WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1นกวจยมหดล

นักวิจัยมหิดลพร้อมกลุ่มวิจัยไบโอเทค และนักวิจัยจุฬาฯคว้าทุนนักวิจัยแกนนำ สวทช. ประจำปี 2558

    ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงานประกาศผลผู้ได้รับทุนนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2558 จำนวน 2 ทุน ให้แก่นักวิจัยจาก ม.มหิดลและกลุ่มวิจัยไบโอเทคที่ทำวิจัยด้านโรคไข้เลืดดออกที่เกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี่ และนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์ฯ ที่ทำวิจัยด้านวิศวกรรมนาโนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างของสารกึ่งตัวนำเพื่อพัฒนาตัวตรวจจับแสงอินฟาเรด ด้วยระยะเวลาทุน 5 ปี จำนวนทุนละ 20 ล้าน เพื่อเป็นแกนนำผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพให้กับวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย พร้อมเป็นแกนหลักผลิตบุคลากรวิจัยให้กับประเทศต่อไป

     ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า “ปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์มากยิ่งขึ้น การส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยเพื่อให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ใหม่โดยกลุ่มวิจัยที่มีความเป็นเลิศ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยโครงการทุนนักวิจัยแกนนำ นับเป็นกลไกหนึ่งที่ สวทช. เล็งเห็นว่าจะสามารถสร้างแรงจูงใจให้นักวิจัยที่มีความเป็นเลิศดังกล่าวสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์กับประเทศในหลายมิติ ทั้งในด้านสาธารณสุข เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ที่จะสามารถเกิดผลกระทบสูงในเชิงเศรษฐกิจและสังคมได้ พร้อมช่วยพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพให้กับประเทศด้วย”

    ด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ เลขานุการโครงการทุนวิจัยแกนนำ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการทุนวิจัยแกนนำ ว่า “โครงการทุนนักวิจัยแกนนำมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นักวิจัยที่มีคุณภาพสูง สร้างสรรค์งานโดยมีอิสระทางวิชาการพอสมควร และเป็นแกนนำให้กับวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมให้มีการผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพอันจะนำไปสู่การยื่นจดสิทธิบัตร การผลิตผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติ และต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพต่อการแก้ปัญหาให้กับภาคอุตสาหกรรมและภาคสังคม อีกทั้งเพื่อเป็นแกนหลักในการผลิตบุคลากรวิจัยสู่วงการวิชาการอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา สวทช. ได้สนับสนุนทุนนักวิจัยแกนนำตั้งแต่ปี 2552-2557 ไปแล้วทั้งสิ้น 11 โครงการ แต่ละโครงการมีผลการดำเนินงานที่ดีเยี่ยม สามารถผลิตผลงานที่มีคุณภาพในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 22 ต้นแบบ ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติมากกว่า 459 เรื่อง สิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร 23 เรื่อง การผลิตบุคลากรในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และหลังปริญญาเอก รวม 276 คน อีกทั้งยังมีการนำผลงานวิจัยไปเผยแพร่ใช้ประโยชน์ในเชิงสาธารณะแล้ว”

     “จากมติการพิจารณาของคณะกรรมการทุนนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2558 เห็นสมควรมอบทุนดังกล่าวแก่นักวิจัยแกนนำของประเทศ 2 ท่าน ได้แก่ นายแพทย์ปรีดา มาลาสิทธิ์ สังกัดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และกลุ่มวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. จากโครงการวิจัย เรื่อง “การวิจัยแบบบูรณาการเพื่อค้นหาชุดของสารบ่งชี้ทางชีวภาพชนิดใหม่ ที่นำไปสู่การประยุกต์ใช้กับการตรวจวินิจฉัย การพยากรณ์ความรุนแรงของโรค และการรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกอย่างมีประสิทธิภาพ” และท่านที่สอง คือ ศาตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ปัญญาแก้ว สังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากโครงการวิจัยเรื่อง “ควอนตัมนาโนกลุ่มแอนติโมนีสำหรับการพัฒนาการตรวจจับแสงอินฟราเรด”ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวประกาศผล

 

