลักสูตรที่ได้รับการออกแบบให้ตอบสนองต่อธุรกิจของ CPF ที่กลางน้ำ (ด้านฟาร์มเลี้ยงสัตว์) ของบริษัท ดำเนินการสอนโดยคณาจารย์มืออาชีพและผู้ชำนาญการในด้านต่างๆ จาก CPF โดยนักศึกษาเรียนทฤษฎีในห้องเรียน 45% และเข้าฝึกปฏิบัติงานภาคสนามในสถานที่ทำงานจริงๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ การจัดการเทคโนโลยีฟาร์ม และการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่ฟาร์มไก่และฟาร์มหมูของ CPF อีก 55% เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของ PIM คือ สร้างบัณฑิตมืออาชีพด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง (Creating Professionals through Work-Based Education) โดยทั้ง CPF และ PIM คาดหวังว่า บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาแล้ว จะสามารถปฏิบัติงานจริงได้ทันที และในขณะที่นักศึกษารุ่นแรกของคณะอุตสาหกรรมเกษตร PIM กำลังศึกษาเล่าเรียนในหลักสูตรแรก “การจัดการเทคโนโลยีฟาร์ม” อย่างมีประสิทธิภาพอยู่ในขณะนี้ คณะฯ ได้เตรียมความพร้อมที่จะเปิดสอนหลักสูตรที่สองคือ “การจัดการเทคโนโลยีแปรรูปอาหาร” ในปี 2559 ต่อไป ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ตอบสนองต่อธุรกิจที่ปลายน้ำ (ด้านแปรรูปอาหาร) ของบริษัท เชื่อมโยงกับหลักสูตรแรก โดยการนำผลผลิตเนื้อสัตว์จากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของหลักสูตรแรก มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารในหลักสูตรที่สอง
ธุรกิจของ CPF มีการเติบโต 10%-15% ทุกปีอย่างต่อเนื่อง และมีการขยายธุรกิจไปยัง 14 ประเทศทั่วโลกโดยมีศูนย์กลางอยู่ในประเทศไทยนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างบุคลากรชั้นเลิศให้กับทุกประเทศ ดังนั้น คณะอุตสาหกรรมเกษตร PIM จึงวางแผนเปิดหลักสูตร 'การจัดการเทคโนโลยีฟาร์ม' และหลักสูตร'การจัดการเทคโนโลยีแปรรูปอาหาร' เป็นภาษาอังกฤษทั้งสองหลักสูตร โดยมีแผนรับนักเรียนเทียบเท่าชั้นมัธยม 6 สายวิทยาศาสตร์จาก 14 ประเทศ ส่งเข้ามาเรียนในประเทศไทย แล้วส่งบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษากลับไปปฏิบัติงานใน Operation ของ CPF ในประเทศนั้นๆ เพื่อสร้างการเจริญเติบโตของธุรกิจในแต่ละประเทศทั่วโลกให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับประเทศไทย และร่วมกันก้าวไปสู่วิสัยทัศน์'ครัวของโลก' ต่อไป
ความยั่งยืนของธุรกิจ CPF ในอาเซียน
การลงทุนของ CPF ในต่างประเทศนั้น หากพิจารณาในมิติเศรษฐศาสตร์แล้ว CPF เป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์อันดับ 1 ของโลก เป็นผู้นำอันดับ 2 ของโลกด้านธุรกิจสุกร เป็นผู้นำอันดับ 5 ของโลกด้านธุรกิจไก่เนื้อ และ CPF ส่งออกกุ้งเป็นอันดับ 1 ของโลก ทำให้สามารถกล่าวได้ว่า CPF เป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจรที่สามารถแข่งขันในระดับเวทีโลกได้ และหากพิจารณาในมิติทางสังคมแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่ CPF วางจำหน่ายไปมากกว่า 40 ประเทศใน 5 ทวีปทั่วโลก เป็นการสร้างอาหารให้กับมวลมนุษยชาติ ซึ่งอาหารเป็นหนึ่งใน 4 ปัจจัยสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ และเพื่อให้เกิดการดำเนินการอย่างเป็นระบบเกิดขึ้น CPF จึงกำหนดนโยบายการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึง “ความมั่นคงอาหาร” (Food Security), สังคมพึ่งตน (Self Sufficient Society), และดินน้ำป่าคงอยู่ (Balance of Nature) ทำให้เกิดความสมดุลของมิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสังคมของประชากร 3,000 ล้านคนใน 14 ประเทศที่ CPF ไปลงทุน และมิติด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนในที่สุด