นายแพทย์ปรีดา มาลาสิทธิ์

     เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ และเชี่ยวชาญเรื่องโรคไข้เลือดออก ท่านได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี่มาเป็นเวลากว่า 30 ปี ภายใต้โครงการนี้ คณะผู้วิจัยจะสร้างองค์ความรู้ที่สำคัญในการเข้าใจกลไกการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ และการเกิดไข้เลือดออกที่มีความรุนแรงแตกต่างกัน นำไปสู่การพัฒนาชุดตรวจที่มีประสิทธิภาพในการวินิจฉัยโรค และทำนายความรุนแรงของโรค ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบว่ามีชุดตรวจวินิจฉัยใดที่สามารถทำนายความรุนแรงของโรคได้ โครงการวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ต่อแพทย์ และบุคลากรทางสาธารณสุข เพิ่มความตระหนักในวงการการแพทย์ในโรคไข้เลือดออก ช่วยเพิ่มศักยภาพ และขีดความสามารถในการดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออก ซึ่งจะส่งผลลดค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขของประเทศต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ปัญญาแก้ว

     เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ เป็นผู้เชี่ยวชาญและมีผลงานวิจัยโดดเด่นด้านการวิจัยเซลล์แสงอาทิตย์ และเป็นผู้ริเริ่มงานด้านนาโนอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย โดยได้ศึกษาถึงโครงสร้างควอนตัมดอต ซึ่งนำมาใช้ในสิ่งประดิษฐ์ที่มีสมรรถนะสูง ทำงานได้ด้วยความเร็วสูง แต่ใช้พลังงานน้อย ตามความต้องการของสิ่งประดิษฐ์ยุคใหม่ที่พลังงานมีราคาแพง เช่น ควอนตัมดอตโซล่าเซลล์ (Quantum Dot Solar Cells) โครงการที่ได้รับทุนนี้ ศ.ดร.สมศักดิ์ จะพัฒนาโครงสร้างควอนตัมนาโนของสารประกอบกึ่งตัวนำกลุ่มแอนติโมนี โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาตัวตรวจจับแสงอินฟราเรด เพื่อใช้ในการตรวจจับภาพในที่มืด ซึ่งมีประโยชน์ในงานด้านการทหาร การรักษาความมั่นคงของประเทศ การตรวจสอบทรัพยากรธรรมชาติจากอากาศยาน งานด้านอุตสาหกรรมและการแพทย์อย่างกว้างขวางต่อไป

Fact Sheet

     ชื่อโครงการ: การวิจัยแบบบูรณาการเพื่อค้นหาชุดของสารบ่งชี้ทางชีวภาพชนิดใหม่ ที่นำไปสู่การประยุกต์ใช้กับการตรวจวินิจฉัย การพยากรณ์ความรุนแรงของโรค และการรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกอย่างมีประสิทธิภาพ

หัวหน้าโครงการ: นพ.ปรีดา มาลาสิทธิ์ สังกัดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และกลุ่มวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช.

     โรคไข้เลือดออก เป็นปัญหาที่สำคัญทางสาธารณสุขของประเทศในเขตร้อนชื้น รวมทั้งประเทศไทย มีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกเป็นจำนวนมากในทุกปี ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกที่มีการพัฒนาก้าวหน้าที่สุดยังไม่สามารถป้องกันโรคได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากความซับซ้อนของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและความหลากหลายของเชื้อไวรัส ในปัจจุบันถึงแม้จะมีเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออก แต่ปัญหาใหญ่ที่สำคัญสำหรับแพทย์ผู้รักษาคือการขาดเทคโนโลยีที่สามารถแยกแยะผู้ป่วยที่ติดเชื้อ แต่มีอาการไม่รุนแรงออกจากกลุ่มผู้ป่วยที่จะเกิดอาการรุนแรงของโรค ซึ่งกลุ่มหลังนี้ถ้าได้รับการรักษาดูแลอย่างใกล้ชิดและทันท่วงทีจะป้องกันการเสียชีวิตได้ ความรู้และเทคโนโลยีดังกล่าวจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อให้เข้าใจถึงกลไกการเกิดโรคในคนไข้ที่มีอาการของโรคที่มีความรุนแรงต่างกัน โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อค้นหาตัวบ่งชี้ที่จะนำไปพัฒนาเป็นชุดตรวจวินิจฉัยที่มีความแม่นยำและสามารถบอกความรุนแรงของโรคได้

    นพ.ปรีดา มาลาสิทธิ์ หัวหน้าทีม ร่วมกับทีมนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช. ทำงานวิจัยเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกและไวรัสเด็งกี่เพื่อเข้าใจกลไกการเกิดโรค ร่วมกับการสร้างเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันทั้งงานวิจัยพื้นฐานและการดูแลผู้ป่วย อย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี

    โดยโครงการวิจัยทุนแกนนำนี้เป็นการทำงานร่วมกันของทีมวิจัยทั้งภายในและนอกประเทศ รวมถึงภาคเอกชน ในการศึกษามุ่งเป้าเพื่อทำความเข้าใจกลไกและปัจจัยที่ส่งผลกับการเกิดโรคไข้เลือดออก ที่เกิดจากโปรตีนของไวรัสชื่อเอ็นเอสวัน (NS1) ซึ่งเชื่อว่ามีบทบาทในการเกิดความรุนแรงของโรค เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยวินิจฉัยและบ่งชี้ความรุนแรงของโรคได้

Fact Sheet

ชื่อโครงการ: โครงสร้างควอนตัมนาโนกลุ่มแอนติโมนีสำหรับการพัฒนาตัวตรวจจับแสงอินฟราเรด

หัวหน้าโครงการ: ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญญาแก้ว สังกัด คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

     ผู้วิจัยได้บุกเบิกจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยสิ่งประดิษฐ์สารกึ่งตัวนำ ที่ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 1975 เป็นผู้ริเริ่มร่วมบุกเบิกเกี่ยวกับการวิจัยด้านเซลล์แสงอาทิตย์ เป็นเวลากว่า 30 ปี และเป็นผู้ริเริ่มงานด้านนาโนอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย โดยได้ศึกษาถึงโครงสร้างควอนตัมดอต ซึ่งสามารถนำมาใช้ในสิ่งประดิษฐ์ที่มีสมรรถนะสูง ทำงานได้ด้วยความเร็วสูง แต่ใช้พลังงานน้อย ในงานวิจัยเบื้องต้นพบว่า โครงสร้างควอนตัมนาโนของสารกึ่งตัวนำอินเดียมแอนติโมไนด์มีรูปร่างเป็นแถบยาวในสเกลนาโนเมตร จึงมีศักยภาพในการประยุกต์เป็นอุปกรณ์วัดสนามแม่เหล็กค่าน้อยมากๆ ได้ อาจจะนำมาใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์เกี่ยวกับศึกษากลไกการทำงานของสมองมนุษย์  

    งานวิจัยนี้เป็นงานบุกเบิกวิทยาการใหม่ๆ ในด้านวิศวกรรมนาโนด้วยเครื่อง Molecular Beam Epitaxy (MBE) ที่สามารถเตรียมโครงสร้างควอนตัมนาโนในระดับชั้นอะตอมได้ โครงสร้างควอนตัมนาโนของสารประกอบกึ่งตัวนำในกลุ่มแอนติโมไนด์มีคุณสมบัติพิเศษในการตอบสนองต่อแสงอินฟราเรดในย่านที่ตาปกติมองไม่เห็น จึงใช้ประโยชน์ได้ในด้านการทหาร-มองเห็นศัตรูในที่มืด ด้านความมั่นคง-ป้องกันการลักลอบเข้าเมือง/ค้ายาเสพติด/ก่อการร้าย ด้านการแพทย์-ใช้สแกนคนมีไข้สูงที่สนามบินในช่วงวิกฤตโรคติดต่อรุนแรง โครงสร้างควอนตัมนาโนนี้ยังมีประโยชน์ในด้านนาโนอิเล็กทรอนิกส์ เพราะนอกจากเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กจิ๋วแล้ว ยังทำงานได้รวดเร็ว กินไฟฟ้าต่ำ ใช้เป็นหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง

    ผลที่คาดว่าจะได้รับ: ข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับโครงสร้างควอนตัมนาโนของสารประกอบกึ่งตัวนำกลุ่มแอนติโมนีที่ได้รับ จะเป็นความรู้ใหม่ระดับแนวหน้าในวารสารวิชาการนานาชาติได้ และเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาตัวตรวจจับแสงอินฟราเรด ซึ่งในโครงการวิจัยนี้ จะพัฒนาต้นแบบตัวตรวจจับแสงอินฟราเรดซึ่งมีสมรรถนะสูงเพื่อการประยุกต์ด้านเซนเซอร์ และจะผลิตในระดับนําร่องเพื่อเชื่อมโยงสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไป เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการทหาร การแพทย์ การตรวจสอบสภาวะแวดล้อม และอุตสาหกรรม การพัฒนาและวิจัยของโครงการมีความสำคัญต่อการยืนบนขาตัวเองของเทคโนโลยีด้านนาโน  ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรในระดับสูงให้กับประเทศ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!