สำหรับ กระแสประชาคมอาเซียน (ASEAN) นั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับ CPF เพราะ CPF ได้เข้าไปลงทุนและดำเนินธุรกิจแล้วใน 6 ประเทศของอาเซียน เช่น CPF เข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนามกว่า 20 ปีโดยได้รับเชิญจากรัฐบาลเวียดนามให้ไปช่วยพัฒนาด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ซึ่ง CPF ได้นำโมเดลความสำเร็จของประเทศไทยเข้าไปปรับรูปแบบลงทุนแบบครบวงจรตั้งแต่ Feed-Farm-Food-Trade ให้ครอบคลุมธุรกิจอาหารสัตว์บกและอาหารสัตว์น้ำ ฟาร์มไก่เนื้อ ไก่ไข่ หมู กุ้ง ปลา และผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่า (Value-Chain) จนถึงร้านค้าปลีก เช่น ซุ้มไก่ย่างห้าดาว และร้านซีพีเฟรชมาร์ท ปัจจุบัน บริษัท “ซีพีเวียดนาม” ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ CPF ได้พัฒนาบริษัทจนเป็นผู้นำด้านธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารในประเทศเวียดนาม ได้สร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของประเทศเวียดนาม ได้สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนชาวเวียดนามโดยการสร้างงานและสร้างอาชีพที่มั่นคง ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจตามปรัชญา 3 ประโยชน์ดังกล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศเวียดนามและสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนเวียดนาม ทำให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
ส่วนประเทศอื่นๆ ในอาเซียน (ASEAN) ก็เช่นกัน CPF ได้ลงทุนและดำเนินธุรกิจในประเทศมาเลเซียแล้วเกือบ 30 ปี โดยใช้โมเดลธุรกิจสัตว์บกและธุรกิจสัตว์น้ำแบบครบวงจรในลักษณะเดียวกันกับประเทศไทยพร้อมทั้งใช้ปรัชญา 3 ประโยชน์ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเป็นโมเดลที่ CPF นำไปใช้ขยายธุรกิจในประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศลาว และประเทศกัมพูชา จน CPF ถูกจัดให้เป็นผู้นำด้านธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของกลุ่มประชาคมอาเซียนมาถึงทุกวันนี้
โดยสรุปแล้ว CPF ได้รับการยอมรับจากประเทศต่างๆ ให้เข้าไปลงทุนเกี่ยวกับเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร โดยกำหนดนโยบายอย่างชัดเจนเกี่ยวกับอาหารปลอดภัย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน เป็นฐานในการสร้างระบบอาหารที่มั่นคงให้กับชุมชนและสังคม มีการดำเนินการในทุกขั้นตอนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนำไปสู่การพัฒนาด้านอาหารยั่งยืน (Food Safety, Security, Sustainability) ส่งผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจของทุกประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economic Community) ให้เจริญเติบโตด้วยกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์แบบที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 นี้ นับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญและเป็นโอกาสที่ดีต่อทุกองค์กรทุกและภาคส่วนของประเทศไทย ซึ่งรวมถึง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ที่มีความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อระบบเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารกับประเทศต่างๆ ในอาเซียนทั้งหมด ทำให้เกิดความเชื่อมโยง (ASEAN Connectivity) ไปยังทุกประเทศ และร่วมกันยกระดับมาตรฐานสากลพร้อมทั้งขยายเครือข่ายไปทั่วโลก (Globalization) อย่างยั่งยืน
โดย นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)